กล่องเสียงอักเสบ อย่ารอให้เสียงหาย

4 นาทีในการอ่าน
กล่องเสียงอักเสบ อย่ารอให้เสียงหาย

แชร์

เมื่อเกิดอาการเสียงแหบ ไอ เจ็บคออาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดความผิดปกติกับกล่องเสียง ซึ่งหลายคนมักคิดว่าปล่อยไว้ก็คงหายได้เอง แต่ความจริงแล้วโรคกล่องเสียงอักเสบนั้นอาจเรื้อรังได้ถ้าไม่รีบรักษาให้หายขาด เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ

 

รู้จักกับกล่องเสียง

กล่องเสียงอยู่บริเวณด้านหน้าลำคอต่อจากคอหอยและติดอยู่กับส่วนต้นของหลอดลม อยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับรูเปิดของหลอดอาหาร ขณะที่หายใจเข้าอากาศจะเข้ามาทางรูจมูกทั้ง 2 ข้างไปยังด้านหลังของโพรงจมูกและวกลงด้านล่างไหลผ่านคอหอยไปยังกล่องเสียงและหลอดลมจนถึงปอด ดังนั้นในทางกลับกันเมื่อหายใจออก อากาศจากปอดจะไหลผ่านหลอดลม กล่องเสียง คอหอย และออกไปทางจมูก กล่องเสียงจึงมีความสำคัญกับการหายใจของมนุษย์

 

กล่องเสียงอักเสบ

กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อ อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย วัณโรค เป็นต้น รวมทั้งการใช้เสียงมากเกินไป ทั้งการตะโกน ตะเบ็ง พูดทั้งวัน ร้องเพลงติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาการจะรุนแรงขึ้นหากไม่รีบทำการรักษาอย่างถูกวิธี ใช้เสียงเยอะติดต่อกัน และเจอสิ่งกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ มลภาวะในอากาศ กลิ่นสารเคมี ก็ทำให้อาการที่เป็นอยู่หนักขึ้น หากกล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อมีโอกาสที่จะลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนอื่นได้ และหากรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะเส้นเสียงเป็นอัมพาต หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้เช่นกัน ดังนั้นการรีบเข้ารับการรักษาให้หายโดยเร็วคือสิ่งสำคัญ

 

อาการกล่องเสียงอักเสบ

กล่องเสียงอักเสบมีทั้งแบบเฉียบพลันที่หายได้ภายใน 3 สัปดาห์ และกล่องเสียงอักเสบแบบเรื้อรังที่มีเสียงแหบเป็นเวลานาน โดยอาการที่พบ ได้แก่

  • เสียงแหบ เสียงหาย
  • เจ็บคอ เจ็บขณะเปล่งเสียง
  • พูดไม่ชัด
  • ระคายเคืองในคอ
  • ไอหรือเสมหะร่วมด้วย
  • อาจมีไข้ต่ำ

 

ตรวจกล่องเสียง, กล่องเสียงอักเสบ, เสียงหาย

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจกล่องเสียงในปัจจุบันมีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่

1) ตรวจด้วยกระจกเงา ผู้ป่วยนั่งยื่นหน้าไปข้างหน้าและโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย อ้าปากและแลบลิ้น แพทย์จะดึงลิ้นผู้ป่วยไปด้านหน้าและใช้กระจกเงาขนาดเล็กที่ใช้สำหรับตรวจกล่องเสียงโดยเฉพาะสอดเข้าทางช่องปากของผู้ป่วยไปยังบริเวณคอหอยและลิ้นไก่ ทำให้เห็นภาพอวัยวะภายในกล่องเสียงที่สะท้อนเข้าไปที่กระจกเงา การตรวจแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชา 

2) ตรวจด้วยการส่องกล้อง จะใช้ยาชาเฉพาะที่พ่นเข้าไปบริเวณลำคอ จากนั้นรอประมาณ 1 – 2 นาที เมื่อผู้ป่วยมีอาการชา แพทย์จะใช้เครื่องมือเข้าไปตรวจ ซึ่งไม่เจ็บปวดและแสดงภาพผ่านทางจอโทรทัศน์ได้ชัดเจน โดยกล้องที่ใช้ในการส่องทางกล่องเสียงมี 2 ประเภท ได้แก่ 

