ข้อไหล่ติดยึดในผู้สูงอายุ

6 นาทีในการอ่าน
ข้อไหล่ติดยึดในผู้สูงอายุ

แชร์

ข้อไหล่ติดยึด (Frozen Shoulder) คือ ภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากน้อย ๆ เช่น ไม่สามารถยกไหล่ได้สุดหรือไขว่หลังได้สุด ต่อมาถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเป็นมากขึ้นจนขยับได้น้อยหรือไม่ได้เลย

สาเหตุข้อไหล่ติดยึด

สาเหตุหลักของข้อไหล่ยึดติด การอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ข้อไหล่ ซึ่งเรียกว่า เยื่อหุ้มข้อไหล่ (Capsule) ปกติเยื่อหุ้มข้อไหล่จะค่อนข้างยืดหยุ่นและสามารถขยายตัวหรือหดตัวตามการขยับของข้อไหล่ แต่เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่ติดยึดขึ้น เยื่อหุ้มข้อไหล่ดังกล่าวจะมีการอักเสบและหดตัวจนไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนเดิม ทำให้ขยับข้อไหล่ได้ลดน้อยลง และมีอาการปวดร่วมด้วยเสมอ

การกระแทกข้อไหล่ การขยับข้อไหล่เป็นเวลานาน การอักเสบของกล้ามเนื้อเอ็นโดยรอบข้อไหล่ สามารถนำไปสู่การอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ได้ทั้งสิ้น เมื่อเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ดังกล่าวก็จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะข้อไหล่ติดยึดในที่สุด


วินิจฉัยภาวะข้อไหล่ติดยึด

ต้องอาศัยการตรวจการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การค้นหาสาเหตุของข้อไหล่ติดยึด เช่น มีการอักเสบ ฉีกขาดของเอ็นภายในข้อไหล่ มีหินปูนเกาะภายในข้อไหล่ ฯลฯ อีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะข้อไหล่ติดยึดได้มากขึ้นและรักษายากขึ้น คือ โรคเบาหวานที่ขาดการควบคุมที่ดี


รักษาภาวะข้อไหล่ติดยึด

จุดประสงค์ของการรักษามี 2 ข้อด้วยกัน คือ

  1. ต้องทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้นและลดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะอาการปวดเวลานอน โดยการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การติดยึดของข้อไหล่น้อยลง
  2. ขยับได้มากขึ้นโดยอาจใช้ร่วมกับการใช้ความร้อน เย็น หรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ฯลฯ

ส่วนอาการปวด ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ เอ็นในข้อไหล่ ฯลฯ ต้องรับการตรวจหาสาเหตุ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ยากิน ยาฉีด เข้าข้อ หรือการผ่าตัดส่องกล้อง หรือร่วมกันทั้งนี้ต้องเป็นไปตามสาเหตุของแต่โรคที่เกิดขึ้น


ข้อไหล่ติดแข็ง ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาหายได้

ข้อไหล่ติดยึดแข็ง เป็นโรคของข้ออย่างหนึ่งซึ่งจะปวดทรมานมาก มีอาการเริ่มแรกคือ ปวดบวมที่ข้อไหล่ก่อน เวลาเคลื่อนไหวใช้แขนในชีวิตประจำวันจะปวดมากขึ้น ทำให้ไม่อยากจะขยับเขยื้อน นานเข้าข้อไม่ได้ใช้งานจะยึดติดแข็งไปเลย

สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบมากมักเป็นกับหญิงวัยกลางคน มีโรคเบาหวานร่วมด้วยเป็น ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด อีกแบบหนึ่งสาเหตุจากมีภยันตรายต่อข้อ อาจจากอุบัติเหตุ และสุดท้ายกับผู้สูงอายุจากความเสื่อมของเอ็นรอบข้อ และปลายกระดูกไหปลาร้าที่อยู่ติดกับข้อมีหินปูนเกาะไปขูดเอ็นรอบข้อ เวลาข้อเคลื่อนไหวจะทำให้อักเสบได้

ข้อที่อักเสบปวด หากไม่ได้เคลื่อนไหว ทิ้งไว้นานก็จะติดแข็ง กระทบต่อปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างมากคือ ใช้แขนไม่ถนัด โดยเฉพาะท่าที่ยกแขนขึ้นเหนือศรีษะและท่าไพล่หลังจะทำไม่ได้เลย

