เมแทบอลิกซินโดรม ลงพุงรอบเอวหนาเสี่ยงโรคร้าย

3 นาทีในการอ่าน
เมแทบอลิกซินโดรม ลงพุงรอบเอวหนาเสี่ยงโรคร้าย

แชร์

ปัญหาอ้วนลงพุง รอบเอวที่มากเกินไป ตลอดจนระบบเผาผลาญไม่ดีดังเดิม ทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะเมแทบอลิกซินโดรมที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และอัมพาต (Stroke) เป็นต้น ดังนั้นการรู้เท่าทันสาเหตุ หมั่นสังเกตความผิดปกติ และดูแลใส่ใจร่างกายอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเมแทบอลิกซินโดรม

 

รู้ให้ทันเมแทบอลิกซินโดรม

ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งต่อมาภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ  เกิดหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ในที่สุด ซึ่งภาวะเมแทบอลิกซินโดรมนี้มักพบในผู้ป่วยที่ไขมันในช่องท้องมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า อ้วนลงพุง (Central Obesity) ซึ่งไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ความสมดุลของฮอร์โมนที่ผิดปกติ รวมถึงการออกฤทธิ์ของอินซูลินทำได้ไม่ดี (Insulin Resistance) ทำให้เกิดเบาหวานและอาการต่าง ๆ ดังกล่าว

 

ต้นเหตุของโรค

สาเหตุหลักของภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ได้แก่

  1. โรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง นำไปสู่ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีในเลือดต่ำ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด
  2. ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทั้งจากพันธุกรรมและสาเหตุภายนอก เช่น ความอ้วน อายุที่เพิ่มขึ้น ยาบางชนิด โดยคนที่อ้วนลงพุงจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนที่อ้วนบริเวณสะโพก

 

image

การตรวจวินิจฉัย

เกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) มีอยู่หลายเกณฑ์ด้วยกัน ในที่นี้ขอใช้เกณฑ์ของ The National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III (NCEP ATP III) (2005) เพื่อให้ง่ายต่อการประเมินวินิจฉัยภาวะเมแทบอลิกซินโดรมและการประเมินเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้สำหรับคนเอเชียที่มักมีสัดส่วนไขมันเยอะกว่าสัดส่วนกล้ามเนื้อ โดยต้องมีความผิดปกติ 3 ใน 5 ข้อ ได้แก่

  1. ความยาวรอบเอว ชาย ≥ 36 นิ้ว = 90 เซนติเมตร และหญิง ≥ 32 นิ้ว = 80 เซนติเมตร
  2. ระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร ≥ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  3. ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ≥ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  4. ระดับ HDL คอเลสเตอรอล < 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และ < 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
  5. ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือได้รับยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง

 

image

รักษาเมแทบอลิกซินโดรม

สิ่งสำคัญในการรักษาภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ การแก้ปัญหาโรคอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลินไปพร้อมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ได้แก่

  • ควบคุมปริมาณและชนิดอาหารที่ทานให้เหมาะสม เน้นทานโปรตีนเป็นหลัก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เน้นแอโรบิก คาร์ดิโอ ออกกำลังกายไอโซโทนิก เช่น ยกน้ำหนัก
  • การผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนและลดน้ำหนักไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) เพื่อลดความอ้วน ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักลงได้และยังช่วยให้การควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดดีขึ้นด้วย โดยผู้ป่วยบางส่วนสามารถหายขาดจากโรคเหล่านี้ได้ ปัจจุบันจึงได้นำการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักมาใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ซึ่งได้ผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์เฉพาะทางที่ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด ได้แก่

1) การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ Laparoscopic Sleeve Gastrectomy เป็นการผ่าตัดปรับรูปร่างของกระเพาะให้มีความจุเหลือ 150 ซีซี โดยตัดกระเพาะและส่วนที่ผลิตฮอร์โมนกระตุ้นความหิวออกประมาณ 80% โดยใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้องบริเวณหน้าท้อง โดยเปิดแผลเล็กขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อลดน้ำหนักโดยตรง

 

2) การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะและทำบายพาส Laparoscopic Gastric Bypass การผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงเป็นรูปกระเปาะ มีความจุ 30 ซีซี จากนั้นตัดแยกลำไส้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาต่อกับกระเพาะเพื่อบายพาสอาหารความยาว 100 – 150 เซนติเมตร การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักดังกล่าวทำให้ผู้ได้รับการรักษาสามารถควบคุมการรับประทานอาหาร ทั้งปริมาณและความอยากได้ดีขึ้น เนื่องจากได้ตัดฮอร์โมนกระตุ้นความหิวออกไปบางส่วนแล้วยังส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สารอาหารที่ทานเข้าไปดูดซึมได้น้อยลงและปริมาณการทานอาหารได้น้อยลงด้วย

 

ภาวะเมแทบอลิกซินโดรมไม่จำเป็นจะต้องพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วนเสมอไป ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันในเลือดสูง มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทั้งสิ้น แต่ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ซึ่งจะวัดจากน้ำหนักและค่าดัชนีมวลกายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุงมีความเสี่ยงมากกว่า นอกจากนี้การรักษาจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนัก รวมถึงการทานยาก่อน หากไม่เป็นผลแพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมักได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคอ้วนร่วมด้วย เพราะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง มีรูปร่างที่เหมาะสม ห่างไกลจากโรคเรื้อรัง


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์