อย่ามองข้ามภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัย

2 นาทีในการอ่าน
อย่ามองข้ามภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัย

แชร์

ภาวะขาดสารอาหารเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผลสำรวจในประเทศที่พัฒนาแล้วพบภาวะขาดโปรตีนและพลังงานในผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 15 นอกจากนี้ภาวะขาดสารอาหารส่งผลให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง มีโรคกระดูกพรุน ทำให้กระดูกหักหลังจากการหกล้ม ภูมิคุ้มกันบกพร่องนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย แผลหายช้า ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น คุณภาพชีวิตลดลง อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

 

ตัวบอกภาวะขาดสารอาหาร

หลักฐานที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดสารอาหาร ได้แก่

  • ผู้สูงอายุมีน้ำหนักตัวลดลงจากเดิมร้อยละ 5 หรือมากกว่าในช่วง 6 เดือน
  • ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำกว่า 3.5 กรัมต่อเดซิลิตร
  • ดัชนีมวลกาย (ฺBody Mass Index: BMI) ต่ำกว่า 18.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

 

ปัจจัยเสี่ยงขาดสารอาหาร

  1. การได้รับสารอาหารอย่างไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารซ้ำ ๆ ไม่หลากหลาย มีปัญหาการบดเคี้ยว ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการประกอบอาหาร หรือผู้ที่ขาดองค์ความรู้ในการบริโภคอาหารที่หลากหลาย

  2. การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ความสามารถในการแยกกลิ่นและรสอาหารลดลง การได้รับยาบางชนิด มีโรคเรื้อรัง ทำให้ไม่อยากทานอาหาร

 

ป้องกันรักษาภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัย

การป้องกันและรักษาภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดย

  1. ซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุ และแก้ไขไปตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น การให้ยาต้านเศร้าในกรณีเป็นโรคซึมเศร้า การรักษาช่องปากจัดหาฟันเทียมเพื่อช่วยการบดเคี้ยวอาหาร การพิจารณาหยุดยาที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร การให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง แนะนำปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว

  2. การให้อาหารเสริมสูตรสำเร็จรูปทางการแพทย์ เนื่องจากมีสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่านมทั่วไป ปัจจุบันมีทั้งชนิดน้ำและชนิดผงนำมาผสมน้ำ และแยกสูตรตามโรคของผู้ป่วย เช่น สูตรปกติ สูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน สูตรสำหรับผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเองหรือให้ทางสายสวนกระเพาะอาหารในกรณีไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง ผลการศึกษาการให้อาหารเสริมสูตรสำเร็จรูปทางการแพทย์ในผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากความเจ็บป่วยเฉียบพลัน พบว่า ให้ผลดีในด้านการป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวลดลง ทำให้กล้ามเนื้อมีกำลังบีบตัวเพิ่มขึ้น (Hand – Grip Strength) และทำให้รับประทานอาหารปกติได้เพิ่มขึ้นด้วย กรณีให้ในผู้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลเนื่องจากกระดูกสะโพกหัก สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตได้


เพราะภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัยส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หากพบความผิดปกติหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์
ชั้น 1 อาคาร R
เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 - 15.00 น.

แชร์