โรคไตไม่ไกลตัว

6 นาทีในการอ่าน
โรคไตไม่ไกลตัว

แชร์

ไตเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ขับของเสียและรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพไตให้ห่างไกลจากความเสื่อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

รู้จักกับไต

ในร่างกายของคนเรามีไตอยู่ 2 ข้าง มีลักษณะรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ทำหน้าที่กรองน้ำ เกลือแร่ สารเคมี และของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ แล้วขับออกมาทางปัสสาวะ

หน้าที่ของไต

  • กำจัดของเสีย
  • ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
  • รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย และดูดซึมกลับในภาวะขาดน้ำ
  • รักษาสมดุลเกลือแร่ กรด ด่างของร่างกาย
  • ควบคุมความดันโลหิต การเป็นโรคไต ทำให้ความดันโลหิตสูงได้
  • ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็น
    • ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin)
    • ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการควบคุมความดันโลหิต (Renin-Angiotensin-Aldosterone System)
    • ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุลแคลเซียม (Vitamin D และ Parathyroid Hormone)

ปัจจัยเสี่ยงโรคไต

  • เบาหวาน 1 ใน 3 ของคนที่เป็นเบาหวานมักเป็นโรคไตด้วย โดยอาจตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ค่าการทำงานของไตลดลง
  • ความดันโลหิตสูง ในผู้ใหญ่ 1 ใน 5 คน จะมีปัญหาความดันโลหิตสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ซึ่งในไตเต็มไปด้วยหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตด้วย
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
  • โรคหลอดเลือดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจหรือสมอง
  • คนที่อายุมากกว่า 60 ปี อัตราการทำงานของไตลดลง
  • คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ถุงน้ำในไต
  • ผู้ป่วยที่มักมีโรคไตร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยโรค SLE โรคหลอดเลือดอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อไต

ประเภทโรคไต

โรคไต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
  1. ไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury, AKI)
    ภาวะที่การทำงานของไตลดลงอย่างรวดเร็ว มีค่าไตผิดปกติช่วงเวลาสั้น ๆ ในเวลาเป็นชั่วโมงหรือในไม่กี่วัน ส่งผลให้ไตไม่สามารถขับของเสียและบกพร่องหน้าที่ในการรักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรด ด่างในเลือด โดยมักจะดีขึ้นได้ในเวลาไม่นาน ถ้าได้รับการแก้ไขในเวลาอันรวดเร็ว
  2. ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD)
    ภาวะที่การทำงานของไตเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ทำลายเนื้อไตแบบค่อยเป็นค่อยไปนานเกินกว่า 3 เดือน โดยแบ่งระยะและระดับความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังออกเป็น 5 ระยะตามอัตราการกรองของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) ซึ่งคือปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที (มล./นาที/1.73 ตร.ม.)
    • ไตเรื้อรังระยะที่ 1 อัตราการกรองของไต (eGFR) ปกติมากกว่า 90 มล./นาที/1.73 ตร.ม.
    • ไตเรื้อรังระยะที่ 2 อัตราการกรองของไต (eGFR) 60 – 89 มล./นาที/1.73 ตร.ม.
    • ไตเรื้อรังระยะที่ 3 อัตราการกรองของไต (eGFR) 30 – 59 มล./นาที/1.73 ตร.ม.
    • ไตเรื้อรังระยะที่ 4 อัตราการกรองของไต (eGFR) 15 – 29 มล./นาที/1.73 ตร.ม.
    • ไตเรื้อรังระยะที่ 5 อัตราการกรองของไต (eGFR) น้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม.

โรคไตไม่ไกลตัว


สาเหตุการเกิดโรคไต

  1. โรคที่ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงไตลดลง เช่น เสียเลือดมาก หลอดเลือดที่เลี้ยงไตตีบ
  2. โรคที่เกิดความผิดปกติของไตโดยตรง เช่น
    • อักเสบจากการติดเชื้อ
    • อักเสบจากการไม่ติดเชื้อ
    • ได้รับสารพิษที่เป็นอันตรายกับไต เช่น สารพิษ หรือยา
    • ภาวะหลอดเลือดในไตอักเสบ
  3. โรคไตที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ความผิดปกติของท่อไต นิ่ว หรือเนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะ

อาการบอกโรคไต

  • อาการซึ่งเกิดจากการสะสมของของเสีย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คันตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยผิดปกติ เพราะความสามารถในการขับน้ำผิดปกติไป
  • ลักษณะปัสสาวะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีเลือดปน เป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่ว หรือมีนิ่วปนออกมา
  • ตาบวม ขาบวม อาจเกิดจากภาวะน้ำคั่งหรือเสียโปรตีนออกไปจนเกิดภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ
  • เหนื่อยง่าย เนื่องจากภาวะน้ำเกิน
  • ความดันโลหิตสูง
  • ตะคริว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะซีด ฯลฯ

ตรวจหาโรคไต

การตรวจหาโรคไตแพทย์จะตรวจหาสาเหตุเพื่อประเมินความรุนแรง ได้แก่
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับของเสียในเลือด ตรวจสมดุลเลือด กรด ด่าง อัตราการกรองของไต ฯลฯ
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) วัดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ (Urine Microalbumin to Creatinine Ratio)
  • ตรวจจากภาพถ่าย ได้แก่ เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์ (Ultrasound), CT Scan, MRI Scan
  • ตรวจชิ้นเนื้อ (Kidney Biopsy)
  • การตรวจพิเศษต่าง ๆ จำเพาะโรค (Special Tests)

