ดูแลคนทุกวัยในครอบครัวให้ห่างไกลเบาหวาน

2 นาทีในการอ่าน
ดูแลคนทุกวัยในครอบครัวให้ห่างไกลเบาหวาน

แชร์

โรคเบาหวานไม่เพียงส่งผลกับคุณภาพชีวิต แต่ยังอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดเบาหวานคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในครอบครัว หากทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ดูแลใส่ใจกันอย่างถูกวิธี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อม ๆ กัน ย่อมช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคเบาหวานได้

 

เพราะสมาชิกในครอบครัวนั้นมีหลากหลายวัย ดังนั้นในแต่ละช่วงวัยการดูแลให้ห่างไกลเบาหวานจึงมีความแตกต่างกัน เพราะการรับรู้และพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 วัย ดังนี้

โรคเบาหวาน, วัยเด็ก,​วัยรุ่น, วัยผู้ใหญ่, วัยชรา

1) วัยเด็กถึงเด็กประถม

  • พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ระวังน้ำตาล แป้ง และไขมัน
  • เน้นให้ลูกดื่มน้ำเปล่าและนมรสจืดแทนน้ำหวานและน้ำอัดลม
  • สอนให้ลูกออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกกำลังกายกับลูกหลังเลิกเรียน
  • เด็กอายุมากกว่า 10 ปีที่มีภาวะอ้วนควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลและวินิจฉัยโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวาน, วัยเด็ก,​วัยรุ่น, วัยผู้ใหญ่, วัยชรา

2) วัยรุ่น

  • ปลูกฝังพฤติกรรมการกิน เน้นโปรตีน ผักและผลไม้ ลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน
  • ระวังน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
  • เน้นย้ำการออกกำลังกายเป็นประจำ สนับสนุนกีฬาที่ลูกสนใจ
  • หากลูกติดเกม ติดโซเชียล ชอบนอนดูทีวี ต้องแนะนำให้ลูกทำกิจกรรมและใช้เวลาให้เหมาะสม

 

โรคเบาหวาน, วัยเด็ก,​วัยรุ่น, วัยผู้ใหญ่, วัยชรา

3) วัยทำงาน

  • ควบคุมการทานอาหาร ระวังน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
  • ระวังปริมาณแป้งและน้ำตาลในแต่ละวัน
  • อย่าละเลยการออกกำลังกาย ควรทำให้ได้สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
  • ตรวจสุขภาพและตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำ
  • หากต้องการมีบุตรจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพราะผู้หญิงมีโอกาสเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพิ่มโอกาสการเป็นเบาหวานในอนาคตได้ ซึ่งต้องดูแลอย่างระมัดระวังมากกว่าผู้หญิงทั่วไป
  • ถ้ามีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น 50%
  • เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย

 

โรคเบาหวาน, วัยเด็ก,​วัยรุ่น, วัยผู้ใหญ่, วัยชรา

4) วัยสูงอายุ

  • ระวังการทานแป้งและน้ำตาล ควบคุมปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันอย่างเคร่งครัด
  • เน้นทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เพราะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นกีฬาที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ เช่น ยกเวท โยคะ เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำทุกปี
  • หากป่วยเป็นเบาหวานต้องดูแลตนเองและทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

 

เทคนิคง่าย ๆ ป้องกันเบาหวาน

  • บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวัน
  • เลือกทานผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิลเขียว เป็นต้น
  • ลดหรืองดชา กาแฟ น้ำอัดลม ขนมหวาน ทานได้สัปดาห์ละครั้ง
  • เลือกทานคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี กากใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
  • อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แน่นอนก่อนซื้อมาทาน
  • การแปรงฟันหรือบ้วนปากทันทีหลังอาหารช่วยลดความอยากของหวานหลังอาหารได้
  • ออกกำลังกายให้เป็นนิสัยในทุกช่วงวัย
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำ

 

เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ปี 2020 ที่ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน แพทย์หญิงรุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ อยากฝากถึงทุกครอบครัว “สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยเบาหวาน อยากให้ทุกคนในครอบครัวให้กำลังใจและดูแลอาหารผู้ป่วยเบาหวานอย่างระมัดระวัง ลดน้ำตาล ลดแป้ง ห้ามใจไม่ให้ทานให้ได้เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลกันและเป็นทีมเดียวกันทั้งครอบครัว ระวังปริมาณน้ำตาลในอาหารและชวนกันไปออกกำลังกาย ที่สำคัญตรวจเช็กเบาหวานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง”

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แชร์