ตาขี้เกียจในเด็ก เช็กให้ดีก่อนลูกมองไม่เห็น

2 นาทีในการอ่าน
ตาขี้เกียจในเด็ก เช็กให้ดีก่อนลูกมองไม่เห็น

แชร์

เมื่อพูดถึงโรคตาขี้เกียจในเด็ก พ่อแม่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าร้ายแรงได้ถึงขนาดที่ลูกอาจสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต และปัจจุบันโรคตาขี้เกียจในเด็กพบมากถึง 3 – 5% เพราะฉะนั้นการพาเจ้าตัวน้อยไปตรวจเช็กสายตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์คือสิ่งสำคัญที่ไม่เพียงช่วยป้องกันความผิดปกติทางสายตา ยังสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาให้หายขาดได้

 

รู้จักตาขี้เกียจในเด็ก

ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้ไม่ดีเท่าอีกข้างหนึ่ง หรือข้างหนึ่งเห็นไม่ชัด อีกข้างหนึ่งเห็นชัดปกติ ซึ่งดวงตาข้างที่มองเห็นไม่ชัดเกิดจากการสูญเสียพัฒนาการการมองเห็น เรียกว่า ตาขี้เกียจ โดยปกติพัฒนาการการมองเห็นในเด็กจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึง 7 ขวบ หลังจากนั้นจะหยุดพัฒนา ดังนั้นถ้ารักษาไม่ทันปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป เจ้าตัวเล็กอาจสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว

 

สาเหตุของโรค

  1. สายตาไม่เท่ากัน เด็กที่มีสายตาผิดปกติไม่เท่ากัน เช่น สายตาสั้นของตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างหนึ่ง 0 อีกข้างหนึ่ง 300 หากไม่ได้สวมแว่นตาเด็กจะไม่รู้ว่าตาอีกข้างหนึ่งที่ไม่ได้สวมแว่นตามองเห็นไม่ชัด ดังนั้นพัฒนาการของดวงตาจึงไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นหากใส่แว่นตาสามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ถ้าไม่รู้ไม่ได้รักษาอาจเป็นตาขี้เกียจได้
  2. ตาเข ตาเหล่ โดยปกติมนุษย์มีดวงตาตรงและรวมภาพเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นหากตาเขหรือตาเหล่แสดงว่ากล้ามเนื้อตาผิดปกติ มีทั้งการเขเข้า เขออก เขขึ้น เขลง หากปล่อยไว้นานจะส่งผลต่อพัฒนาการการมองเห็น
  3. โรคอี่น ๆ ทางตาที่บดบังการมองเห็น เช่น ต้อกระจกในเด็ก แผลที่กระจกตาในเด็ก หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด ตาตกข้างเดียว ล้วนทำให้พัฒนาการการมองเห็นไม่ดี ไม่เกิดการพัฒนาและกลายเป็นตาขี้เกียจ



รักษาโรคตาขี้เกียจ

  • วัดการมองเห็นในเด็กเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจ
  • รักษาโดยปิดตาดีให้หยุดพัฒนา กระตุ้นตาข้างที่เสียให้พัฒนาทัน ระยะเวลาในการปิดตาขึ้นอยู่กับอายุเด็ก
  • เด็กสายตาสั้นต้องใส่แว่น
  • เด็กตาเขต้องผ่าตัดให้ตรง
  • ตรวจเช็กติดตามอาการต่อเนื่อง

" "

ป้องกันได้แค่ตรวจเช็ก

วิธีการป้องกันตาขี้เกียจในเด็กที่ดีที่สุดคือ การพาเจ้าตัวเล็กมาตรวจเช็กสายตากับจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และพามาตรวจเช็กเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่คุณแม่คลอดก่อนกำหนดจะต้องตรวจเช็กตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ เพื่อเช็กในเรื่องต้อกระจกและตาเข ตาเหล่ ส่วนในช่วง 3 – 5 ขวบ เมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียนและใช้สายตา หากมาตรวจเช็กแล้วพบว่าสายตาผิดปกติในช่วงนี้จะได้รักษาได้ทันท่วงที เช่น พบว่าสายตาสั้นจะได้ใส่แว่นสายตา เป็นต้น

 

โรคตาขี้เกียจในเด็กยิ่งรักษาเร็วเท่าไรยิ่งได้ผลดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองสงสัยควรพามาตรวจทันที โดยจักษุแพทย์จะมีเทคนิควิธีการตรวจตาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ พ่อแม่จึงไม่ต้องกังวลใจ สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งมาช้า ยิ่งรักษายาก หรือรักษาไม่ได้



สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์