ผ่าตัดปอดโดยการส่องกล้อง

2 นาทีในการอ่าน
ผ่าตัดปอดโดยการส่องกล้อง

แชร์

โรคปอดเป็นโรคที่พบบ่อย วินิจฉัยได้จากอาการ อาการแสดง การตรวจเลือด การตรวจเสมหะ และการตรวจทางรังสีทรวงอก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอกซเรย์ธรรมดาก็พอบอกสาเหตุของโรคและให้การรักษาได้แล้ว แต่บางครั้งแพทย์ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็จะทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computer Scan หรือ CT Scan) หรือตรวจสมรรถภาพปอด ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน การตัดชิ้นเนื้อจะใช้การส่องกล้อง ที่เรียกว่า Bronchoscopy ส่วนในกรณีที่โรคอยู่ในเนื้อปอดจะต้องผ่าตัดเปิดทรวงอก ที่เรียกว่า Thoracotomy เพื่อนำเอาชิ้นเนื้อออกมา

ในระยะหลังที่การแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น การใช้เข็มเจาะเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจ (Needle Aspiration หรือ Biopsy) ทำกันมากขึ้น มักทำในรายที่เป็นก้อนเนื้อ ถ้าก้อนมีขนาดเล็กก็ใช้อัลตราซาวนด์หรือ CT-Scan ช่วยดูแนวทางของเข็ม ทำให้เจาะตรงก้อนเนื้อและได้ผลมากขึ้น ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้ตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ โดยเจาะรูที่ผนังทรวงอก และส่องกล้องเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออกมาที่เรียกว่า Thoracoscopy เช่นเดียวกับการรักษาโรคปอด ส่วนใหญ่ก็เป็นการรักษาทางยา มีส่วนน้อยที่ต้องใช้การผ่าตัด ส่วนใหญ่มักเป็นก้อนเนื้อโดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งสมัยก่อน ต้องเปิดทรวงอก เพื่อตัดก้อนเนื้อออกมา นอกนั้นมีการผ่าตัดเอาถุงลมที่ โป่งออก (Bleb หรือ Bullous) หรือเย็บถุงลมที่แตก ลมรั่วเข้าไปในช่องบุเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax)

รู้จัก THORACOTOMY

Thoracotomy คือ การผ่าตัดเปิดลงไปในช่องทรวงอก ซึ่งอวัยวะมีทั้งปอด หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ อีก การเปิดทรวงอกในการผ่าตัด Thoracotomy นั้นมักทำ 2 วิธี คือ เข้าบริเวณแนวกลาง (Median Sternotomy) และเข้าทางด้านข้าง (Lateral Approach)

การตัดปอด (Lung Resection) ก่อนอื่นควรทราบเรื่องกายวิภาคศาสตร์ของปอด เมื่อหลอดลมใหญ่แยกเข้าไปในปอดซ้ายและขวาก็จะแบ่งตัวไปเลี้ยงปอดกลีบต่าง (Lobar Bronchus) โดยที่ปอดนอกจากแบ่งเป็นข้างขวาและข้างซ้ายแล้ว ปอดข้างขวายังแบ่งออกเป็น 3 กลีบ ข้างซ้ายมี 2 กลีบ จากนั้นหลอดลมที่เลี้ยงปอดแต่ละกลีบ ก็จะแบ่งตัวออกไปเลี้ยงปอดกลีบย่อยที่ทางการแพทย์เรียกว่า Segment ซึ่งมีข้างละ 10 Segment ปอดซ้ายทั้งกลีบบนและล่างมีกลีบละ 5 Segment ส่วนกลีบขวาโดยที่แบ่งเป็นสามกลีบ กลีบบนจึงมี 3 Segment กลีบกลางมี 2 Segment และกลีบล่างมี 5 Segment

การตัดปอดนั้นจะตัดออกมากน้อยแค่ไหนแล้วแต่แพทย์จะพิจารณา ถ้าตัดปอดออกทั้งข้าง เช่น ข้างขวาหรือข้างซ้ายก็ตาม เรียก Pneumonectomy ตัวที่บ่งว่าจะตัดปอดออกแค่ไหนนั้นนอกจากขนาดของก้อนที่ต้องเอาออก และลักษณะของเซลล์ว่าร้ายแค่ไหนไปที่ไหนในปอดแล้วยังแล้ว ตัวสำคัญอีกอย่างก็คือ ตำแหน่งก้อนกับหลอดลม ถ้าไม่สัมพันธ์กับหลอดลม ก้อนมีขนาดเล็กอาจทำ Wedge Resection หรือตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ถ้าก้อนนั้นอยู่ที่หลอดลมลมของปอดกลีบย่อยก็ต้องทำ Segmental Resection ถ้าก้อนอยู่ที่หลอดลมของกลีบปอดก็ต้องทำ Lobectomy แต่ถ้ากินถึงหลอดลมใหญ่ซ้ายหรือขวาก็ต้องทำ Pneumonectomy


การผ่าตัดปอดโดยการส่องกล้อง

การผ่าตัดปอดโดยการส่องกล้อง เรียกว่า Video Assisted Thoracic Surgery (VATS) ซึ่งเริ่มทำกันมากขึ้น ในปัจจุบันการผ่าตัดนี้ใช้แทนการผ่าตัด Thoracotomy ซึ่งใช้กันมาแต่เดิม ถ้าการผ่าตัดไม่ใหญ่เกิน Segmental Resection แต่คนที่ชำนาญอาจทำ Lobectomy ได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับ Thoracotomy แล้ว นอกจากแผลผ่าตัดเล็กกว่า อันตรายน้อยกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า อยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า กลับไปทำงานได้เร็วกว่า อาการแทรกซ้อนใหญ่หลังผ่าตัดน้อยกว่ามาก คือ ไม่เกิน 5% แทนที่จะเป็นถึง 30% ในการทำ Thoracotomy ปัจจุบันการผ่าตัดวิธีนี้ได้ก้าวไปถึงการผ่าตัดทางเดินอาหาร กระดูกหลัง และหัวใจ 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคปอด และระบบทางเดินหายใจ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการทุกวัน 8.00-16.00 น.

แชร์