หย่อนสมรรถภาพทางเพศ แก้ความเสื่อมก่อนไร้อารมณ์

5 นาทีในการอ่าน
หย่อนสมรรถภาพทางเพศ แก้ความเสื่อมก่อนไร้อารมณ์

แชร์

จากการสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในชายไทยทั่วประเทศ อายุ 40 – 70 ปี จำนวน 1,250 ราย พบว่า มีชายไทยมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศร้อยละ 43 โดยมีอาการตั้งแต่น้อย ๆ คือร่วมเพศไม่สำเร็จแค่บางครั้ง จนถึงไม่สามารถที่จะร่วมเพศได้เลย ส่วนการสำรวจในสหรัฐอเมริการายงานไว้ถึงร้อยละ 52 และมีการคาดการณ์ว่า จำนวนเพศชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศจะเพิ่มเป็น 170 ล้านคน ในปี 2568 เพราะฉะนั้นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

 

รู้ทันปัญหาคุณผู้ชาย

อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวและ/หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทราบว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากสาเหตุใด จะให้การรักษาได้อย่างไร จะต้องเข้าใจกลไกการแข็งตัวขององคชาตก่อน        

การแข็งตัวขององคชาตมีด้วยกัน 3 กลไก ได้แก่

  1. การแข็งตัวเวลานอนหลับ (Nocturnal Erection) เวลานอนหลับองคชาตจะมีการแข็งตัวคืนละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที
  2. การแข็งตัวจากจิตใจ (Psychogenic Erection) เมื่อมีความต้องการทางเพศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้น คำสั่งจะส่งจากสมองมายังแกนสมองส่วนที่เรียกว่า พาราเวนทริคูลาร์นิวเคลียสที่อยู่บริเวณไฮโปทาลามัส จากนั้นคำสั่งจะผ่านไขสันหลังลงมายังศูนย์กลางการแข็งตัวขององคชาตบริเวณไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและผ่านเส้นประสาทคาร์เวอนัส (Cavernous Nerve) ที่มากระตุ้นให้เส้นเลือดในองคชาตมีการขยายตัว เลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้องคชาตแข็งตัว
  3. การแข็งตัวจากรีเฟล็กซ์ (Reflexogenic Erection) เมื่อมีการกระตุ้นหรือสัมผัสบริเวณองคชาตก็จะมีสัญญาณผ่านจากเส้นประสาทที่องคชาต (Dorsal Nerve) ไปยังศูนย์กลางการแข็งตัวที่ไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและส่งสัญญาณกลับมายังองคชาต (Cavernous Nerve)


องคชาตประกอบไปด้วยแกน 3 แกนด้วยกัน การแข็งตัวขององคชาตจะต้องอาศัยแกนใหญ่ 2 แกนที่เรียกว่า คอร์ปัส คาเวอร์โนซั่ม (Corpus Cavernosum) ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อร่างแหคล้ายฟองน้ำ (Sinusoid) ซึ่งร่างแหเหล่านี้ก็คือเส้นเลือดแดงฝอยขององคชาตนั่นเอง  

เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการกระตุ้นผ่านสิ่งเร้าที่สมองส่วนที่เรียกว่า Paraventricular Nucleus (PVN) ซึ่งอยู่ในบริเวณก้านสมองส่วนที่เรียกว่า Hypothalamus เรียกกลไกนี้ว่า การแข็งตัวจากการกระตุ้นทางจิตใจ (Psychogenic Erection) ซึ่งระบบประสาทที่รับการกระตุ้นส่วนใหญ่จะเป็นชนิด Dopamine Receptor ชนิดที่ 2 จากนั้นคำสั่งจะผ่านมาทางไขสันหลังจนถึงไขสันหลังบริเวณก้นกบที่ระดับ 2 – 4 ซึ่งจะรวมกันเป็นปมประสาทที่เรียกว่า Sacral Plexus และแตกแขนงเป็นเส้นประสาท Cavernous (Cavernous Nerve) ไปยังองคชาต ทำให้มีการพองตัวของเส้นเลือดที่เป็นร่างแหคล้าย ๆ ฟองน้ำนี้เต็มที่ ก็จะกดเส้นเลือดดำที่ไหลออกจากองคชาต ทำให้เลือดไหลออกจากองคชาตได้น้อยมาก องคชาตก็จะแข็งตัวเต็มที่

photo

สาเหตุบอกโรค

ความผิดปกติที่กลไกใด ๆ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ อันได้แก่

