LOVE HORMONE รู้จักฮอร์โมนความรัก

2 นาทีในการอ่าน
LOVE HORMONE รู้จักฮอร์โมนความรัก

แชร์

คำว่าความรัก (LOVE) เป็นคำสั้น ๆ ที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน ทุกคนต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรักในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรักแฟน รักแรกพบ รักเค้าข้างเดียว รักเล่น ๆ รักจริงหวังแต่ง คำถามที่น่าสนใจคือ คำว่าความรักเป็นยังไงกันแน่ ทำไมบางคนที่เราชอบเวลาเจอแล้วใจสั่น ประหม่า พูดผิดพูดถูก หรือทำไมคู่แต่งงานหลายต่อหลายคู่ที่อยู่ด้วยกันมานานแต่ก็ยังรักกันหวานชื่น จริง ๆ แล้วมีความลับอะไรซ่อนอยู่ในคำว่า  “LOVE”

 

ในทางการแพทย์ได้มีความพยายามในการหาคำอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อเกิดความรักจนได้พบว่าในร่างกายมีฮอร์โมนหลายต่อหลายตัวทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นตอนของความรัก ไม่ว่าจะเป็น

  • อะดรีนาลีน (Adrenalin) ทำให้ใจเต้นเร็ว หน้าแดง
  • เทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ฮอร์โมนเพศที่ทำให้เกิดตัณหาและความอยาก
  • เซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้เกิดอารมณ์ซึม เศร้า เหงา
  • ออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนที่ถือเป็นพระเอกของความรักจนได้ชื่อว่า LOVE HORMONE เนื่องจากฮอร์โมนตัวอื่น ๆ ทำหน้าที่ในช่วงแรก ๆ ที่เรามีอาการเพ้อ ฝัน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ละเมอถึงคนที่เรารัก แต่ฮอร์โมนที่ทำให้เราเกิดความผูกพัน อยากอยู่ร่วมกับคนรัก และสร้างครอบครัวมาจากผลของออกซิโตซิน

ออกซิโตซิน ฮอร์โมนความรัก

ออกซิโตซิน (Oxytocin) คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง หน้าที่หลัก ๆ คือ ฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดสายใยผูกพันที่ยิ่งใหญ่ของแม่และลูก ความสำคัญของออกซิโตซิน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพันกับคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน การกอด สัมผัสมือ หรือการมีเซ็กส์จะทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เราจะรู้สึกผูกพัน รัก เข้าอกเข้าใจคู่ชีวิตมากขึ้น มีความรักเดียวใจเดียว ด้วยเหตุนี้ออกซิโตซิน จึงมีชื่อเล่นมากมายว่า LOVE HORMONE, HUG HORMONE หรือ TRUST HORMONE


ประโยชน์ของฮอร์โมนความรัก

การที่ร่างกายหลั่ง Love Hormone ออกมายังทำให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • ลดความเครียด
  • เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  • โรแมนติกมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับออกซิโตซินด้วย ได้แก่ เอนดอร์ฟิน (Endorphin) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข HAPPY HORMONE  โดยเอนดอร์ฟิน นั้นเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเช่นกัน และยังเป็นฮอร์โมนที่ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เหมือนฮอร์โมนชนิดอื่น ต้องให้ร่างกายสร้างและหลั่งสารนี้เอง เอนดอร์ฟินจะทำให้ร่างกายเกิดความสุข ความผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดอาการปวด ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเรามีความรัก จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้งฮอร์โมนออกซิโตซินและเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้เกิดความสุขนั่นเอง


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แชร์