โรคอ้วนระบาดทั่วโลก แพทย์แนะเทคนิคตัดกระเพาะลดขนาด

3 นาทีในการอ่าน
โรคอ้วนระบาดทั่วโลก แพทย์แนะเทคนิคตัดกระเพาะลดขนาด

แชร์

จากภาวะโรคอ้วนที่ระบาดไปทั่วโลก เป็นปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะการเกิดโรคแทรกซ้อนและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือด เกาต์ ข้อเข่าเสื่อม ไปจนถึงภาวะไขมันเกาะตับที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ 

สถานการณ์โรคอ้วนในคนไทยขณะนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของประชากร หรือราว ๆ 6 ล้านคน สาเหตุส่วนหนึ่งของการเป็นโรคอ้วนมาจากการรับประทานอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย กินอาหารที่มีไขมันสูงและขาดการออกกำลังกาย

แบบไหนเรียกโรคอ้วน 

เกณฑ์สำหรับผู้ที่เริ่มอ้วน คือ มีดัชนีมวลกายอยู่ประมาณ 25 – 30 น้ำหนักก็อาจจะอยู่ประมาณ 70 – 80 กิโลกรัม กลุ่มนี้ถือว่ายังไม่อ้วน แค่ท้วม ๆ แต่ต้องระวังเพราะมีแนวโน้มที่จะอ้วนได้ แพทย์มักแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกินอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วน กลุ่มนี้ถือว่ามีจำนวนมากที่สุด คือประมาณ 30% ของประชากร หรือประมาณ 20 ล้านคน กลุ่มนี้ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายได้ น้ำหนักก็จะค่อย ๆ ลดลง จนถึงขั้นไม่มีปัญหาอะไร

แต่จะบอกได้ว่า คนคนนั้นมีภาวะอ้วนหรือไม่ แพทย์จะพิจารณาดูจากหลายอย่าง เช่น เทียบโดยน้ำหนัก ถ้ามีน้ำหนักเกิน 80 – 90 กิโลกรัม มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) เกินกว่า 32.5 ขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อน กลุ่มนี้ถือว่าอ้วนและอาจจะเริ่มมีปัญหา ส่วนคนที่มีค่า BMI อยู่ที่ประมาณ 30 – 37.5 ถ้ายังไม่มีโรคแทรกซ้อน แพทย์จะให้คำแนะนำเหมือนกลุ่มแรก คือ ปรับการกิน การออกกำลังกาย ในบางรายอาจต้องใช้ยาที่มีผลไปบล็อกการดูดซึมของไขมันในลำไส้ช่วย แต่นั่นหมายความว่า คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ต้องหยุดกินของมัน ถ้ากินยาบล็อกไขมัน แต่ยังกินอาหารมันอยู่ก็เท่ากับไม่ได้ช่วยอะไรเลย

กลุ่มที่เป็นปัญหาจนถึงขั้นที่ต้องทำการรักษา โดยเฉพาะการผ่าตัดให้กระเพาะเล็กลง คือ กลุ่มที่มีค่า BMI 32.5 – 37.5 และมีโรคแทรกซ้อน กับกลุ่มที่ค่า BMI เกินกว่า 37.5 ขึ้นไป พวกนี้บางคนอาจมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ใช้วิธีการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้ระยะยาว ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

photo

การลดน้ำหนักด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ลดขนาดกระเพาะอาหาร เพื่อลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร โดยการผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร มี 3 วิธี ด้วยกัน คือ

1. การใส่หูรูดรัดกระเพาะ (Laparoscopic Gastric Banding)

เป็นการนำซิลิโคนรัดบริเวณส่วนต้นของกระเพาะอาหารให้มีขนาด 30 ซีซี เพื่อให้คนไข้รู้สึกอิ่มเร็วเนื่องมาจากขนาดของกระเพาะเล็กลง เมื่อทำไประยะหนึ่ง ไขมันที่ห่อหุ้มกระเพาะจะหายไป วิธีนี้อาจทำให้น้ำหนักลดลงประมาณ 60% ของน้ำหนักส่วนเกิน แม้จะเป็นวิธีที่ดีที่ไม่ต้องตัดกระเพาะออก แต่วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับคนไข้ที่อ้วนมาก ๆ โดยเฉพาะหากไม่มีวินัยในการรับประทานอาหารก็อาจจะกลับมาอ้วนได้อีก

2. การตัดกระเพาะแบบบายพาส (Laparoscopic REY Bypass Gastrectomy)

จะใช้วิธีการสอดกล้องและใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงเป็นกระเปาะและตัดลำไส้เล็กในลักษณะที่เรียกว่า บายพาส ประมาณ 150 เซนติเมตร นำมาต่อกับกระเปาะเพื่อเชื่อมกับกระเพาะอาหาร การผ่าตัดด้วยวิธีนี้คนไข้ต้องปรับวิธีการกินอาหาร โดยจะต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียดที่สุด เพราะอาหารจะไม่ผ่านการย่อยในกระเพาะ ซึ่งก็จะมีผลทำให้น้ำหนักลดลงได้

3. การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy – LSG)

เหมาะกับคนไข้ที่อ้วนมาก ๆ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ขึ้นไป มีโรคแทรกซ้อนมากกว่า 2 โรค วิธีนี้เป็นการผ่าตัด เพื่อนำกระเพาะออกไปประมาณ 80% รวมถึงส่วนที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว โดยตัดกระเพาะให้เป็นรูปท่อเรียวเหมือนกล้วยหอม มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มีความจุ 150 cc คนไข้จะทานอาหารได้น้อยลง วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักได้มากถึง 40 – 60% จากน้ำหนักตั้งต้น


การผ่าตัดทั้ง 3 แบบจะทำก็ต่อเมื่อคนไข้ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหาร ทานยา หรือออกกำลังกายได้แล้ว มีการสะสมไขมันร่างกายมาก จนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ มีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย มีรายงานทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักมีภาวะของไขมันสะสมทั้งบริเวณหน้าท้อง ตับอ่อน ซึ่งเราคงเคยได้ยินโรคไขมันเกาะตับมาแล้ว นอกจากนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ภาวะอ้วนมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในระบบนรีเวช เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก สูงกว่าคนที่ไม่อ้วน เพราะไขมันมีส่วนต่อการปรับระดับฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนผู้ชาย ภาวะอ้วน ทำให้เกิดปัญหาของโคนลิ้นไปขวางทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ


การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารไม่ได้ทำให้ผอมทันที อาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออก โดยที่เห็นผลทันที คือ การกินน้อยลง เมื่อกินน้อยลง ร่างกายก็จะไปเอาส่วนที่สะสมอยู่ออกมาใช้ ทำให้น้ำหนักค่อย ๆ ลดลงจนถึงเป้าหมายที่ต้องการลด

photo

ทั้งนี้ทั้งนั้นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเป็นวิธีการสุดท้ายในการรักษาโรคอ้วน และในระยะยาวการควบคุมการกินยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องไม่กินมากกว่าที่ร่างกายจะนำไปใช้ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอให้มีการเผาผลาญไขมันอยู่ตลอด โอกาสที่จะกลับมาอ้วนอีกก็จะน้อยลง


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์