  1. ความล้มเหลวในการเริ่มต้น (Failure to Initiate) อันมีสาเหตุจากปัญหาทางจิตใจ เนื้อเยื่อประสาท และฮอร์โมน
  2. ความล้มเหลวในการแข็งตัว (Failure to Fill) เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดแดง
  3. ความล้มเหลวในการคงการแข็งตัวไว้ (Failure to Store) จากความผิดปกติของเส้นเลือดดำ ทำให้เกิด Venous Leakage  

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุด้านร่างกาย (Organic) สาเหตุด้านจิตใจ (Psychogenic) และทั้งสองสาเหตุร่วมกัน (Mixed ED) คิดเป็นร้อยละ 70, 11 และ 18 ตามลำดับ  สำหรับสาเหตุทางร่างกายนั้น ที่พบบ่อยมักจะเกิดจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) เส้นโลหิตแข็งตัว (Atherosclerosis) จากอายุที่มากขึ้นหรือไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)  นอกจากนี้พบได้ในรายที่มีการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การผ่าตัดกระดูกเชิงกราน หรือการฉายรังสี การผ่าตัดต่อมลูกหมาก และ Multiple Sclerosis เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มสุราจัด การสูบบุหรี่ และจากยาหลาย ๆ ชนิด

photo

รักษาได้อย่าละเลย

ในอดีตการรักษาจะเริ่มมาจากการใช้ปั๊มสูญญากาศเพื่อดูดเลือดเข้ามาในองคชาตแล้วใช้ยางรัดที่โคนองคชาตไว้ แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะการรัดจะทำให้รู้สึกชา ไม่เป็นธรรมชาติ และการหลั่งน้ำอสุจิจะไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากยางที่รัดอยู่ ในยุคต่อมาจะทำการรักษาโดยการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียมเข้าไป ซึ่งมีทั้งแบบเป็นแท่งแข็งตัวตลอดเวลา จนมาถึงรุ่นปัจจุบันที่มีปั๊มน้ำซ่อนไว้ที่ท้องน้อย เวลาใช้จึงปั๊มให้น้ำไหลเข้ามาในแกนองคชาตเทียม ทำให้องคชาตมีการแข็งตัว เมื่อเลิกใช้ก็ใช้มือกดปุ่มเพื่อให้น้ำออก องคชาตก็จะอ่อนตัวลงได้ แม้ว่ามีราคาแพง แต่ผลการผ่าตัดคนไข้มีความพึงพอใจมาก ในยุค 10 ปีก่อนนี้เริ่มมีการนำยาฉีดเข้าที่องคชาตมาใช้ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก แต่เนื่องจากคนไข้จะต้องฉีดยาเข้าที่องคชาตตัวเอง ทำให้กลัวและหลาย ๆ รายมีอาการปวดที่องคชาตภายหลังฉีดเป็นเวลานานจึงไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นกัน การรักษาจึงพัฒนามาเป็นยาสอดเข้าที่ท่อปัสสาวะ แต่มีอาการปวดที่องคชาตได้บ่อยเช่นเดียวกับยาฉีด