การรักษาแบบเดิม ๆ คือ การดัดข้อ ซึ่งหากเป็นสาเหตุจากแบบแรก โรคก็จะหายเองได้อยู่แล้ว แต่จะหายไม่ขาด ดัดมากไปอาจทำให้กระดูกหักหรือเอ็นรอบข้อฉีกขาดเพิ่มอีกได้ ยากินแก้ปวด แก้อักเสบ กายภาพบำบัด ยังคงเป็นวิธีการที่รักษากันทั่วไป แบบที่เกิดจากอุบัติเหตุ และความเสื่อมหากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น คงจะต้องเปิดผ่าตัดข้อ เข้าไปเย็บซ่อมเอ็นรอบข้อที่ฉีกขาด ตัดกระดูกที่มีหินปูนออก จะช่วยทำให้ข้อกลับคืนเคลื่อนไหวได้ดังเดิม


ปวดไหล่ อันตรายที่อาจเรื้อรัง

เมื่อพูดถึงหัวไหล่ หลายคนคงสงสัยว่า มีอันตรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า หัวไหล่เป็นอวัยวะหนึ่งที่เป็นส่วนของข้อที่มีประโยชน์มาก ใช้ในการทำกิจกรรม ต่าง ๆ มากมาย แต่เนื่องจากข้อหัวไหล่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย จึงมักใช้หัวไหล่ในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เป็นอย่างมาก เช่น การแต่งกาย การทำความสะอาดร่างกาย การทำงาน รวมทั้งการเล่นกีฬา ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวไหล่จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมากขึ้น

อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้มากและบ่อยขึ้น โดยอาการปวดอาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเป็นเรื้อรัง อาการปวดหัวไหล่อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละโรค อาจมีอาการปวดได้ในบางช่วงเวลา หรือมีอาการปวดตลอดเวลา หลายคนคิดว่าอาการปวดหัวไหล่อาจเกิดขึ้นและหายได้เอง แต่ในบางครั้งอาการปวดไหล่ก็เป็นอาการนำของภาวะที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท ภาวะมะเร็งกระจายมาที่กระดูก รวมทั้งอาจเป็นอาการนำของภาวะโรคที่รุนแรงต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น ภาวะเส้นเอ็นใต้กระดูกสะบักฉีกขาด ข้อไหล่ไม่มั่นคง

นอกจากนี้อาการปวดไหล่ยังทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ภาวะไหล่ติด ข้อเสื่อม ภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็นหัวไหล่ โดยทั่วไปอาการปวดไหล่สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อาการปวดหัวไหล่ที่เกิดจากความผิดปกติของข้อหัวไหล่หรือความผิดปกติที่เกิดจากอวัยวะข้างเคียงที่มีลักษณะอาการปวดร้าวมาที่หัวไหล่หรือบริเวณใกล้เคียงหัวไหล่ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด วัณโรคปอด กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น

อาการปวดหัวไหล่ที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงานมักเกิดจากภาวะการอักเสบและเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ กระดูกสะบักด้านหลัง และต้นคอ โดยมีอาการปวดตื้น อาการปวดอาจร้าวไปที่คอ หลัง หรือต้นแขนได้ และอาการที่เกิดขึ้นมักมีความสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น การพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ การสะพายกระเป๋าหนักเป็นเวลานาน ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ภาวะนี้มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงใด ๆ จึงแนะนำให้สำรวจอาการปวดว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงใด เช่น สะพายกระเป๋านานเกินไป โต๊ะที่ทำงานสูงเกินไป เวลาพิมพ์งานต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอและหัวไหล่มากและนานเกินไป

การแก้ไขที่สำคัญ คือ ควรลดหรือแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ในกรณีที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน การยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายบริเวณกล้ามเนื้อรอบกระดูกสะบักและหัวไหล่จะช่วยลดอาการปวดและตึงตัวของกล้ามเนื้อและช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้

ส่วนอาการปวดหัวไหล่ที่เกิดจากอุบัติเหตุ หัวไหล่มักจะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง ได้แก่ ข้อหัวไหล่เคลื่อน โดยจะมีอาการปวดหัวไหล่ทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะไม่สามารถขยับหัวไหล่ได้ ทำให้หัวไหล่มีลักษณะผิดรูป ภาวะนี้ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากรักษาไม่ถูกต้องอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ข้อหัวไหล่ไม่เข้าที่ กระดูกหักร่วมกับภาวะข้อเคลื่อน ภาวะหัวไหล่ไม่มั่นคง ภาวะเส้นเอ็น เส้นเลือด หรือเส้นประสาทบริเวณหัวไหล่ได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้อาการปวดหัวไหล่เรื้อรังที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยทั่วไปคนสูงอายุมักจะมาพบแพทย์ค่อนข้างช้า และมาพบเมื่อมีอาการมาแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ทำให้อาการปวดหัวไหล่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง และในบางครั้งทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น

