เกิดอะไรขึ้นเมื่อไขมันพอกตับ

2 นาทีในการอ่าน
เกิดอะไรขึ้นเมื่อไขมันพอกตับ

แชร์

รู้จักภาวะไขมันพอกตับ

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ Triglyceride ในเซลล์ตับ กล่าวคือมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายมากเกินความต้องการจนตับนำไปสร้างเป็นไขมัน (Lipogenesis)

ในคนปกติระดับน้ำตาลจะถูกควบคุมโดยอินซูลิน (Insulin) ซึ่งผลิตมาจากตับอ่อน (Pancreas) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น โดยอินซูลินจะออกฤทธิ์ที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมันเพื่อให้ใช้น้ำตาล

ในภาวะที่ดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ (Genetic Predisposition) หรือจากพฤติกรรม (Imbalance Lifestyle) การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมากเกินไป (High Carbohydrate and High Fat Diet) จะทำให้เซลล์ต่าง ๆ ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เมื่อภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ตับมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคนี้ไม่มีน้ำตาลไหนจะอันตรายไปกว่า High Fructose Corn Syrup ที่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนำมาใช้ปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปทั้งหลายอันเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ

 


รู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังมีไขมันพอกตับ

  1. เจาะเลือดดูการทำงานของตับ (Liver Function Test) ว่ามีค่าการอักเสบ (Inflammation) สูงกว่าปกติหรือไม่ ในคนที่มีภาวะไขมันพอกตับอาจพบระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติร่วมด้วย
  2. การตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณช่องท้องจะพบว่าตับอาจมีขนาดโตขึ้นและมีลักษณะขาวขึ้นเมื่อเทียบกับไตและม้าม
  3. การตรวจวัดไขมันพอกตับจากการ Scan ด้วยเครื่อง (Dexa Scan Whole Body)
  4. Fibroscan เป็นการตรวจความยืดหยุ่นพร้อมกับประเมินไขมันสะสมภายในเนื้อตับเพื่อสำรวจความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการมีไขมันไปพอก

 

ป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

  • ลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหาร​ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง (High Fat) เช่น นม เนย ไอศกรีม เค้ก ชีส กะทิ อาหารทะเล ไข่แดง และเนื่องจาก Triglyceride เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไปด้วยเช่นกัน  
  • เพิ่มผักผลไม้สด ถั่ว และธัญพืชที่มีเมล็ด เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน (Sunflower Seed) เมล็ด ฟักทอง (Pumpkin Seed) งา (Sesame Seed) นอกจากนี้การรับประทานผักบางชนิดยังสามารถช่วยเร่งกระบวนการกำจัดพิษออกจากตับ (Detoxification) ได้ เช่น ผักตระกูลบรอกโคลี กะหล่ำ กระเทียม และหัวหอม
  • แนะนำให้รับประทานเนื้อที่ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา
  • เน้นทานไขมันที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น น้ำมันมะกอก (Olive Oil) อะโวคาโด (Avocado) น้ำมันปลาโอเมก้า3 (Omega 3 Fish Oil)
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • สมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิดทำหน้าที่ช่วยขับสารพิษออกจากตับได้ เช่น Milk Thistle,  Alpha Lipoic Acid (ALA), N-Acetyl-l-Cysteine (NAC)/NAC เป็นสารตั้งต้นของ Glutathione ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยขับพิษออกจากตับ นอกจากนี้ Vitamin B และแมกนีเซียม (Magnesium) ยังมีคุณสมบัติในการช่วยเยียวยาและกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหายอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

ข้อมูล:
  • ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย Royal Life Anti-Aging Center โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • สมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วนกรุงเทพ (BARSO)
  • ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ 

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์