โรคไอบีเอสหรือลำไส้แปรปรวน (IBS)

3 นาทีในการอ่าน
โรคไอบีเอสหรือลำไส้แปรปรวน (IBS)

แชร์

รู้จักโรคลำไส้แปรปรวน

โรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด


สาเหตุของโรค

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จัดว่าเป็นโรคในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง หมายความถึงโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดหรือการตรวจเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาสาเหตุ ไม่พบว่ามีการอักเสบและไม่พบว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งแต่อย่างใด อาการต่าง ๆ ของโรคนี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้ จากหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่ง 3 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่

  1. การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

  2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก เป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น

  3. มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (Brain – Gut Axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

 

อาการบอกโรค 

ผู้ป่วยมักทรมานจากการปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น ส่วนใหญ่มักปวดที่ท้องน้อย ลักษณะปวดเกร็ง หลายคนสังเกตพบว่าอาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ อาการปวดท้องแต่ละครั้งรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย ร่วมกับการมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งสลับกัน โดยแต่ละรายจะมีอาการหนึ่งอาการใดเด่นกว่าอีกอาการหนึ่ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด ท้องผูก หรืออาจมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกปนอุจจาระมากขึ้น

หลายคนอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด มีลมมากในท้อง เรอบ่อย ๆ เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ซึ่งล้วนเป็นอาการที่สำคัญของโรคไอบีเอสทั้งสิ้น อาการต่าง ๆ เหล่านี้มักเป็นนานเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมีประวัติมานานหลายปี

โรคลำไส้แปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรัง อาจเป็นปี ๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะเป็นมาหลาย ๆ ปี และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ ผู้ป่วยจะวิตกกังวลมากว่าทำไมโรคไม่หายสักที แม้ได้รับยารักษาแล้วก็ตาม โรคนี้ถือว่าเป็นโรคลำไส้ที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก อาจไม่เคยไปพบแพทย์เลยด้วยซ้ำ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นจนเป็นปัญหาได้เช่นกัน

โรคไอบีเอสไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะมีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ มานาน ยิ่งผู้ป่วยมีอาการเป็นปี ๆ โอกาสเป็นมะเร็งยิ่งน้อยมาก และโรคนี้ไม่เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease) ซึ่งไม่ค่อยพบในคนไทย แต่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำคัญของชาวตะวันตก


การวินิจฉัยโรค

โรคไอบีเอสจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ หรือหาโรคอื่นที่อธิบายว่าเป็นสาเหตุของโรคไม่ได้ โดยแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจ X – RAY ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลการตรวจร่างกายและการสืบค้นต่าง ๆ อยู่เกณฑ์ปกติ โรคลำไส้ทำงานแปรปรวนเป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง (Cramping Abdominal Plain) ร่วมกับมีอาการท้องเสีย (Diarrhea) หรือ ท้องผูก (Conspipation) โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่พบลักษณะของการอักเสบ ไม่มีแผลที่เยื่อบุลำไส้ และไม่พบก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคไอบีเอส จึงยังไม่มียาที่รักษาได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์มักจะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือให้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้เพื่อช่วยลดอาการปวดท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 2 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์, อังคาร, พฤหัสบดี, เสาร์, อาทิตย์ เวลา 07.00 - 16.00 น.
พุธ, ศุกร์  เวลา 07.00 - 18.00 น.

แชร์