Hashimoto's Thyroiditis ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน

2 นาทีในการอ่าน
Hashimoto's Thyroiditis ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน

แชร์

ต่อมไทรอยด์มีความสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ร่างกายจึงมีการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์อักเสบจะพบได้ในลักษณะอักเสบกึ่งเฉียบพลันและอักเสบเรื้อรัง โดยต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังที่มีต้นเหตุจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเรียกว่า Hashimoto’s Thyroiditis แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่มีโอกาสเป็นได้ จึงควรรู้เท่าทันและหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิด


รู้จักโรค HASHIMOTO’S THYROIDITIS

โรค Hashimoto’s Thyroiditis ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุของภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยไปทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะทางพยาธิวิทยาจะมีเซลล์อักเสบชนิดลิมโฟไซต์ไปแทรกอยู่ภายในเนื้อไทรอยด์โดยทั่ว


สาเหตุบอกโรค

สาเหตุของโรค Hashimoto’s Thyroiditis มาจากสาเหตุทางพันธุกรรมโรคไทรอยด์ และอาจมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคขึ้น โรคไทรอยด์ชนิดนี้พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่สามารถพบในเด็กและวัยรุ่นได้เช่นกัน


อาการต้องสังเกต

ผู้ป่วยโรค Hashimoto’s Thyroiditis อาจมีอาการคอโต (คอพอก) หรือไม่ก็ได้ โดยมากมักไม่มีอาการเจ็บบริเวณต่อมไทรอยด์ ในบางรายอาจมาด้วยอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำลง ได้แก่

  • น้ำหนักขึ้น
  • บวม
  • อ่อนเพลีย
  • ง่วงนอน
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้ง
  • ขี้หนาว
  • เป็นตะคริว
  • เสียงแหบ

*** ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจเลือดพบฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติโดยยังไม่มีอาการหรืออาการแสดงใด ๆ ได้ (Subclinical Hypothyroidism)


Hashimoto's Thyroiditis
ตรวจวินิจฉัยโรค

การตรวจวินิจฉัยโรค Hashimoto’s Thyroiditis สามารถทำได้จาก

  1. ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วย Hashimoto’s Thyroiditis ระยะแรก อาจตรวจพบระดับ TSH (Thyroid Stimulating Hormone) สูงเพียงอย่างเดียว ต่อมาอาจพบ T4 หรือ Free T4 ต่ำ และ T3 ต่ำตามลำดับ
  2. ตรวจระดับภูมิคุ้มกันไทรอยด์ (Thyroid Autoantibodies) ได้แก่ Anti – Thyroglobulin Antibody (Anti Tg) และ/ หรือ Anti – Thyroid Peroxidase Antibody (Anti TPO) มีระดับสูง

รักษาโรค HASHIMOTO’S THYROIDITIS

การรักษาโรคไทรอยด์ชนิด Hashimoto’s Thyroiditis ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำทำได้โดยการให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติและลดขนาดของต่อมไทรอยด์ในรายที่มีคอพอกร่วมด้วย


ในรายที่ยังไม่ปรากฏอาการ (Subclinical Hypothyroidism) หรือในรายที่มีเพียงคอพอก โดยฮอร์โมนไทรอยด์ยังปกติ แพทย์อาจติดตามอาการและฮอร์โมนไทรอยด์เป็นระยะ และให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนไทรอยด์เมื่อมีข้อบ่งชี้พยากรณ์โรคในผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างดี ในรายที่รับประทานยาและตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แชร์