ดูแลรักษาไต

แม้ว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคไตก็ควรมีการตรวจสุขภาพทั่วไปรวมถึงการทำงานของไตตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไต แต่หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคไต การดูแลรักษาไตสามารถทำได้โดย
1) รักษาตามสาเหตุ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถรักษาได้จะเลือกวิธีการดูแลรักษาจากความแข็งแรงของไต
2) ชะลอการเสื่อมของไต ได้แก่
  • ควบคุมความดันโลหิต แพทย์จะปรับยาเพื่อควบคุมความดันโลหิตในอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ซึ่งความดันโลหิตที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (น้ำตาลในเลือด<120 มก.เดซิลิตรหรือน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c <7%)
  • ควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโปรตีน ขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมของไต หากไตเสื่อมมากต้องจำกัดมาก โดยอาหารผู้ป่วยโรคไต แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
    • กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่ได้ฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง แพทย์มักแนะนำให้จำกัดโปรตีน รับประทานให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดยไม่มากจนเกินไป ในบางรายที่ระดับของเสียในเลือดสูง อาจแนะนำให้จำกัดโปรตีนร่วมกับรับประทานโปรตีนเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคไต
    • กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง กลุ่มนี้ต้องการโปรตีนมากกว่าปกติ เนื่องจากมีการสูญเสียโปรตีนออกไปมากขณะฟอกเลือดและล้างช่องท้อง
  • หลักการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคไต คือ จำกัดโปรตีนตามระยะของโรคเพื่อชะลอการเสื่อมของไต หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งเสริมให้เกิดภาวะความผิดปกติของเกลือแร่ เช่น ผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำด้านอาหารที่เหมาะสมจากแพทย์หรือนักโภชนากร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมมาก เช่น น้ำจิ้ม เพราะเผ็ดมักจะมากับเค็ม สำหรับผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำจำเป็นต้องอ่านฉลากอย่างระมัดระวัง เพราะสารให้ความเค็มที่นำมาใช้ทดแทนส่วนใหญ่คือ โพแทสเซียม ซึ่งในผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับโพแทสเซียมที่ผิดปกติมีผลโดยตรงต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ในผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่าใช้เกลือโพแทสเซียมแทนโซเดียมจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต
  • หยุดสูบบุหรี่ มีความสำคัญมาก เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มอัตราการเสียชีวิต โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาลูกกลอน และยาสมุนไพรที่ไม่ได้การรับรอง
  • ประเมินน้ำดื่มตามสภาวะน้ำในร่างกาย
  • พบแพทย์เป็นประจำ
3) การบำบัดทดแทนไต (Kidney Replacement Therapy; KRT) เมื่ออัตราการกรองของไตเหลือน้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม. ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอันเกิดจากมีน้ำหรือของเสียคั่ง แพทย์จะแนะนำการรักษาบำบัดทดแทนไต ซึ่งในปัจจุบัน มี 3 ทางเลือก ได้แก่
  1. การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการใส่น้ำยาฟอกเลือดผ่านท่อซิลิโคนขนาดเล็กซึ่งฝังผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปอยู่ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องเป็นระยะเวลาประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนตามความเข้มข้นของสารผ่านเยื่อบุช่องท้อง ของเสีย และน้ำส่วนเกินจะถูกขจัดออกมาอยู่ในน้ำยาซึ่งจะถูกถ่ายทิ้งไป และถูกแทนที่ด้วยน้ำยาใหม่ที่ปราศจากของเสียในรอบต่อไป ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ระหว่างรอบของการเปลี่ยนน้ำยา

    โรคไตไม่ไกลตัว

  2. การฟอกเลือด (Hemodialysis) เป็นกระบวนการนำเลือดมาทำให้สะอาดขึ้น ด้วยการกำจัดของเสียและปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผ่านเครื่องไตเทียม ปัจจุบันมีการพัฒนาการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมาเป็นการฟอกเลือดประสิทธิภาพสูง (Online Hemodiafiltration – OL HDF) เพื่อให้กำจัดของเสียได้ดียิ่งกว่าแบบเดิม

    โรคไตไม่ไกลตัว

  3. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นการบำบัดทดแทนไตในการรักษาไตวายเรื้อรัง โดยนำไตที่ยังทำงานได้ดีมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยไม่จำเป็นต้องนำไตเก่าออก นอกจากมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งไตที่ได้รับการปลูกถ่ายจะทำงานได้ใกล้เคียงกับไตปกติ ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

    โรคไตไม่ไกลตัว


ป้องกันโรคไต

  • เลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือมาก ในผู้ป่วยไตเรื้อรังควรปรับสัดส่วนโปรตีนให้เหมาะสมกับระยะของโรค
  • อาหารที่มีเกลือมาก ได้แก่ อาหารที่ผ่านการถนอมอาหาร เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ หมูตุ๋น บ๊วย มะม่วงดอง ฯลฯ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ใช้เกลือเพื่อถนอมอาหาร เกลือมีผลต่อการทำงานของไตทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไข่แดง กะทิ และน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
  • ดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิดภาวะอ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น แอโรบิก เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
  • หยุดสูบบุหรี่
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดและผ่อนคลายอารมณ์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


การป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและประเมินการทำงานของไตโดยเร็ว และหากตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำและรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ควรละเลยเนื่องจากโรคอาจมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้กลายเป็นไตเสื่อมถาวรได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคไต
ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์