ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ ปัญหาหนักใจของผู้ชายสายสตรอง
4 นาทีในการอ่าน

แชร์
ไส้เลื่อนเป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง ที่พบบ่อยที่สุดบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia) เนื่องจากผู้ชายสายสตรองวัย 40+ จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้พละกำลัง เช่น แบกถุงกอล์ฟ จัดสวน ปีนเขา เล่นเวท ออกกำลังกาย โดยมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อร่วมกับกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบที่มีความหย่อนยานขาดความแข็งแรง
ส่วนในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมักพบไส้เลื่อนลงอัณฑะหรือไส้เลื่อนลงไข่จากการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ท้องผูกเรื้อรัง สูบบุหรี่ ส่วนผู้หญิงก็สามารถพบอาการของโรคนี้ได้เรื่อย ๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันแล้วรีบมาพบแพทย์โดยเร็วจะช่วยให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น
รู้จักไส้เลื่อนขาหนีบ
ไส้เลื่อน คือ อาการที่ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้อง เนื่องจากมีช่องบริเวณผนังหน้าท้อง มีลักษณะเป็นก้อนนุ่มบริเวณหัวหน่าว เห็นได้ชัดเจนเมื่อยืน เดิน แต่หากนอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง มีรูรั่ว การมีแรงดันในช่องท้องสูงจากพฤติกรรมการยกของหนัก การอุจจาระ การไอ รวมถึงการออกกำลังกายมากกว่าปกติ
ไส้เลื่อนกับผู้ชายสายสตรอง
ไส้เลื่อนไม่ได้พบเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้ายิม ออกกำลังกายหนัก ๆ กิจกรรมที่ต้องใช้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ทำให้แรงดันบริเวณขาหนีบเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชายสายสตรองพบกับปัญหาไส้เลื่อน จนมีผลต่อคุณภาพชีวิตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องถูกจำกัด
ไส้เลื่อนในผู้ชายที่พบบ่อยที่สุดคือ ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia) ซึ่งพบมากในผู้ชายวัย 40+ ถ้ามีอาการมาไม่นานจะพบเป็นก้อนบริเวณขาหนีบร่วมกับอาการจุก สร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าปล่อยไว้นานไส้เลื่อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วไหลลงอัณฑะ หรือที่เรียกว่าไส้เลื่อนลงไข่ หลายคนต้องพยายามใช้มือดันกลับ ซึ่งมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ รวมถึงอาการที่เป็นมากขึ้น หลายคนต้องซื้อกางเกงในแบบพิเศษมาใส่เพื่อพยุงไส้เลื่อนไว้ แต่นั่นเป็นเพียงประคองอาการชั่วคราวเท่านั้น และไส้เลื่อนอาจมีขนาดและอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทำให้รักษาได้ยากขึ้นในภายหลัง
ในผู้ชายสูงวัยที่มีอาการปัสสาวะออกยาก ต้องเบ่ง หรือรอปัสสาวะนาน อาจมีโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) การเบ่งปัสสาวะเป็นเวลานานจนแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ผนังหน้าท้องเกิดความอ่อนแอ ลำไส้เล็กเคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่ง นอกจากนี้คนที่ท้องผูกเป็นประจำอาจมีปัญหาจากการเบ่งในลักษณะเดียวกัน
ผู้ป่วยบางรายไส้เลื่อนไหลลงถุงอัณฑะนาน ๆ เพราะไม่รีบผ่าตัดแก้ไข นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอันตรายเมื่อใดก็ได้ อาทิ ไส้เลื่อนติดคา (อ่านบทความ อันตราย…อย่าปล่อยให้ไส้เลื่อนติดคา) ในรายที่รุนแรงอาจเกิดลำไส้บิดพันกันในไส้เลื่อนจนเกิดลำไส้เน่าตายที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะก้อนที่เข้าออกได้ตามท่าทางที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ควรต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
ตรวจเช็กไส้เลื่อน
แพทย์ผู้ชำนาญการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนได้โดย
- ซักประวัติอย่างละเอียด
- ตรวจร่างกายทั้งหมด ให้ผู้ป่วยลองเบ่งด้วยการไอเพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนหรือไม่ อาจคลำผนังหน้าท้องร่วมด้วย
- หากไม่แน่ชัดในผลการตรวจแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยทำอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยละเอียด
รักษาไส้เลื่อน
การรักษาไส้เลื่อนมีวิธีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง ทำโดยปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดีคือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถดมยาหรือบล็อคหลังได้
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว หลายคนเคยได้ข่าวนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติชื่อดังหลายคนก็เคยผ่าตัดลักษณะนี้แล้ว สามารถกลับไปเตะฟุตบอลอาชีพได้ในไม่กี่สัปดาห์
ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาไส้เลื่อน
ทุกการผ่าตัดย่อมมีรายละเอียด การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องส่องผนังหน้าท้อง โดยไม่ทำลายเยื่อบุช่องท้อง (Laparoscopic Total Extraperitoneal Hernia Repair : TEP) ไม่ต้องผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง ทำให้ลดโอกาสเกิดอันตรายในช่องท้องหลังผ่าตัดและการเกิดพังผืดในช่องท้อง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทีมศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากต้องผ่าตัดเลาะไส้เลื่อนซึ่งใกล้กับอวัยวะสำคัญ ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาทขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันซึ่งใช้กล้องความชัดระดับเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ โดยมีความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ยังมีเทคโนโลยีแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ชนิดน้ำหนักเบา (Lightweight Mesh) ร่วมกับหมุดยึดตาข่ายชนิดละลายได้ (Absorbable Tackers) หรือ กาว (Medical Grade Glue) เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว นอนโรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน ที่สำคัญหลังผ่าตัดต้องไม่ลืมควบคุมปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำได้ดีที่สุด
ป้องกันไส้เลื่อนซ้ำ
การป้องกันไส้เลื่อนให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัดไปแล้ว ทำได้โดย
- เลี่ยงยกของหนัก เพราะทำให้เกิดการเบ่ง มีแรงดันในช่องท้องสูง
- งดเบ่งปัสสาวะ โดยเฉพาะในคนที่เป็นต่อมลูกหมากโตต้องรักษาให้หาย ถ่ายปัสสาวะได้คล่อง
- เลิกเบ่งอุจจาระ ควรทานอาหารที่มีกากใยช่วยให้ระบายได้เอง ไม่ต้องเบ่งจนติดเป็นนิสัย
- ลดการไอ ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่าง โรคหวัด การสูบบุหรี่ แต่ถ้าไอควรจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
สำหรับผู้ชายที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมย่อมมาเยี่ยมเยือน เพิ่มโอกาสการเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อคลำได้ก้อนอย่าอายหรือชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญจะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพราะการปล่อยทิ้งไว้นานความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตได้ ส่วนในชายเริ่มสูงวัย หากป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตก็ควรรีบรักษาเพราะช่วยป้องกันไส้เลื่อนซ้ำได้ด้วย
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์