บาดเจ็บบริเวณข้อต่อ อย่ารีรอรีบรักษา

3 นาทีในการอ่าน
บาดเจ็บบริเวณข้อต่อ อย่ารีรอรีบรักษา

แชร์

ข้อหรือข้อต่อ (Joints) ในทางกายวิภาคศาสตร์ หมายถึง บริเวณที่กระดูกตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไปมีการติดต่อกัน โดยที่มีกระดูกอ่อนหุ้มที่ปลายกระดูกและปกคลุมรอบตัวเยื่อบุข้อ ซึ่งทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อลื่นและยังช่วยห่อหุ้มให้แข็งแรงและมั่นคง ภายนอกข้อต่อที่สำคัญคือ เอ็นยึดข้อ หรือบางทีจะมีหมอนกระดูกอ่อนรองข้อ เช่น ข้อเข่า ทำให้กระดูกมีการทำงานร่วมกันเป็นระบบ เพื่อการค้ำจุนปกป้องร่างกายและการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม

 

บาดเจ็บข้อต่อ

การบาดเจ็บที่ข้อต่อมีดังนี้

  1. ข้อเคล็ด – ข้อแพลง มี 3 ระดับ คือ
    • ระดับที่ 1 มีการฉีกขาดของเอ็นเล็กน้อยหรือมีการยึดของเอ็นบริเวณข้อต่อนั้น กดเจ็บบริเวณที่มีการฉีกขาด แต่จะไม่บวมหรือบวมเล็กน้อย
    • ระดับที่ 2 จะมีความเจ็บปวด มีอาการเสียวที่ข้อต่อเล็กน้อย มีอาการกะเผลก ไม่สามารถเขย่งปลายเท้าได้ เวลาเดินจะมีอาการบวมเฉพาะที่ ถ้าใช้นิ้วกดจะปวดอย่างรุนแรง
    • ระดับที่ 3 มีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มข้อร่วมด้วยเสมอ ทำให้มีเลือดคั่งในข้อหรือซึมอยู่ใต้ผิวหนัง จะเห็นข้อเท้าหรือข้อต่อนั้นบวมอยู่ มักจะเกิดจากการพลิกอย่างรุนแรง
  2. ข้อเคลื่อน – ข้อหลุด พบได้บ่อยในกีฬาที่มีการปะทะ เช่น รักบี้ ฟุตบอล เกิดจากการที่หัวกระดูกหลุดออกจากเบ้า อาจหลุดออกเป็นบางส่วนหรือหลุดออกแบบสมบูรณ์ จะมีการฉีกขาดของเอ็นผังผืดและเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบข้อต่อ
  3. ข้อบวม เมื่อวิ่งหรือเล่นกีฬาและภายหลังการเล่นกีฬาแล้วมีอาการข้อบวมขึ้น ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ข้อเข่าอาจเกิดขึ้นในทันที เช่น จากอุบัติเหตุหรือเลือดออกภายในข้อหรือวิ่งมากเกินไป

img

รักษาที่ต้นเหตุ

อาการบาดเจ็บบริเวณข้อสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า และมักสร้างปัญหารุนแรง ใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือน

“สาเหตุการบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่อาจเป็นได้ตั้งแต่การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ เส้นเอ็นหัวไหล่ หรือกระดูกและข้อไหล่เอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการปะทะ การกระชากของไหล่ หรือการเหนี่ยวแขน หรือการล้มโดยใช้แขนเท้าพื้นหรือล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง การเหวี่ยงหรือขว้างบอลอย่างรุนแรง หรือการเอื้อมแขนอย่างมากก็สามารถทำให้เกิดการกระชากอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นหัวไหล่จนเกิดการบาดเจ็บได้ การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บของข้อไหล่”


ดูแลเมื่อเกิดการบาดเจ็บ

ถ้าบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น รับประทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ หากเป็นการบาดเจ็บของกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน (Arm Sling) เพื่อไม่ให้มีการขยับและส่งพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการรักษาเฉพาะต่อไป เช่น การดึงกระดูกและข้อให้เข้าที่ หรือผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นข้อไหล่ที่หลุดเคลื่อน

“หากข้อไหล่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาจเนื่องมาจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการผ่าตัด ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บที่หัวเข่าที่พบบ่อย คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มักเกิดจากการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการปะทะ เกิดการบิดของเข่า หรือเกิดการกระแทกแล้วเอ็นเข่าฉีกขาด”

ขณะที่การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะมักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง จนทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บแบบสะสม การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ คนไข้ควรนอนนิ่ง ๆ ก่อนอย่าเพิ่งพยายามขยับเองและควรรีบประคบเย็น

“หากปวดมากขยับไม่ได้ควรหาอุปกรณ์เพื่อดามหรือพันผ้ายึดให้แข็งแรง อย่ากด ดัน ดึงเองเพื่อให้ขาเข้าที่ ควรดามอยู่ลักษณะนั้นจนกว่าจะถึงมือแพทย์ จากสถิติกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่า ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไป แต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ”


เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก

เทคโนโลยีที่ศัลยแพทย์เลือกใช้คือ เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เพื่อรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก หมอนรองกระดูกเข่า ฯลฯ  เนื่องจากได้ผลการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี

“แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นตัวได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก หรือวันที่สองหลังผ่าตัด สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา แพทย์จะพยายามรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด”


ฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังผ่าตัด

การฟื้นฟูกล้ามเนื้อภายหลังผ่าตัดจะใช้เครื่องกายภาพบำบัด Alter G (Anti – Gravity Treadmill) เป็นลู่วิ่งในสภาวะไร้น้ำหนักเสมือนเดินอยู่ในลูกบอลลูน มีอุปกรณ์คล้ายถุงลมเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายถึง 80% ของน้ำหนักตัว ลดปัญหาการบาดเจ็บขณะเคลื่อนไหวและลงน้ำหนักขณะออกกำลังกายได้ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะลงน้ำหนัก ช่วยให้ขยับเดินได้เร็ว

Anti-gravity-Treadmill-Alter-G-ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง

การป้องกันการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อ คือ การวอร์มอัพ การยืดเส้นทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา หมั่นฝึกบริหารข้อไหล่ ข้อเข่าเพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อมีความแข็งแรง เพราะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้ 


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์