ภาวะที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะหัวไหล่ติด ภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นใต้กระดูกสะบัก โดยทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหัวไหล่ที่คล้ายคลึงกัน คือ มีลักษณะปวดหัวไหล่ ปวดร้าวลงมาบริเวณต้นแขน จะยิ่งปวดมากขึ้นในช่วงเวลานอน อาการที่เกิดจะทำให้นอนตะแคงทับหัวไหล่ข้างที่ปวดไม่ได้ พลิกตัวไม่ได้ การเคลื่อนไหวของหัวไหล่จะทำได้น้อยลง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลำบาก โดยเฉพาะการหมุนหรือบิดแขนไปด้านหลัง เช่น ติดตะขอชุดชั้นใน หรือถูสบู่ด้านหลัง

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม ก็คือ ภาวะหัวไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้เองหรือเกิดได้จากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การถูกกระแทกมักเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ไทรอยด์ และความผิดปกติที่ปอด เช่น วัณโรคหรือจุดที่ปอด ลักษณะจะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ในช่วงแรก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่ แต่ไม่มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ลำบากมากขึ้น

การเคลื่อนไหวที่ลดลงจะเป็นเกือบทุกทิศทาง ยกแขนได้ไม่สุด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในทิศทางบิดหมุนหัวไหล่จะมีการเคลื่อนไหวได้น้อย ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างยากลำบาก เช่น การถอดหรือใส่เสื้อยืด การถูสบู่ การหยิบของในที่สูง ภาวะนี้สามารถหายเอง มักใช้เวลานานนับปี ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ค่อนข้างลำบากพอสมควรในช่วงเวลาที่มีอาการไหล่ติด

การรักษานอกเหนือจากการใช้ยาแก้อักเสบและยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการแล้ว การบริหารยืดข้อหัวไหล่จะช่วยทำให้ภาวะนี้หายเร็วขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น การใช้มือไต่ผนัง การรำกระบอง เป็นต้น ในช่วงแรกที่มีอาการปวดและยังมีหัวไหล่ติดไม่มากนัก การใช้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการบริหารข้อหัวไหล่จะได้ผลค่อนข้างดี แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการมานาน หัวไหล่เคลื่อนไหวได้น้อยลงอย่างมาก จนการเคลื่อนไหวลดลงทุกทิศทาง การรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน หรือไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา ต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา เช่น การดมยาสลบดัดข้อหัวไหล่ หรือผ่าตัดส่องกล้องข้อหัวไหล่เพื่อตัดและยืดเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ที่หดรัดตัวอยู่


ภาวะเส้นเอ็นใต้สะบักอักเสบ

ภาวะเส้นเอ็นใต้สะบักอักเสบ เป็นอีกภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นภาวะที่ควรแยกออกจากภาวะข้อไหล่ติด เพราะการดำเนินโรคและการรักษามีความแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะมีอาการปวดหัวไหล่ที่คล้ายคลึงกับภาวะข้อไหล่ติด มีอาการปวดในเวลากลางคืน แต่อาการปวดของภาวะนี้เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อใต้สะบักและถุงที่อยู่ระหว่างเส้นเอ็นและกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่จนปวดร้าวลงมาที่แขนได้

อาการปวดมักจะเป็นขึ้นในขณะที่มีกิจกรรมที่ต้องใช้แขนยกเหนือศีรษะ เช่น หยิบกระเป๋าจากชั้นวางของ นอนยกแขนวางบนหน้าผาก และการเคลื่อนไหวอาจจะลดลงในบางทิศทาง แต่ไม่มากเท่ากับภาวะข้อหัวไหล่ติด ภาวะนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นหัวไหล่ในผู้สูงอายุ กระดูกสะบักด้านหน้าที่มีลักษณะโค้งมากผิดปกติ หรือกระดูกงอกบริเวณกระดูกสะบักด้านหน้า รวมไปถึงการได้รับอุบัติเหตุข้อไหล่เคลื่อน เป็นต้น

อาการปวดไหล่สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นที่การสังเกตอาการ ท่าทางของตนเองว่ามีความผิดปกติอย่างไร น่าจะมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ง่ายต่อการวินิจฉัยของแพทย์เมื่อต้องทำการรักษาในระยะแรก


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กระดูกและข้อ
ชั้น 1  ฝั่งทิศใต้ (S1) อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 07.00 – 20.00 น

แชร์