  • กล้องแบบแข็ง (Rigid Endoscope) ตัวกล้องเป็นแท่งโลหะตรง ผู้ป่วยจะนั่งโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย อ้าปาก และแลบลิ้นเพื่อให้ภายในคอหอยกว้างและตรวจได้ง่ายขึ้น เวลาส่องกล้องจะถูกสอดผ่านเข้าทางช่องปากไปยังลิ้นไก่ในคอหอย จากนั้นถ่ายภาพกล่องเสียงที่อยู่ต่ำกว่าคอหอยมาแสดงทางจอโทรทัศน์ 
  • กล้องแบบอ่อน (Fiber Optic Laryngoscope) ตัวกล้องประกอบด้วยเส้นใยพิเศษที่เรียกว่าสาย Fiber Optic สามารถโค้งงอได้ ผู้ป่วยจะนั่งตัวตรง โน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อไม่ต้องอ้าปากและแลบลิ้นแต่อย่างใด กล้องจะสอดเข้าทางรูจมูกผ่านโพรงจมูกลงไปในคอหอยเพื่อถ่ายภาพกล่องเสียงที่อยู่ลึกลงไปในคอหอย จึงได้รายละเอียดอวัยวะภายในโพรงจมูกมาด้วย 

3) ตรวจกล่องเสียงด้วยอุปกรณ์พิเศษ ที่เรียกว่า Stroboscope เป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับการส่องกล้องเข้าไปตรวจกล่องเสียงของผู้ป่วย โดยตัวกล้องจะเชื่อมเข้ากับ Stroboscope เมื่อมีการถ่ายภาพภายในกล่องเสียง ภาพจะถูกนำมาประมวลภายในเครื่อง Stroboscope แสดงให้เห็นภาพทางจอโทรทัศน์ โดยสามารถแสดงให้ดูได้ทั้งภาพเคลื่อนไหวแบบปกติและแบบช้ากว่าปกติ (Slow Motion) ทำให้แพทย์ตรวจเช็กความผิดปกติได้ง่ายและชัดเจนขึ้น เช่น ภาวะการอักเสบ, เนื้องอก, ถุงน้ำ, มะเร็ง, แผลต่าง ๆ, การทำงานของสายเสียง, ภาวะอัมพาตของสายเสียง, ภาวะกรดไหลย้อน, ภาวะเลือดออกหรือบวมช้ำของสายเสียง, กล้ามเนื้อของสายเสียงลีบฝ่อ เป็นต้น อีกทั้งสามารถนำภาพมาเปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษา เช่น ก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้อีกด้วย ซึ่งการตรวจด้วย Stroboscope จำเป็นจะต้องมีการออกเสียงร่วมด้วย จึงไม่สามารถตรวจได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถออกเสียงได้ เช่น หอบเหนื่อย ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

 

รักษากล่องเสียงอักเสบ

การรักษากล่องเสียงอักเสบจะต้องอาศัยทั้งการรับประทานยาแก้อักเสบตามที่แพทย์สั่งและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กัน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (เป็นอย่างน้อย) จึงหายจากโรค ซึ่งพฤติกรรมที่ควรทำ ได้แก่ พักการใช้เสียง พูดให้น้อย ไม่ตะโกน อยู่ในสถานที่ที่รักษาความสะอาด เลี่ยงควันต่าง ๆ และมลภาวะในอากาศ เลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควรดื่มน้ำอุ่น ซึ่งการที่ผู้ป่วยเจอสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่มีผลต่อกล่องเสียงจะทำให้โรคนี้หายช้าขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญถ้ากล่องเสียงอักเสบนานอาจทำให้เป็นกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังและมีโรคต่าง ๆ ตามมา อาทิ เนื้องอกที่เส้นเสียงที่หากเป็นรุนแรงอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นต้น

 

ป้องกันกล่องเสียงอักเสบ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมงต่อคืน
  • ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2 ลิตร) เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรเป็นน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • เลี่ยงมลภาวะในอากาศ เช่น ฝุ่น ควัน สารพิษต่าง ๆ
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคทางเดินหายใจติดเชื้อ
  • ฝึกการออกเสียงพูดหรือร้องเพลงที่ถูกวิธี ไม่ตะเบ็งเสียง หากฝึกเป็นประจำช่วยให้กล้ามเนื้อเส้นเสียงแข็งแรง
  • เลี่ยงการขากเสมหะ เพราะอาจทำให้เส้นเสียงสั่นผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการบวมและอักเสบตามมาได้
  • เมื่อไม่สบายควรรีบรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยให้หายเอง เพราะถ้าหวัดหายช้า เสียงจะยิ่งแหบง่ายขึ้น
  • ไม่ใช้เสียงมากขณะที่เสียงกำลังแหบ ทางเดินหายใจมีการอักเสบและติดเชื้อ มีภาวะกล่องเสียงอักเสบ

 

กล่องเสียงอักเสบเป็นโรคที่ต้องรีบเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเรื้อรังลุกลามเป็นโรคอื่น ๆ ด้วย 

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์