ดูดไขมันเฉพาะส่วน กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ

3 นาทีในการอ่าน
ดูดไขมันเฉพาะส่วน  กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ

แชร์

การดูดไขมันเป็นวิธีกำจัดไขมันที่รวดเร็ว ช่วยแก้ปัญหารูปร่างให้เข้าที่ เสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจในการแต่งตัว แต่ไขมันในบางตำแหน่งไม่สามารถลดลงได้ จึงควรปรึกษาศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสม ลดความกังวลใจ ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ


รู้จักการดูดไขมัน

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อยาวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อดูดไขมันส่วนเกินออกมาจากบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ หน้าท้อง สะโพก ต้นขา ต้นแขน คอ ก้น เป็นต้น ทำให้ลดจำนวนไขมันบริเวณส่วนต่าง ๆ ที่สะสมเฉพาะที่ลงได้ แต่การดูดไขมันไม่สามารถแก้ปัญหาผิวเปลือกส้มจากเซลลูไลท์ได้ และสิ่งที่ต้องรู้คือการดูดไขมันไม่สามารถดูดปริมาณมาก ๆ ในครั้งเดียวกัน เพราะอาจมีความเสี่ยงในการเสียเลือดมาก ซึ่งศัลยแพทย์จะให้การรักษาและคำแนะนำอย่างใกล้ชิด


ดูดไขมันเหมาะกับใคร

  • ผู้ที่ไม่ได้อ้วนทั้งตัว
  • ผู้ที่ไม่ได้มีน้ำหนักเกินปกติมาก
  • ผู้ที่มีการสะสมของไขมันเฉพาะที่
  • ผู้ที่มีไขมันสะสมและลดลงไม่ได้ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร
  • ผู้ที่ผิวหนังยืดหยุ่นดี หลังจากดูดไขมันผิวจะเรียบสวยหย่อนน้อย

ผ่าตัดดูดไขมัน

ในการผ่าตัดดูดไขมันศัลยแพทย์จะทำเครื่องหมายบนร่างกายในตำแหน่งที่ต้องการดูดไขมันออก หลังจากนั้นจึงทำการเจาะรอยเล็กบริเวณผิวหนัง ขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร แล้วใส่ท่อเรียวยาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 มิลลิเมตรที่จะดูดไขมันเข้าไป ซึ่งท่อนี้จะต่อกับเครื่องปั๊มสุญญากาศหรือเครื่องอัลตราซาวนด์ โดยปริมาณไขมันที่ออกมาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณไขมันที่สะสม อาจจะเสียเลือดบ้างเล็กน้อย หลังผ่าตัดศัลยแพทย์จะใช้ผ้าพันหรือผ้ารัดบริเวณที่ดูดไขมัน


เครื่องมือดูดไขมัน

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการดูดไขมัน มี 2 แบบคือ

  1. เครื่อง VASER ใช้ Ultrasonic Energy สลายไขมัน
  2. เครื่อง Body Tite เครื่องมือที่ใช้ Radio Wave Energy เพื่อสลายไขมันแล้วจึงดูดไขมัน

ทั้งสองเครื่องนี้ดูดไขมันได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาท ช่วยกระชับผิว โดยศัลยแพทย์จะวางแผนและเลือกรูปแบบการรักษาที่เหมาะสม


ความเสี่ยงที่อาจพบ

  • ผิวไม่เรียบคล้ายเป็นคลื่น
  • ชาบริเวณแผลผ่าตัด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการนำไขมันออกปริมาณมากเกินไป
  • ปวดแผล สามารถทานยาแก้ปวดได้
  • ติดเชื้อหรือมีภาวะเลือดออกที่แผลผ่าตัด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว, การทานยา ฯลฯ

ดูดไขมันเฉพาะส่วน กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ
เตรียมตัวก่อนดูดไขมัน

1) แจ้งข้อมูลสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียด ได้แก่

  • ปัญหาสุขภาพ
  • โรคร้ายแรง / โรคประจำตัว
  • ประวัติการผ่าตัดและการได้ยาระงับความรู้สึก
  • ฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟัน
  • การแพ้ยา / แพ้อาหาร
  • อื่น ๆ

