ภูมิแพ้ขึ้นตา คัน เคือง อันตรายกว่าที่คิด

2 นาทีในการอ่าน
ภูมิแพ้ขึ้นตา คัน เคือง อันตรายกว่าที่คิด

แชร์

หลายคนอาจคิดว่าโรคภูมิแพ้ขึ้นตาไม่ร้ายแรง เพราะเมื่อเกิดอาการคัน เคือง บวมจากสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ เมื่อทานยาหรือหยอดตา อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะหายไป ทั้งที่แท้จริงแล้วหากขาดการรักษาที่ถูกต้องในระยะยาว อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่คาดไม่ถึงได้

 

รู้จักโรคภูมิแพ้ขึ้นตา

โรคภูมิแพ้ขึ้นตา (Allergic Conjunctivitis) เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้ โดยมักเกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุตาขาว สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. แพ้ตามฤดูกาล อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตามสภาพอากาศ มักเกิดซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาเดิมของแต่ละเดือน
  2. แพ้สารต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น อาหาร เกสรดอกไม้ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขนตุ๊กตา เครื่องสำอาง ขนสัตว์ เป็นต้น
  3. แพ้คอนแทคเลนส์ มักเจอเม็ดขนาดใหญ่ที่บริเวณเยื่อบุตา จึงต้องตรวจพื้นผิวเยื่อบุตาอย่างละเอียด

 

อาการที่พบ

  • คัน
  • เคืองตา
  • แสบตา
  • น้ำตาไหล
  • เยื่อบุตาแดง
  • ไวต่อการรับแสง

 

การตรวจวินิจฉัย

จักษุแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและความผิดปกติของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยอาการของภูมิแพ้ขึ้นตาจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นกับความรุนแรงของการอักเสบในแต่ละครั้ง โดยจักษุแพทย์จะพิจารณาจากเยื่อบุตา หากรุนแรงมากตาจะแดงมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจพบอาการตาแดงเฉพาะที่เยื่อบุตาขาวที่อักเสบ หรือหากเป็นมากจะมีเม็ดนูน ๆ ไปกดกระจกตาดำ ทำให้กระจกตาดำเป็นแผล ซึ่งรักษาค่อนข้างยาก และในบางรายมีการอักเสบลามเข้ามาที่ตาดำซึ่งถือว่ารุนแรงมาก เรียกว่ามีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ส่งผลให้ทำการรักษาได้ยาก และอาจตาบอดได้

 

รักษาภูมิแพ้ขึ้นตา

วิธีการรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา จักษุแพทย์ต้องทราบสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงได้ถ้ารู้ว่าตนเองแพ้อะไร แต่ถ้าไม่รู้จะยากในการเลี่ยง และสิ่งที่แพ้บางอย่างก็ยากจะเลี่ยง เช่น อากาศ ไรฝุ่น
  2. การรักษาทางจักษุ เพื่อยับยั้งอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อน หากมีอาการภูมิแพ้ขึ้นตา จักษุแพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการอักเสบ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 
    – กลุ่มยาสเตียรอยด์ ข้อดีคือช่วยลดการอักเสบได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ดังนั้นจักษุแพทย์จึงมักใช้ช่วงแรกในเวลาไม่นาน 
    – กลุ่มยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ แต่ไม่เท่ากลุ่มยาสเตียรอยด์ ข้อดีคือไม่มีโรคแทรกซ้อน หยอดติดต่อกันได้นาน และทำให้เยื่อบุตาแข็งแรง ทนต่อสิ่งที่แพ้ได้มากขึ้น

 

ป้องกันได้ถ้ารู้ทัน

แน่นอนว่าการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ คือการป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากเป็นภูมิแพ้ขึ้นตา สิ่งที่ช่วยให้อาการไม่แย่ลงคือ การดูแลดวงตาไม่ให้ตกอยู่ในภาวะตาแห้ง เพราะเมื่อตาแห้งแล้วเกิดการแพ้ จะทำให้คันมากจนอาจเผลอไปขยี้ตา เพิ่มการอักเสบให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่ค่อนข้างควบคุมยาก พ่อแม่ต้องคอยดูแลใกล้ชิดเพื่อช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นและหมั่นสังเกตความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

ความรุนแรงของโรค

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้ขึ้นตาบ่อยครั้ง อาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบแบบเรื้อรัง เนื่องจากอาการคันตา เคืองตาบ่อย ๆ ทำให้ต้องรักษาโดยการหยอดตา เมื่อต้องหยอดตาโดยใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคต้อหินมากขึ้น

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์