เทคนิคง่าย ๆ ดูแลแผลไฟไหม้และแผลน้ำร้อนลวกให้ถูกก่อนถึงมือหมอ

1 นาทีในการอ่าน
เทคนิคง่าย ๆ ดูแลแผลไฟไหม้และแผลน้ำร้อนลวกให้ถูกก่อนถึงมือหมอ

แชร์

ไม่มีใครอยากได้รับบาดเจ็บในชีวิตประจำวัน แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วเกิดบาดแผลไฟไหม้และแผลน้ำร้อนลวก การปฐมพยาบาลเพื่อดูแลแผลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็น แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก แผลไฟช็อต แผลจากสารเคมี คือสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาบาดแผลให้ดีขึ้นและพร้อมสำหรับการรักษาอย่างถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางต่อไป

 

image

เทคนิคดูแลแผลไฟไหม้และแผลน้ำร้อนลวก

  1. ออกจากความร้อนให้เร็วที่สุด
  2. ล้างด้วยน้ำก๊อกอุณหภูมิปกติเพื่อลดความร้อน เลี่ยงน้ำเย็นจัดและน้ำแข็ง
  3. ปิดแผลด้วยผ้าสะอาด
  4. นำส่งโรงพยาบาลทันที


เรื่องต้องรู้ เนื่องจากเนื้อเยื่อที่โดนความร้อนเซลล์จะตายจึงต้องลดความร้อนให้เร็วที่สุดภายใน 15 นาทีแรก เพราะยิ่งลดความร้อนได้เร็วที่สุด เนื้อเยื่อหรือเซลล์อาจจะรอดจากความตายได้

  

image

เทคนิคดูแลแผลไฟฟ้าช็อตและฟ้าผ่า

  1. นำผู้ป่วยออกจากไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด โดยใช้วัสดุที่ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้ ฯลฯ ห้ามใช้มือจับโดยตรง
  2. พยายามหาทางตัดวงจรไฟฟ้า สับคัตเอาต์ภายในบริเวณที่เกิดเหตุทันที
  3. ตรวจเช็กความปกติของผู้ป่วย การเต้นของหัวใจ สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในปาก การบาดเจ็บอื่น ๆ เช่น ที่ศีรษะหรือกระดูกต่าง ๆ
  4. นำส่งโรงพยาบาลทันที


เรื่องต้องรู้ :

  • การโดนไฟฟ้าช็อตยิ่งนานยิ่งอันตราย เพราะเนื้อเยื่อจะเสียหายมากขึ้น
  • ความรุนแรงขึ้นอยู่กับจำนวนโวลต์ หากได้รับไฟฟ้าเกิน 500 โวลต์ กล้ามเนื้ออาจสลายได้ แม้แผลด้านนอกจะเล็ก แต่ด้านในเนื้อเยื่อจะถูกทำลายมาก ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที

  

image

เทคนิคดูแลแผลจากสารเคมี

  1. หากสารเคมีเป็นฝุ่นผงให้ใช้แปรงปัดสารเคมีออกไปให้เร็วที่สุด ห้ามเป่า
  2. หากสารเคมีเป็นแบบเหลวหรือเป็นน้ำให้ล้างด้วยน้ำเปล่าออกไปให้มากและเร็วที่สุด
  3. ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออกแล้วรีบล้างโดยเร็วที่สุด
  4. ไม่ว่าจะโดนสารเคมีที่เป็นกรดหรือด่างให้ล้างด้วยน้ำเปล่า
  5. ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลแบบไม่แน่นมาก
  6. หากเป็นแขนหรือขาให้ยกส่วนนั้นให้สูงกว่าลำตัวจะช่วยป้องกันไม่ให้บวมมาก
  7. นำส่งโรงพยาบาลทันที


เรื่องต้องรู้หากโดนสารเคมีรุนแรงจะเป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูทันที

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาแผล 
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์