บาดเจ็บจากฟุตบอล รีบดูแลรักษาลงสนามได้ไว

9 นาทีในการอ่าน
บาดเจ็บจากฟุตบอล รีบดูแลรักษาลงสนามได้ไว

แชร์

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่หลายคนชื่นชอบและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกทั้งการรับชมและลงเล่น ด้วยรูปแบบการเล่นระบบทีมที่ใช้ทั้งการวางแผนและความสามารถเฉพาะตัว ทำให้กีฬาฟุตบอลมีทั้งความสนุกและความท้าทาย อีกทั้งรูปแบบการเล่นสมัยใหม่ที่มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในเกมฟุตบอลต้องมีการปะทะกันอยู่เสมอ การบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงท้ายการแข่งขันที่นักกีฬาเริ่มอ่อนล้า อาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การบาดเจ็บกล้ามเนื้อ แต่ก็สามารถพบการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงได้เช่นกัน อาทิเช่น เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด กระดูกข้อเท้าหัก หรือการกระทบกระเทือนทางสมอง (Concussion) ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นระยะเวลานาน สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมก่อนลงเล่น ป้องกันอาการบาดเจ็บ และรีบรักษาโดยเร็วเมื่อได้รับบาดเจ็บ


สาเหตุการบาดเจ็บจากกีฬาฟุตบอล

สภาพร่างกายไม่พร้อมหรือไม่แข็งแรง

หากผู้เล่นขาดความพร้อม ทั้งสภาพความฟิตของร่างกายและข้อต่อกล้ามเนื้อ หรือมีความไม่สมดุลของร่างกาย ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การบาดเจ็บทั้งระหว่างซ้อมหรือแข่งขันได้ 

ขาดการวอร์มอัพร่างกายก่อนและหลังลงเล่น

การอบอุ่นร่างกายทั้งก่อนและหลังการลงเล่นจะช่วยให้สภาพข้อต่อและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น พร้อมต่อการแข่งขันและฟื้นฟู โปรแกรมการวอร์มอัพ FIFA 11+ ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี พบว่าสามารถช่วยลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ถึง 30%

เลือกใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสมหรือไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน 

การเลือกใช้อุปกรณ์ เช่น รองเท้าฟุตบอล หากเลือกใช้ไม่เหมาะสม เช่น ใส่รองเท้าผ้าใบในสนามหญ้า อาจทำให้ลื่นและเกิดการบาดเจ็บได้ ในปัจจุบันมีสนามกีฬาหญ้าเทียมได้รับความนิยมมากในประเทศไทย ซึ่งจะมีความฝืดและแรงยึดต่อรองเท้ามากกว่าสนามหญ้าจริง หากเลือกใช้รองเท้าสตั้ดปุ่มยาวหรือปุ่มใบมีดก็อาจจะทำให้เกิดแรงเสียดทานมากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บรุนแรงตามมาได้ เช่นเดียวกับอุปกรณ์ป้องกัน เช่น สนับแข้ง สามารถลดความรุนแรงและลดแรงกระแทกเมื่อเกิดการปะทะได้

ออกกำลังกายเกินความสามารถของร่างกาย 

ในระหว่างการแข่งขันและการฝึกซ้อมที่เข้มข้น จำเป็นต้องมีการวิ่งสปีด การกระโดด และการกระแทกของขาอยู่เสมอ หากผู้เล่นไม่ได้ประเมินสภาพร่างกายตนเองอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้จากการใช้งานซ้ำ ๆ หรือ Overuse Injury เช่น เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณขาหนีบ สะโพก เข่า และข้อเท้า หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกหักแบบ Stress Fracture ได้เช่นกัน

ขาดความรู้ความเข้าใจในกฎกติกา 

ในปัจจุบันกีฬาฟุตบอลมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกาการแข่งขันอยู่เสมอเพื่อให้มีความปลอดภัยในการเล่นมากยิ่งขึ้น เช่น การห้ามใช้ศอก การลงโทษผู้เล่นที่เข้าสกัดทางด้านหลัง หรือการยกเท้าสูง หากไม่เข้าใจในกติกาก็อาจส่งผลอันตรายต่อผู้เล่นหรือคู่แข่งได้

อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

เนื่องจากฟุตบอลเป็นกีฬาปะทะที่ต้องใช้ความเร็ว ความแข็งแกร่ง อาจเกิดอุบัติเหตุในการแข่งขันได้เสมอ เช่น การกระทบกระเทือนศีรษะ กระดูกหัก หรือกระทั่งภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน


อาการบาดเจ็บที่พบในกีฬาฟุตบอล

การเล่นกีฬาฟุตบอลสามารถพบการบาดเจ็บได้หลากหลายตำแหน่งโดยพบการบาดเจ็บบ่อยบริเวณต้นขาเข่าข้อเท้าและขาหนีบตามลำดับ 

1) บาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขา (Thigh Muscle Injury) 

การบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อแฮมสตริง(Hamstring) หรือกล้ามเนื้อหลังหัวเข่า กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า(Quadriceps) และกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน (Adductors) ทั้งการอักเสบหรือฉีกขาดเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดในกีฬาฟุตบอล เนื่องจากในการลงเล่นจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ในการวิ่ง กระโดด และเตะฟุตบอลอยู่ตลอดเวลา อาจเห็นภาพนักกีฬาฟุตบอลวิ่งสปีดด้วยความเร็วแล้วเกิดการกระตุกจนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ ระยะเวลาในการพักรักษาฟื้นฟูแตกต่างกันขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ อาจเล็กน้อยเพียงไม่กี่วัน หรือรุนแรงเป็นหลายเดือนได้ และการบาดเจ็บซ้ำของกล้ามเนื้อสามารถพบได้บ่อยเช่นกัน

2) ข้อเท้าพลิก (Ankle Sprain)

ข้อเท้าพลิกมักเกิดจากการปะทะกันของผู้เล่นส่งผลให้ข้อเท้าบิดหมุนมากเกินไปเกิดการพลิกของข้อเท้าส่วนใหญ่มักเกิดการพลิกเข้าด้านในทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นทางด้านนอกของข้อเท้าได้หากเป็นไม่รุนแรงอาจบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่บาดเจ็บยังเดินลงน้ำหนักพอได้กรณีเอ็นฉีกขาดบางส่วนจะมีอาการปวดบวมค่อนข้างมากมีเลือดคั่งเดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้แต่หากรุนแรงมากหรือเอ็นฉีกขาดทั้งหมดข้อเท้าเสียความมั่นคงปวดบวมมากมีเลือดคั่งเดินลงน้ำหนักไม่ได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงเรื้อรัง (Chronic Ankle Instability) และต้องเข้ารับการผ่าตัดได้

3) เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (Anterior Cruciate Ligament – ACL Tear)

แม้เป็นการบาดเจ็บที่ไม่ได้พบบ่อยที่สุดในกีฬาฟุตบอล แต่เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงและเป็นภาพจำของนักฟุตบอลและแฟนบอลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันต่อได้ มักเดินลงน้ำหนักไม่ได้ และจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูนานมากกว่า 6 เดือน การบาดเจ็บเกิดจากการบิดผิดรูปของข้อเข่า มักได้ยินเสียงดังป็อกในข้อเข่า มีเข่าบวม โดยในกีฬาฟุตบอลพบว่าส่วนใหญ่เกิดการบาดเจ็บลักษณะนี้โดยที่ไม่มีการปะทะ (Non – Contact Injury) มีการบริหารและออกกำลังกายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กเพื่อซ่อมเอ็นไขว้หน้าเข่า เพื่อรักษาฟื้นฟูให้กลับมาลงเล่นฟุตบอลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

4) บาดเจ็บหมอนรองเข่าและกระดูกอ่อน (Meniscus & Chondral Injury)

นอกจากการบาดเจ็บบริเวณเอ็นเข่าหากเกิดการกระแทกหรือบิดผิดรูปของข้อเข่าสามารถพบการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกเข่าหรือกระดูกอ่อนได้เช่นกันนักฟุตบอลมักมีอาการเข่าบวมหลังลงเล่นอาจมีข้อเข่าล็อคไม่สามารถเหยียดงอได้สุดเข่าบวมเป็นๆหายๆโดยหากมีภาวะเข่าเหยียดได้ไม่สุดหลังการบาดเจ็บควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาเพื่อตรวจหาสาเหตุหากเป็นการบาดเจ็บหมอนรองเข่าฉีกแบบรุนแรงเช่น Lock Bucket Handle Meniscus Tear จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมหมอนรองเข่าอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย 

