อายุขึ้นเลข 3 อย่าเสี่ยงกับซีสต์รังไข่
2 นาทีในการอ่าน
แชร์
ปัญหามีบุตรยากยังคงเป็นปัญหาชีวิตคู่ที่มีมาทุกยุคสมัย โดยมีสาเหตุได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศหญิงจะพบค่อนข้างมากกว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความผิดปกติของรังไข่ อย่างช็อกโกแลตซีสต์ โรคถุงน้ำรังไข่ รวมถึงความผิดปกติของมดลูกอย่างเนื้องอกมดลูก ซึ่งควรต้องรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรตามที่ตั้งใจ
ต้นเหตุของการมีบุตรยาก
องค์ประกอบในการมีบุตรประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- ไข่ หากรังไข่ทำงานไม่สมบูรณ์ ไข่ไม่ตก ไข่ทำงานไม่มีคุณภาพส่งผลให้มีบุตรยาก
- สเปิร์ม หากสเปิร์มมีจำนวนน้อย ไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้
- มดลูก หากพบความผิดปกติของมดลูก มีเนื้องอกมดลูกย่อมส่งผลให้มีบุตรยาก
จะเห็นได้ว่าผู้หญิงรับผิดชอบเรื่องการมีบุตรมากกว่าผู้ชาย ปัญหาการมีบุตรยากจึงพบในฝ่ายหญิงมากถึง 40 – 50% ฝ่ายชาย 30% และหาสาเหตุไม่ได้ 20 – 30%
ตัวการไข่ไม่แข็งแรง
ผู้หญิงมีเซลล์ไข่จำนวนมากเก็บรักษาอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้างตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน เซลล์ไข่ใบแรกเริ่มถูกนำมาใช้เป็นรอบ ๆ ดังนั้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ไข่จึงถูกดึงมาใช้ไปเรื่อย ๆ ทำให้ปริมาณไข่ลดลงตามอายุขัย นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีส่วนสำคัญ ทำให้ไข่เสื่อมคุณภาพได้ด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่สมบูรณ์ ไข่ไม่ตก ไข่ทำงานไม่มีคุณภาพ ได้แก่
- ฮอร์โมนไม่สมดุล จากความเครียด น้ำหนักไม่ปกติ ไทรอยด์ เบาหวาน
- สูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสมีบุตรยากถึง 13% และทำให้ไข่เสื่อมเร็วไป 10 ปี
- ช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคติดเชื้อในรังไข่ ท่อนำไข่อักเสบ เป็นปัจจัยเร่งให้ไข่เสื่อมคุณภาพและหมดเร็ว ควรพบแพทย์เพื่อรีบรักษา
ช็อกโกแลตซีสต์กับภาวะมีบุตรยาก
หนึ่งในปัญหาของผู้หญิงที่มีบุตรยาก โดยเฉพาะในวัยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป พบว่า เกิดจากช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูกหรือแทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก รวมถึงเติบโตตามอวัยวะต่าง ๆ พบบ่อยที่รังไข่ มีลักษณะเป็นถุงน้ำรังไข่ที่บรรจุของเหลวคล้ายช็อกโกแลต จะใหญ่ขึ้น ๆ จากการถูกเติมเต็มในรอบเดือนแต่ละเดือน ใหญ่เร็วหรือช้าขึ้นกับหลายปัจจัย ทำให้เกิดพังผืดหนาขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการหลัก คือ ปวดประจำเดือนมากและนาน ปวดท้องน้อยเป็นประจำก่อน ระหว่าง และหลังมีประจำเดือน และมีบุตรยาก
โดยสูติ-นรีแพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยเห็นภาพรอยของโรคได้ชัดเจนจากการตรวจอัลตราซาวนด์ การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน มีทั้งการใช้ยา ฮอร์โมนรักษา และการผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นวิธีทันสมัย ช่วยให้เจ็บน้อย แผลเล็ก โอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดน้อย ฟื้นตัวไว กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
รักษาภาวะมีบุตรยาก
ปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยากมีหลายวิธีด้วยกัน โดยเบื้องต้นแพทย์ผู้ชำนาญการจะแนะนำให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตกเพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด แต่หากยังไม่ประสบความสำเร็จก็มีการใช้เทคนิคเข้ามาช่วยในการมีบุตร ได้แก่ การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง การทำกิฟท์ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอายุและสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตร เพราะหากประสบกับภาวะมีบุตรยากจากการเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในมีบุตร ยิ่งถ้าตรวจพบความผิดปกติได้โดยเร็ว ย่อมช่วยเพิ่มทางเลือกการวางแผนการมีบุตรให้เป็นไปอย่างราบรื่น
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์