2) ในกรณีมีภาวะเสี่ยงหรือโรคประจำตัวจะมีการเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการผ่าตัดและวางยาสลบ ได้แก่

  • การเอกซเรย์
  • การตรวจเลือด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม

3) งดใช้ยา ยาบำรุง สมุนไพรบางชนิดที่อาจมีผลกับการผ่าตัด ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน และนำยาประจำตัวและยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่รับประทานมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งแพทย์ในวันผ่าตัด เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาแอสไพริน
  • วิตามินดี วิตามินซี วิตามินเอ
  • น้ำมันตับปลา
  • อื่น ๆ

4) ควรงดสูบบุหรี่ ก่อนการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ถ้าสูบบุหรี่จัดต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที และควรงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

5) หยุดดื่มสุรา ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และควรหยุดดื่มสุราหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

6) อาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาด

7) ห้ามทาเล็บ

8) ในกรณีดมยาสลบ งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการสูดสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปสู่ปอดระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก

9) เตรียมเสื้อหลวม เพื่อให้สวมสะดวกในวันผ่าตัดและไม่ถูกแผลขณะถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า

10) ถ้าเป็นผู้หญิง หลีกเลี่ยงช่วงมีประจำเดือน


ดูแลหลังดูดไขมัน

  1. หลังผ่าตัดภายใน 24 – 48 ชั่วโมง จะรู้สึกปวดแสบร้อน บวม และมีรอยเขียวช้ำที่ผิวหนังบริเวณผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวดและประคบเย็นหลังผ่าตัด รวมถึงใส่ชุดรัดรูปเพื่อการกระชับ (Pressure Garment)
  2. ประมาณ 1 เดือน ควรใช้ผ้ายืดพันรัดหรือชุดรัดรูปเพื่อการกระชับในบริเวณที่ทำการรักษา เพื่อช่วยกระชับกล้ามเนื้อและลดอาการบวม โดยอาการบวมจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน และผิวหนังบริเวณที่ดูดไขมันลักษณะเป็นลูกคลื่นจะยุบเข้าที่ประมาณ 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับการรักษาของแพทย์และคำแนะนำในการใช้ผ้ายืดพันรัดหรือชุดซัพพอร์ต
  3. ประมาณวันที่ 3 หลังผ่าตัด หากแผลแห้งดี ไม่มีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่แผล สามารถอาบน้ำได้ โดยต้องซับแผลให้แห้ง ทาแป้งได้ในบริเวณที่รู้สึกคัน แต่ห้ามทาที่บริเวณแผล
  4. แพทย์จะนัดตัดไหมเมื่อครบประมาณ 1 สัปดาห์ ห้ามทายาป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน แต่ใช้ถูนวดเบา ๆ ที่ฟกช้ำได้
  5. หลังการรักษา 1 เดือน ควรงดออกกำลังกาย
  6. ในระยะยาวจำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นรูปร่างจะกลับไปผิดสัดส่วนเช่นเดิม


อย่างไรก็ตามเมื่อดูดไขมันแล้วจะต้องออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อกระชับและควบคุมอาหารเพื่อรักษาผลลัพธ์ที่ได้ให้นานที่สุด นอกจากนี้สิ่งที่ต้องรู้คือ การดูดไขมันจะได้ผลดีในกรณีที่ไม่มีผิวหนังหย่อนคล้อย ถ้ามีผิวหนังหย่อนคล้อย เช่น ผนังหน้าท้องที่เคยตั้งครรภ์ ลดน้ำหนักมาแล้วหลายสิบกิโลกรัม จะต้องดูดไขมันร่วมกับการศัลยกรรมยกกระชับหน้าท้อง ซึ่งมีทั้งยกกระชับบางส่วน (Lipectomy) และยกกระชับทั้งหน้าท้อง (Tummy Tuck) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์