5) บาดเจ็บเอ็นหัวเข่า (Knee Ligament Injury)

หัวเข่าเป็นข้อต่อที่พบการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุดในกีฬาฟุตบอลสามารถพบการบาดเจ็บได้หลายเส้นเอ็นรอบๆเข่าที่พบได้บ่อยเช่นเอ็นเข่าด้านใน (Medial Collateral Ligament – MCL) มักเกิดจากการกระแทก การปั๊มบอล เกิดเข่าบิดเข้าด้านใน มีอาการบวมด้านในเข่า เหยียดงอเข่าเจ็บ หากบาดเจ็บรุนแรงอาจลงน้ำหนักไม่ไหว ใช้เวลาในการรักษาขึ้นกับความรุนแรง หากฉีกขาดอาจต้องพักรักษาฟื้นฟูถึง 6 – 8 สัปดาห์ หรือการบาดเจ็บเอ็นลูกสะบ้า (Patellar Tendon) อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานซ้ำ ๆ โดยไม่มีการปะทะหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นก็ได้ มักมีอาการเจ็บตามแนวเอ็นลูกสะบ้า เจ็บที่กระดูกลูกสะบ้า หรือปุ่มกระดูกหน้าแข้ง การรักษาต้องใช้การกายภาพบำบัดฟื้นฟู ปรับเพิ่มลดความหนักในการซ้อม และแข่งขันให้เหมาะสมกับสภาพนักกีฬา

6) กระดูกหัก (Bone Fracture)

การปะทะในกีฬาฟุตบอลอาจรุนแรงจนเกิดกระดูกหักได้ เช่น กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า กระดูกไหปลาร้า ถือเป็นการบาดเจ็บรุนแรง ควรขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุด และนำส่งโรงพยาบาลทันที หากมีแผลฉีกขาดร่วมด้วยต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยเร็ว ในกีฬาฟุตบอลมักจำเป็นต้องรักษาภาวะกระดูกหักด้วยการผ่าตัดเพื่อจัดเรียงกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และฟื้นฟูสภาพข้อต่อและกล้ามเนื้อโดยรอบให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการใส่เฝือก เช่น ข้อติด กล้ามเนื้อฝ่อลีบ นอกจากการบาดเจ็บจากการปะทะ ในกีฬาฟุตบอลยังพบภาวะกระดูกหักที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะได้เช่นกัน แต่เป็นภาวะกระดูกหักล้า (Stress Fracture) ซึ่งเกิดจากการใช้งานอย่างหนักเกินไป โดยบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น กระดูกเท้า (5th Metatarsal Bone) ซึ่งสัมพันธ์กับนักฟุตบอลที่มีอุ้งเท้าสูงมากกว่าปกติ 

7) ภาวะสมองกระทบกระเทือน (Head Concussion)

หากเกิดการปะทะบริเวณศีรษะหรือต้นคอ ผู้เล่นหมดสติ มีอาการชักเกร็ง หรือปวดศีรษะมาก มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ชาแขนขา ปวดต้นคอมาก สับสนวุ่นวาย เป็นสัญญาณของการบาดเจ็บที่สมอง เกิดภาวะสมองกระทบกระเทือน จำเป็นต้องพักการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน และพบแพทย์เพื่อรักษาโดยทันที ภาวะสมองกระทบกระเทือนอาจแสดงอาการที่มากขึ้นตามเวลาได้ หากมีอาการผิดปกติควรหยุดเล่นและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ในการกลับมาฝึกซ้อมหรือแข่งขันหลังภาวะสมองกระทบกระเทือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำที่เหมาะสม หากกลับมาลงเล่นก่อนเวลา อาจเกิดผลเสียร้ายแรงทั้งต่อตัวนักเตะและทีมฟุตบอลได้

8) ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)

การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะฉุกเฉินในกีฬาฟุตบอล แม้พบได้น้อยแต่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งในผู้สูงอายุและในนักกีฬาอาชีพ หากพบผู้เล่นล้มลงเหมือนหมดสติ โดยไม่ได้รับการปะทะใด ๆ ให้นึกถึงภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทีมแพทย์ต้องรีบดำเนินการช่วยชีวิตโดยการปั๊มหัวใจและติดเครื่องกระตุกหัวใจ AED โดยทันที ในนักเตะอายุมากกว่า 35 ปี มักเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่วนในนักเตะอายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเป็นความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดได้ ปัจจุบันทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้ความสำคัญกับภาวะนี้เป็นอย่างมาก ทีมแพทย์สนามได้รับการฝึกอบรมการกู้ชีพอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆรายการแข่งขัน แนะนำให้นักกีฬาฟุตบอลได้รับการตรวจเช็กร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiography) เป็นประจำเพื่อคัดกรองความผิดปกติก่อนการแข่งขัน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักฟุตบอล

9) บาดเจ็บบริเวณขาหนีบ (Athletic Pubalgia)

ในนักฟุตบอลพบการบาดเจ็บบริเวณขาหนีบได้บ่อย อาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณหัวหน่าว ขาหนีบ หรือมีก้อนนูนขึ้นมา หากนักเตะมีอาการบาดเจ็บบริเวณนี้เรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬาเพื่อหาสาเหตุ อาจเกิดจากภาวะไส้เลื่อน (Hernia) การบาดเจ็บข้อต่อหัวหน่าว (Pubic Symphysis) บาดเจ็บข้อสะโพก (Hip) หรือบาดเจ็บเอ็นกล้ามเนื้อรอบ ๆ ขาหนีบได้ (Adductor & Iliopsoas) ซึ่งการรักษามักแตกต่างกันตามตำแหน่งและสาเหตุของอาการบาดเจ็บ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดไส้เลื่อน


การรักษาเมื่อบาดเจ็บจากฟุตบอล

เมื่อเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอล การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา หากเกิดการบาดเจ็บจากกีฬาฟุตบอลสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที โดยใช้หลัก P.R.I.C.E.

  • P – Protect คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การใช้ที่คล้องแขน การดามบริเวณที่บาดเจ็บ หรือการใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินเพื่อลดการลงน้ำหนัก
  • R – Rest คือ การพักการเล่นและการใช้งานเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ โดยแนะนำให้พักดูอาการ 2 – 3 วัน
  • I – Ice คือ การประคบเย็น สามารถประคบเย็นบริเวณที่ปวดบวมหรือฟกช้ำครั้งละ 15 – 20 นาที ทำได้บ่อยตามต้องการ
  • C – Compression คือ การใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดการบวมและลดการเคลื่อนไหว
  • E – Elevation คือ การยกสูง ทำโดยยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม เช่น ยกขาสูง

นอกจากนี้ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตามอาการบาดเจ็บอย่างเหมาะสม อาทิ การให้ยา การทำกายภาพบำบัด การรักษาโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ฟื้นฟูเอ็นกล้ามเนื้อ และหากรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (BASEM) มุ่งเน้นการรักษาเฉพาะบุคคลและวิธีการรักษาแบบพุ่งเป้าหรือ Targeted Therapy ที่ช่วยลดการบอบช้ำต่อเนื้อเยื่อรอบข้อน้อยลง ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูง (Advanced Minimally Invasive Surgery) แผลเล็ก ลดภาวะแทรกซ้อน ฟื้นตัวได้เร็ว โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาผ่าตัดส่องกล้องที่มากประสบการณ์ในการรักษานักฟุตบอลระดับอาชีพและทีมชาติให้กลับมาแข่งขันได้ในระดับสูง ร่วมกับผู้ชำนาญการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาสาขาต่าง ๆ พร้อมโปรแกรมฟื้นฟูหลังผ่าตัดเฉพาะบุคคล ควบคู่กับการรักษาระดับความฟิตและสมรรถภาพของร่างกาย การทดสอบความพร้อมหลังการรักษา เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย ป้องกันการบาดเจ็บ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายหรือกลับไปลงแข่งขันได้อย่างเต็มความสามารถอีกครั้ง


แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

ป้องกันอาการบาดเจ็บจากฟุตบอล

การป้องกันอาการบาดเจ็บจากฟุตบอลสามารถทำได้โดย

  •  เตรียมความพร้อมร่างกาย ก่อนลงสนามควรฝึกซ้อม โดยเน้นออกกำลังกายให้สมดุลระหว่างความอดทนและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ วอร์มอัพอบอุ่นร่างกายก่อนลงสนามทุกครั้ง และหลังลงสนามต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดภาวะขาดน้ำขณะลงเตะ พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ทานอาหารให้ครบถ้วนตามสารอาหาร โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการลงเล่น
  • ใส่อุปกรณ์ป้องกัน อย่างสนับแข้งที่ช่วยลดการกระแทกบริเวณขาและหน้าแข้ง รองเท้าฟุตบอลควรมีปุ่มที่เหมาะสมกับสภาพพื้นสนาม เพื่อการยึดเกาะขณะลงเล่นในสนาม การพันเทปล็อคข้อเท้าช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในนักเตะที่เคยมีภาวะข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าหลวม
  • เช็กตนเองก่อนลงสนาม ควรมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงและไม่บาดเจ็บบริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หากมีอาการบาดเจ็บมาก่อนแล้ว อย่างบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็นรอบข้อ อาจเกิดการบาดเจ็บซ้ำ ทำให้ใช้เวลาในการรักษายาวนานขึ้น และหากข้อไม่มั่นคงจำเป็นต้องรักษาจนหายดีก่อนลงเล่นอีกครั้ง เพราะอาจเกิดจากการบาดเจ็บรุนแรง เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด หากฝืนใช้งานต่อเนื่องจะส่งผลร้ายแรงต่อข้อเข่า เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ สำหรับนักกีฬาต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนลงแข่งทุกครั้งเพื่อค้นหาและป้องกันอาการบาดเจ็บ
  • มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากฟุตบอล เพื่อช่วยปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม เช่น การปะทะกันอาจทำให้เกิดฟกช้ำหรือแผลถลอกจากรองเท้าสตั๊ด ควรประคบเย็นและทำแผลให้สะอาด เป็นต้น 

หากเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลควรดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ถูกวิธีประเมินตนเองและพบแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาเพื่อตรวจเช็กและฟื้นฟูร่างกายอย่างเหมาะสมเพื่อการลงสนามทุกครั้งอย่างมั่นใจ 


โปรแกรมออกแบบเฉพาะกีฬาฟุตบอล

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ FIFA MEDICAL CENTRE OF EXCELLENCE ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ให้การรักษา ผ่าตัด ฟื้นฟู ตรวจเช็กสมรรถภาพนักกีฬาฟุตบอลในทุกระดับตามมาตรฐานฟีฟ่า ในนักกีฬาสมัครเล่นสามารถ Boost ร่างกาย เช็กสมรรถภาพกับชุดตรวจความพร้อมก่อนออกกำลังกาย / เล่นกีฬา FOOTBALL PERFORMANCE PROGRAM โปรแกรมตรวจและทดสอบสมรรถภาพร่างกายที่ออกแบบมาเฉพาะกีฬาฟุตบอล โดยทีมเวชศาสตร์การกีฬา BASEM พร้อมคำแนะนำและออกกำลังกายบริหารเพื่อเพิ่มศักยภาพ ป้องกันการบาดเจ็บ เรียนรู้การบริหารตาม FIFA 11+ ที่สามารถลดการบาดเจ็บในกีฬาฟุตบอลได้ถึง 30% และในนักกีฬาระดับอาชีพสามารถตรวจ FIT FOR PERFORMANCE PROGRAM โปรแกรมตรวจและทดสอบร่างกายนักกีฬาตามคำแนะนำของ FIFA Pre – Competition Medical Assessment (FIFA PCMA) ครอบคลุมการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การตรวจทางกระดูกกล้ามเนื้อ การตรวจเลือดและเอกซเรย์ปอด รวมทั้งการตรวจร่างกายระบบหัวใจและหลอดเลือดกับแพทย์เฉพาะทาง ค้นหาความเสี่ยง เตรียมความพร้อมก่อนแมตช์แข่งขัน 


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์