เล่นฟุตบอล สุขภาพดีฟิตไปอีกนาน

3 นาทีในการอ่าน
เล่นฟุตบอล สุขภาพดีฟิตไปอีกนาน

แชร์

หลายคนคงเคยชินกับการแนะนำเรื่องการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 20 – 60 นาที ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การขี่จักรยานอยู่กับที่ หรือการปั่นจักรยานมือ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร


FIFA เคยลงบทความเรื่องการเล่นฟุตบอลมีผลต่อสุขภาพได้ดีเท่ากับการออกกำลังกายอื่น ๆ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน แต่ที่มีดีมากกว่า คือ มีความสุข สนุกสนานกับการเล่นเป็นทีม มีการศึกษาวิจัยในผู้ที่เล่นฟุตบอลในร่ม 5 คน ที่ไม่ใช่นักฟุตบอลอาชีพ โดยให้เล่นฟุตบอล 30 นาทีพบว่า ในระหว่างการเล่นฟุตบอลนั้น 90% ของการเล่น (เท่ากับ 27 นาที) ระดับการทำงานของหัวใจจะเพิ่มขึ้นถึง 70% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดของนักฟุตบอลเหล่านั้น ซึ่งจะมีผลต่อความฟิตของหัวใจ ปอด และการไหลเวียนโลหิต ดีพอ ๆ กับการออกกำลังกายอื่น ๆ ที่แนะนำกัน และพบว่าไม่ว่านักฟุตบอลจะเล่นตำแหน่งใด ทุก ๆ 15 นาที สามารถใช้พลังงานออกไปประมาณ 110 – 200 กิโลแคลอรี่ ซึ่งดีพอ ๆ กับการวิ่งจ็อกกิงและการเล่นสกี และดีกว่าผู้ที่เล่นกีฬาเทนนิสเสียอีก


นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ผู้ที่มีน้ำหนักปกติ แต่ไม่ออกกำลังกายเลย จะมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็น 3 เท่าของผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังจะได้ประโยชน์อีกมากมายที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พิสูจน์ได้ว่า เกิดผลทั้งในด้านการป้องกันโรคและการรักษาโรคบางอย่างไปพร้อมกัน


ฟุตบอลป้องกันโรค

การทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ออกกำลังกาย มีความแข็งแรงมากขึ้น ถ้าเป็นกล้ามเนื้อขาจะช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเข่ามีการบาดเจ็บ หรืออักเสบจากอุบัติเหตุได้โดยง่าย ถ้าเป็นกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อศอก ข้อไหล่ ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเอ็นรอบ ๆ ข้อเหล่านั้นได้ยากขึ้น และหากเป็นกล้ามเนื้อส่วนหลังหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง ก็จะช่วยป้องกันโรคปวดหลังจากกล้ามเนื้ออักเสบ หรือ อาการเคล็ดขัดยอก จากความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และเอ็นบริเวณแผ่นหลังไม่ค่อยดี


นอกจากนี้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่แข็งแรงขึ้นโดยรวมจะมีผลทำให้ป้องกันการหกล้มหรือข้อเท้าพลิก ซึ่งพบได้บ่อย ๆ ในคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะจะทำให้ร่างกายส่วนต่าง ๆ ไม่สมดุลเวลาเคลื่อนไหว

  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน การออกกำลังกายจะทำให้มีการยืดหดของกล้ามเนื้อ มีแรงกระทำไปที่กระดูกส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ทำให้แคลเซียมที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกมีจำนวนลดลง เหมือนเช่นคนที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย อย่างเช่น ผู้ที่เป็นอัมพาต ซึ่งจะทำให้กระดูกบางลงเรื่อยๆ

  • ป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือด เพราะหลอดเลือดในผู้ที่ออกกำลังกายจะมีความยืดหยุ่นดี มีโอกาสเกิดหลอดเลือดแข็งตีบตันได้น้อย ไขมันในเลือดก็ลดลงจากการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่ตีบตัน โอกาสที่ท่านจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็ลดน้อยลง โอกาสที่จะเกิดโรคสมองขาดเลือด หรือ Stroke ก็จะน้อยลง การเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร หรือการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตก็น้อยลง

  • ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง เพราะหลอดเลือดแดงไม่ตีบตันง่าย ยืดหยุ่นได้ดีขึ้น ไม่แข็งตัวไปตามอายุที่มากขึ้น เวลาหัวใจเต้นบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ก็จะไม่มีแรงต้านกลับมาก ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

  • ป้องกันโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และเต้านม มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ในผู้ที่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะพบสถิติการเกิดมะเร็งเหล่านี้น้อยกว่ากลุ่มผู้ไม่ออกกำลังกาย

  • ป้องกันโรคซึมเศร้า อ่อนเพลียง่าย เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น จะทำให้สุขภาพกายโดยรวมดีขึ้น ออกกำลังกายมีฮอร์โมนหลั่งออกมา ทำให้สมองปลอดโปร่ง ร่างกายมีความสุขมากขึ้น

  • ป้องกันโรคอ้วน โดยการทำให้ไขมันส่วนเกินลดลง การออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จะช่วยกำจัดไขมันออกจากส่วนเกินบริเวณรอบ ๆ เอว

 

ประโยชน์ในการรักษาโรค

  • โรคหืดหอบ มีหลักฐานแน่ชัดว่า ผู้ป่วยโรคหืดหอบจะดีขึ้นได้จากการออกกำลังกาย

  • โรคเบาหวาน มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้วิธีการควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ระดับน้ำตาลลงมาสู่ปกติเหมือนคนทั่วไปจนไม่ต้องฉีดยาอินซูลินหรือกินยาลดระดับน้ำตาล หรือถ้าต้องใช้ก็เป็นจำนวนที่น้อยลง

  • โรคความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายจะช่วยให้หลอดเลือดแดงมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ความดันโลหิตลดลงได้ พร้อมกับทำให้ชีพจรหรือหัวใจเต้นช้าลง ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ดีขึ้น

  • โรคถุงลมโป่งพอง เหนื่อยง่าย การออกกำลังกายช่วยให้การทำงานของระบบหัวใจ การไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจดีขึ้น

  • โรคไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายจะช่วยลดปริมาณไขมันเลว (LDL) และเพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) ให้มากขึ้น

 

การออกกำลังกายด้วยการเล่นฟุตบอลได้ทั้งสุขภาพกายที่ดีและมีความสุขสนุกสนานไปพร้อมกัน แต่โปรดอย่าลืมการปฏิบัติอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย คือ อย่าอ้วน รู้จักเลือกอาหาร อย่ารับสารอันตรายเข้าร่างกาย อย่าอดนอน เช็กสุขภาพเป็นประจำ ฉีดวัคซีนสำหรับโรคที่ป้องกันได้ และอารมณ์ดีสม่ำเสมอ

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์