ลูกจะสูงเท่าไร คำนวณความสูงลูกง่ายนิดเดียว

4 นาทีในการอ่าน
ลูกจะสูงเท่าไร คำนวณความสูงลูกง่ายนิดเดียว

แชร์

โตขึ้นลูกเราจะสูงไหม นี่เป็นคำถามที่พ่อแม่มักสงสัยและกังวลใจ เพราะหากลูกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความสูงยังคงเดิม ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเตือนว่าลูกอาจเจริญเติบโตไม่สมวัย ยังส่งผลต่อจิตใจของลูกเมื่อถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นการคำนวณความสูงสุดท้ายของลูกรักอย่างถูกวิธีและเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมช่วยให้เข้าใจการเจริญเติบโตของลูกและรับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที

 

ปัจจัยที่ส่งผลกับความสูงของลูก

1. พันธุกรรม โดยปกติแล้วถ้าพ่อแม่สูง ลูกมักจะสูง หรือถ้าพ่อแม่เตี้ย ลูกก็มักจะเตี้ย
2. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่ Growth Hormone, Thyroid Hormone และ Sex Hormone ที่เป็นปกติ เป็นต้น

 

ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะมีอัตราการเพิ่มความสูงตามมาตรฐาน ดังนี้

 อายุ อัตราการเพิ่มความสูง (เซนติเมตรต่อปี) 
 แรกเกิด – 1 ปี  23 – 27 เซนติเมตร
 1 – 2 ปี  10 – 12 เซนติเมตร
 2 – 4 ปี   6 – 7 เซนติเมตร
 ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น  4 – 5.5 เซนติเมตร

 ช่วงวัยรุ่น เด็กจะมีเวลาประมาณ 1 – 2 ปีที่จะมีการเพิ่มความสูง สูงสุด (Peak Pubertal Growth Spurt)
 • เด็กหญิง
 • เด็กชาย



7 – 10 เซนติเมตร
8 – 12 เซนติเมตร

 

***ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถรู้ความสูงสุดท้ายคร่าว ๆ ของลูกได้ล่วงหน้าด้วยวิธีการประเมินและคาดคะเนความสูงสุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่

 

ประเมินและคาดคะเนความสูงสุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่

การประเมินและคาดคะเนความสูงสุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่ มี 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้

img

1) การคำนวณความสูงสุดท้ายจากความสูงของพ่อแม่ (Midparental Height และ Target Height)

เป็นความสูงตามศักยภาพทางพันธุกรรม โดยพ่อแม่สามารถลองคำนวณความสูงคร่าว ๆ ของลูกได้เองด้วยวิธีนี้

เด็กผู้ชาย = (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ + 13) ÷ 2


ยกตัวอย่างเช่น

ส่วนสูงพ่อ = 175 ซม. ส่วนสูงแม่ = 152 ซม.
175 + 152 = 327 ซม.
นำผลลัพธ์ไปบวก 13 จะได้ 327 + 13 = 340
นำผลลัพธ์หารด้วย 2 จะได้ 340 / 2 = 170
170 เซนติเมตร คือความสูงคร่าว ๆ ของลูกชายในอนาคต

 

เด็กผู้หญิง = (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ – 13) ÷ 2

ยกตัวอย่างเช่น
ส่วนสูงพ่อ = 175 ซม. ส่วนสูงแม่ = 152 ซม.
175 + 152 = 327
นำผลลัพธ์ไปลบ 13 จะได้ 327 – 13 = 314
นำผลลัพธ์หารด้วย 2 จะได้ 314/2 = 157
157 เซนติเมตร คือ ความสูงคร่าว ๆ ของลูกสาวในอนาคต

***อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายจะอยู่ในช่วงบวกลบ 7 – 9 เซนติเมตร ดังนั้นความสูงสุดท้ายของลูกชาย ตามตัวอย่างจะอยู่ที่ 161 – 179 เซนติเมตร และลูกสาวจะอยู่ที่ 148 – 166 เซนติเมตร ตามลำดับ

img

 2) การคำนวณความสูงสุดท้ายจากภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูก (Bone Age) (Predicted Adult Height)

เราสามารถรู้อายุกระดูกได้จากการเอกซเรย์มือซ้าย ตั้งแต่ข้อมือถึงปลายนิ้ว โดยเปรียบเทียบการเจริญของกระดูกทุกชิ้นกับภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูกมาตรฐาน ซึ่งอายุกระดูกจะบอกได้ว่า เด็กแต่ละคนสามารถเจริญเติบโตได้อีกมากน้อยเพียงใด และโดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กโดยใช้กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตตามเพศและเชื้อชาติ ซึ่งมีทั้งกราฟความสูงและน้ำหนักเมื่อเทียบกับอายุ พ่อแม่สามารถนำน้ำหนักส่วนสูงมาลองจุดเทียบกับค่าปกตินี้ได้

 

กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กหญิงและเด็กชาย

01 02

 

แพทย์ช่วยคำนวณความสูงในอนาคตของลูกได้ชัดเจนกว่า

ตามปกติแล้วแพทย์จะใช้ข้อมูลคำนวณความสูงจากทั้ง 2 วิธี โดยการคำนวณความสูงสุดท้ายจากพันธุกรรมควบคู่กับภาพถ่ายเอกซเรย์กระดูกเพื่อดูอายุกระดูก ซึ่งอายุกระดูกจะบอกได้ว่าเด็กจะสามารถเติบโตได้อีกมากน้อยเพียงใด แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสูงสุดท้ายร่วมกัน โดยที่อายุกระดูกไม่จำเป็นต้องเท่ากับอายุจริง เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ และฮอร์โมนเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งการคำนวณด้วยวิธีนี้ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ

 

ระวังเด็กโตไวเกินอายุ

สำหรับเด็กที่สูงพรวดพราดนำโด่งเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัดให้ระวังอาจเสี่ยงเป็นโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) ที่จะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตเร็วในช่วงแรก และมีอายุกระดูกล้ำหน้าไปกว่าอายุจริง จากนั้นหัวกระดูกจะปิดเร็วกว่ากำหนด ทำให้เด็กที่โตเร็วในตอนแรกกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวไม่สูงหรือตัวเล็กในอนาคตได้

ซึ่งโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยนี้ นอกจากจะส่งผลต่อเรื่องความสูงแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กด้วย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มักจะมีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 8 ขวบ หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ขวบ ทำให้ร่างกายแตกต่างกับเพื่อนวัยเดียวกัน ส่วนเด็กชายสังเกตได้จากขนาดอัณฑะที่มักใหญ่กว่า 4 ซีซี เป็นต้น หากเด็กเป็นโรคนี้ควรต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาชะลอความหนุ่มสาว ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวัดอายุกระดูก และปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ฮอร์โมน พันธุกรรมความสูง ฯลฯ เพื่อวินิจฉัยและประเมินการรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาว่าควรจะฉีดยาเพื่อชะลอการปิดของกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี

หากสงสัยว่าลูกของคุณสูงเร็วหรือสูงเกินวัยหรือไม่ สามารถพาลูกเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยโดยเฉพาะที่ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งมีทีมแพทย์พร้อมตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาแบบองค์รวมครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น



ข้อมูล :
  • บทความ How to Maximize Adult Height โดยสุทธิพงศ์ วัชรสินธุ จากหนังสือคู่มือการสอนการสร้างเสริมสุขภาพในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สอบถามเพิ่มเติมที่
คลินิกพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวช
ชั้น 4 โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 8.00 – 16.00 น.

แชร์