บาดเจ็บศีรษะ รู้ระวังป้องกันได้

2 นาทีในการอ่าน
บาดเจ็บศีรษะ รู้ระวังป้องกันได้

แชร์

รู้หรือไม่ว่าการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของผู้ป่วยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกประเภท เพราะฉะนั้นการรู้ระวังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นเรื่องสำคัญ

 

บาดเจ็บศีรษะ

การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากแรงที่เข้ามากระทบต่อศีรษะและร่างกาย ทำให้เกิดความบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลก ศีรษะ สมอง และเส้นประสาทสมอง อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว


ต้นเหตุการบาดเจ็บที่ศีรษะ

สาเหตุการบาดเจ็บที่ศีรษะมักเกิดจาก

  • อุบัติเหตุจากการจราจร
  • อุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม
  • ถูกทำร้าย

ระดับการบาดเจ็บที่ศีรษะ

  • บาดเจ็บศีรษะเล็กน้อย มีอาการดังต่อไปนี้
    • ปวดศีรษะเล็กน้อย
    • คิดช้า พูดช้า อ่านช้าลง 
    • ไม่มีสมาธิ ยากในการจดจำสิ่งต่าง ๆ 
    • มีปัญหาการตัดสินใจและแก้ปัญหา
    • เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว
    • รูปแบบการนอนเปลี่ยนไป นอนหลับยากหรือนอนหลับมากเกินไป
    • อารมณ์เปลี่ยน อาทิ เศร้า วิตกกังวลง่าย โกรธง่าย
    • สายตาเบลอหรืออ่อนล้าง่าย
  • บาดเจ็บศีรษะปานกลางหรือรุนแรง อาจมีอาการเหมือนบาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยและอาการดังต่อไปนี้ ควร ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
    • ปวดศีรษะรุนแรง
    • มึนศีรษะแล้วไม่ดีขึ้น
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ชัก เกร็ง กระตุกกล้ามเนื้อ
    • ซึมลง
    • หมดสติ
    • พูดไม่ชัด
    • แขนขาอ่อนแรง ชา
    • สับสน กระสับกระส่าย
    • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
    • ปลุกไม่ตื่น เรียกไม่ค่อยรู้สึกตัว

ตรวจวินิจฉัย

หากบาดเจ็บที่ศีรษะและมีอาการรุนแรงจนต้องมาพบแพทย์ การตรวจวินิจฉัยมีหลายวิธี ได้แก่

  1. เอกซเรย์กะโหลกศีรษะและอวัยวะอื่น ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ
  2. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain)
  3. เอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 
  4. เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-Ray)
  5. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)

บาดเจ็บศีรษะ รู้ระวังป้องกันได้


การรักษาเมื่อบาดเจ็บที่ศีรษะ 

แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้ประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมกันตัดสินใจ ในบางรายอาจพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ บางรายต้องสังเกตการอย่างใกล้ชิด บางรายต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยในช่วงแรกของการรักษาจะเน้นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ


ป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ

  • ป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร ได้แก่
    • คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับหรือนั่งรถ
    • สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถ
    • หมั่นตรวจระบบเบรก ยาง ระบบส่องสว่างให้สมบูรณ์อยู่เสมอ
    • ห้ามขับขี่ยานพาหนะเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด
    • เลี่ยงเส้นทางที่อาจเกิดอุบัติเหตุ
    • จดจำสัญญาณจราจรที่สำคัญ
    • เมาไม่ขับเด็ดขาด
    • หากง่วง เหนื่อยล้าให้จอดพัก
    • ระมัดระวังมีสติทุกครั้งที่ขับขี่

      บาดเจ็บศีรษะ รู้ระวังป้องกันได้

  • ป้องกันพลัด ตก หกล้ม ได้แก่
    • ออกกำลังกายให้เหมาะกับสมรรถภาพร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์
    • จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น
    • วางของให้เป็นระเบียบ
    • ไม่วางของบนพื้นหรือขั้นบันได
    • วางของที่ใช้บ่อยไว้ใกล้มือ
    • บันไดมีราวจับทั้งสองฝั่ง
    • ปูพื้นกันลื่นในห้องน้ำ
    • มีราวจับในห้องน้ำ
    • ห้องนอนมีแสงสว่างที่เพียงพอ
    • สวิตช์เปิดปิดได้ง่าย
    • สวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
    • ไม่สวมเสื้อผ้ายาวรุ่มร่ามเกินไป
  • ตรวจเช็กสายตา อย่างน้อยปีละ  1 ครั้ง เพราะสายตาที่แย่ลง มองเห็นไม่ชัดเจน อาจเพิ่มโอกาสล้มได้
  • การใช้ยา ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เวียนศีรษะ เป็นต้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคืออาการบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาแบบทันทีทันใดแนะนำให้บันทึกเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินให้ติดต่อได้ง่ายหากเกิดเหตุควรรีบส่งต่อผู้ป่วยให้แพทย์ทันทีเพราะยิ่งเร็วยิ่งลดความเสี่ยงยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษา

แชร์