ความก้าวหน้าในการผ่าตัดแผลเล็ก

3 นาทีในการอ่าน
ความก้าวหน้าในการผ่าตัดแผลเล็ก

แชร์

ปัจจุบันการพัฒนาเทคนิคและคุณภาพของกล้อง ทำให้การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องข้อมีความสำเร็จสูงขึ้นมากกว่าในอดีต โดยพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 4 ล้านคนต่อปีทั่วโลกที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องในข้อเข่า

 

ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องข้อเข่า หรือที่เรียกว่าการ “ส่องกล้อง” เป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่บาดเจ็บน้อย (Minimal Invasive Surgery) คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเข้าไปในข้อเข่า เพื่อสำรวจหาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและสามารถรักษาไปพร้อมกัน ในการผ่าตัดส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะสอดกล้องผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กประมาณ 4 มิลลิเมตรเข้าไปในข้อเข่า ภาพที่ได้จะถูกส่งขึ้นจอภาพที่อยู่ในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นในซอกหลืบเล็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้แม้ในการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ เมื่อแพทย์พบพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในข้อเข่าของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะทำการรักษาไปพร้อมกัน โดยการสอดเครื่องมือเข้าไปในข้อเข่าผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กรอบ ๆ เข่า

 

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

  • ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด อาจมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่าผู้ป่วยแข็งแรงเพียงพอสำหรับการผ่าตัดหรือไม่
  • ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งอาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และประวัติแพ้ยา
  • ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • การวางยาสลบระหว่างการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า วิสัญญีแพทย์จะคุยกับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เพื่ออธิบายการวางยาที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการฉีดยาชาเข้าในช่องไขสันหลัง หรืออาจเป็นการวางยาสลบในผู้ป่วยบางราย
  • การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าผู้ป่วยจะต้องนอนในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ประมาณ 1 – 2 วัน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้หลังการผ่าตัด โดยไม่ต้องนอนในโรงพยาบาลถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก
  • หลังผ่าตัดข้อเข่าจะถูกพันด้วยสำลีและผ้ายืดรัดเข่า (Compressive Dressing)

 

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

  • ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าเพื่อตัดหมอนรองเข่าหรือเพื่อเย็บซ่อมหมอนรองเข่า (Partial Menisectomy or Meniscal Repair)
  • การสร้างเสริมเส้นเอ็นคู่ไขว้หน้า / ไขว้หลัง (ACL, PCL Reconstruction)
  • การรักษากระดูกอ่อนผิวข้อแตกในข้อเข่า (Cartilage Injury)
  • การรักษาชิ้นส่วนของผิวข้อที่แตกและล่องลอยอยู่ในข้อเข่า (Remove Loose Body)
  • ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าเพื่อตัดเยื่อหุ้มข้อที่มีการอักเสบหรือน้ำชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิ (Synovectomy or Synovial Biopsy)
  • ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าเพื่อการวินิจฉัยโรคในข้อเข่าที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่นอน (Arthroscopic Diagnosis)

 

ดูแลหลังผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

  • การพักฟื้นหลังผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจะค่อนข้างรวดเร็วมากกว่าการผ่าตัดด้วยการเปิดแผลใหญ่ ผู้ป่วยควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดการบวมให้น้อยที่สุด ไม่ควรเดินมากเกินความจำเป็นในช่วงแรกหลังผ่าตัด และควรประคบเย็นรอบ ๆ เข่าทุก 4 – 6 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมและปวดภายหลังการผ่าตัด
  • แผลผ่าตัดจะถูกปิดไว้ แพทย์จะแนะนำการดูแลแผล และจะนัดผู้ป่วยมาดูแผลประมาณวันที่ 3 หลังผ่าตัดและตัดไหมในวันที่ 7 – 10 หลังผ่าตัด
  • การเดินหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่จะต้องใช้ไม้ค้ำยันในการช่วยเดินในช่วงแรกหลังผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยว่าสามารถลงน้ำหนักได้มากเพียงใดในขณะเดิน
  • ส่วนใหญ่สามารถอาบน้ำได้ เนื่องจากแพทย์จะปิดแผลด้วยอุปกรณ์กันน้ำ (Waterproof Bandage)

 

กายภาพหลังผ่าตัด

แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะสอนการบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า และวิธีการใช้ไม้ค้ำยันในการช่วยเดิน การฝึกงอ และเหยียดเข่าเพื่อไม่ให้ข้อเข่าติดยึด ซึ่งผู้ป่วยควรหมั่นทำตามเวลาในทุก ๆ วัน การทำกายภาพบำบัดจะช่วยให้ผลการผ่าตัดดี และฟื้นตัวเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรจะปฏิบัติโดยเคร่งครัด


ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่ามีอัตราเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย พบได้ไม่บ่อย และมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • การติดเชื้อ
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ภาวะเลือดออกในข้อเข่า
  • ข้อติด

ผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์ก่อนกำหนด ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้
  • ไข้ หนาวสั่น
  • อาการ บวม แดง ร้อนของข้อเข่าที่ผ่าตัดไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดที่ไม่ดีขึ้น
  • อาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อน่อง

 

ผลการรักษาผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าส่วนใหญ่ค่อนข้างดี แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการบาดเจ็บของข้อเข่าด้วยว่ารุนแรงมากน้อยระดับใด เช่น ในรายที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อที่แตกและสึกกร่อนมาก แต่แพทย์จะพยายามรักษาฟื้นฟูให้เข่ากลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นนักกีฬาอาชีพ


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์