หย่อนสมรรถภาพทางเพศรักษาได้

2 นาทีในการอ่าน
หย่อนสมรรถภาพทางเพศรักษาได้

แชร์

ปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปัจจุบันสามารถรักษาหลายวิธีตามความเหมาะสมและความต้องการของคนไข้แต่ละคน

 

วิธีรักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. การให้คำแนะนำปรึกษา เข้าใจเหตุและผลของปัญหา การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

  2. การใช้ยา ปัจจุบันมียากินที่รักษาโรคนี้ได้ผลดีพอควร กินง่าย ไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อน แต่ก็มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้บางประการจึงควรใช้เมื่อจำเป็นและอย่างถูกต้องภายใต้การดูแลและแนะนำของแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยารับประทานชนิดที่มีฮอร์โมนเพศชาย หรือ “เทสโทสเตอโรน” เสริมเข้าไปก่อน สำหรับคนไข้กลุ่มที่อายุยังไม่ถึง 50 ปี แต่ถ้ายังไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาช่วยเรื่องการแข็งตัวขององคชาตเพิ่มเข้าไป แต่ในคนไข้ที่อายุตั้งแต่ 50 – 60 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ฮอร์โมนเพศชายต่ำ มีเส้นเลือดตีบและเส้นประสาทเสื่อม แพทย์จะให้ทั้งฮอร์โมนเพศชายและยาช่วยเรื่องการแข็งตัวไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งยารับประทานนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างต่ำ คือ มีอาการปวดศีรษะและร้อนวูบวาบบ้าง โดยใช้ 1 เม็ดต่อการมีเซ็กส์ 1 ครั้ง ที่สำคัญห้ามรับประทานยาชนิดนี้ร่วมกับกลุ่มยาสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด หรือยากลุ่มไนเตรท เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

  3. ปั๊มสุญญากาศ เป็นกระบอกพลาสติกสวมครอบอวัยวะเพศ เมื่อดูดลมในกระบอกออกจนเป็นสูญญากาศ เลือดจะวิ่งเข้ามาในอวัยวะเพศแทน ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ แต่จะให้คงแข็งใช้งานต่อไปได้ หลังเอากระบอกออกต้องใช้ยางรัดที่โคนอวัยวะเพศเพื่อกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้ยา และได้ผลกว้างขวางไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด

  4. ยาฉีด ใช้หลอดและเข็มเล็ก ๆ เหมือนที่ใช้ฉีดอินซูลินในคนไข้เบาหวาน โดยฉีดเข้าที่อวัยวะเพศโดยตรง ยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดที่อวัยวะเพศขยายตัว และแข็งได้นานครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ข้อดีคือประสิทธิภาพสูง ข้อเสียคืออาจมีภาวะแทรกซ้อนได้

  5. ยาสอด ตัวยาเช่นเดียวกับยาฉีด แต่ใช้สอดเม็ดยาเล็ก ๆ เข้าทางท่อปัสสาวะ หลังจากคลึงอวัยวะเพศประมาณ 5 – 10 นาที ยาจะซึมเข้าไปในอวัยวะเพศและทำให้แข็งตัวขึ้นมาได้

  6. การผ่าตัดแก้ไขเส้นเลือดแดงหรือดำที่มีปัญหา วิธีเหล่านี้ได้ผลน้อย จึงทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น

  7. การใส่แกนอวัยวะเพศเทียม เป็นวิธีสุดท้าย เมื่อใช้อย่างอื่นไม่ได้ผลแล้ว แกนอวัยวะเพศเทียมค่อนข้างแพงมาก และศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะบางคนเท่านั้นที่สามารถทำผ่าตัดชนิดนี้ได้


ป้องกันเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (ED) สามารถทำได้โดย

  1. หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ และอาหารไขมันสูง

  2. ควบคุมโรคที่เป็นอยู่แต่เนิ่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

  3. บำรุงร่างกายและจิตใจให้ผ่องใส แข็งแรง

  4. รักษาชีวิตครอบครัวให้เป็นสุข 


รู้ทันยาไวอากร้า

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาไวอากร้า (VIAGRA) ได้แก่

  1. ใช้เฉพาะชายที่มีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศเท่านั้น 

  2. ยานี้ได้ผลประมาณ 7 ใน 10 คน และไม่ช่วยให้พลังทางเพศสูงขึ้น

  3. ต้องใช้ให้ถูกวิธี เพราะมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้ คนที่กินยากลุ่มไนเตรต เช่น ไอซอดิล (Isordil) ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) ห้ามใช้ยานี้เด็ดขาด 

  4. กินครั้งละ 1 เม็ด ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ ยาจะออกฤทธิ์ได้เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศเท่านั้น และจะใช้งานได้นานประมาณ 30 นาที

  5. กำจัดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ เสริมสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความรักความผูกผันในครอบครัว จะทำให้ประสิทธิภาพของยาดีขึ้น และมีโอกาสเลิกหรือลดยาได้ในที่สุด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 15.00 น.

แชร์