photo

การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศนี้มาโด่งดังกันมากเมื่อมีการค้นพบการรักษาที่ง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพคือ การรับประทานยากลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ Phosphodiesterase-5 (PDE-5 inhibitor) เนื่องจากการกระตุ้นให้องคชาตแข็งตัวนั้น เส้นประสาทในองคชาตจะมีการปล่อยสาร “ไนตริกออกไซด์” ออกมากระตุ้นให้มีการสร้างสารไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ Sinusoid ในองคชาต ทำให้องคชาตแข็งตัวดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สาร cGMP นี้จะถูกทำลายโดยเอ็นไซม์  PDE-5 ดังนั้นการรับประทานยากลุ่ม PDE-5 inhibitor ก็จะช่วยชดเชยให้การแข็งตัวขององคชาตดีขึ้น โดยยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) และที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยอีกหลายชนิด เช่น ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) โดยให้ทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้จะคล้าย ๆ กันคือ ทำให้ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบประมาณร้อยละ 10 – 15 เนื่องจากทำให้เส้นเลือดขยายตัว แต่ไม่รุนแรงและเป็นอยู่เพียงชั่วคราว

อย่างไรก็ตามแม้ว่ายากลุ่ม PDE-5 inhibitor จะมีผลการรักษาที่ดีมาก แต่ก็มีข้อห้ามที่สำคัญมากคือ ห้ามใช้ในคนไข้ที่รับประทานยากลุ่มไนเตรต เช่น isosorbide, ISMO และ ยากลุ่มไนโตรกลีเซอรีนทุก ๆ ชนิด ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนไข้หัวใจขาดเลือด ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 15 ของคนไข้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเลยทีเดียว เนื่องจากการรับประทานยากลุ่มไนเตรตจะทำให้ระดับของสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งปกติมีอยู่น้อยมากในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติมาก ดังนั้นเมื่อทานยากลุ่ม PDE-5 inhibitor เข้าไป ก็จะทำให้ระดับของไซคลิกจีเอ็มพีมากกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและความดันโลหิตลดลงได้ถึง 30 – 40 มม.ปรอท จึงเป็นอันตรายแก่ผู้ที่รับประทานยาทั้งสองชนิดนี้พร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นในคนไข้กลุ่มนี้จึงมีข้อห้ามในการใช้ยากลุ่ม PDE-5 inhibitor

photo

เลือกรักษาให้เหมาะสม

ปัจจุบันแพทย์จะอธิบายวิธีการรักษาแต่ละชนิดให้คนไข้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย จากนั้นคนไข้จะตัดสินใจเองว่าชอบวิธีใด คนไข้ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีง่าย ๆ ราคาเหมาะสม และไม่มีข้อห้ามในการใช้ จึงมักจะเลือกใช้ยารับประทานหรืออมใต้ลิ้น เมื่อไม่ได้ผลจึงทดลองวิธีต่อไป เช่น ยาสอดทางท่อปัสสาวะและการใช้ปั๊มสูญญากาศและจะทำการตรวจเลือดง่าย ๆ เพื่อเช็กเบาหวาน ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต ซึ่งอาจจะมีผลต่อขนาดของยาที่ให้

ในรายที่ไม่ได้ผลจากวิธีง่าย ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะใช้ยาฉีดเข้าโคนองคชาต เพื่อทดสอบดูสภาวะของเส้นเลือดและการตอบสนองต่อยาฉีด ในรายที่ได้ผลและไม่กลัวการฉีดยาเข้าตนเองก็จะเลือกวิธีนี้ แต่ในรายที่ไม่ได้ผลหรือไม่ชอบใจ ก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม ส่วนวิธีการผ่าตัดต่อเส้นเลือดที่ตีบจะเลือกใช้ในคนอายุน้อยที่เส้นเลือดตีบจากอุบัติเหตุและไม่เป็นเบาหวานชนิดที่ต้องใช้ยาฉีด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ภายหลังจากที่ไม่ได้ผลด้วยการรักษาง่าย ๆ นี้จะต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีพิเศษขึ้นกับวิธีการรักษานั้น ๆ

คนไข้ที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทุกราย หากคนไข้และคู่สมรสไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามคนไข้ที่มีปัญหานี้เป็นข้อบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนั้นแม้ว่าไม่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ควรจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพ


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 15.00 น.

แชร์