ตาแห้ง โรคชวนกวนใจ

5 นาทีในการอ่าน
ตาแห้ง โรคชวนกวนใจ

แชร์

ตาแห้งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แม้อาการตาแห้งส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก่อปัญหากวนใจในการใช้ชีวิตได้ไม่น้อย และถ้าปล่อยให้ลุกลามก็อาจถึงขั้นอักเสบเรื้อรังรุนแรงจนเสี่ยงต่อการตาบอดได้ 


รู้จักชั้นต่าง
ของน้ำตา

ฟิล์มน้ำตาที่ผิว เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตามีด้วยกัน 3 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปถึงชั้นในสุด ได้แก่

  1. ชั้นไขมัน (Lipid Layer) สร้างจากต่อมไขมันที่เรียกว่า Meibomian Gland ที่อยู่ภายในเปลือกตา / หนังตา มีส่วนช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยไปอย่างรวดเร็ว
  2. ชั้นที่เป็นน้ำ (Aqueous Layer) สร้างจากต่อมน้ำตาที่เรียกว่า Lacrimal Gland ชั้นนี้เป็นส่วนประกอบส่วนกลางและส่วนหลักของน้ำตา
  3. ชั้นเมือก (Mucin Layer) สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Goblet Cell ในเยื่อบุตาและในกระจกตา เคลือบอยู่ด้านในสุดของผิวตา

การที่มีความผิดปกติของน้ำตาในแต่ละชั้นก่อให้เกิดกลุ่มอาการตาแห้งได้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน


ตาแห้ง โรคชวนกวนใจ

สัญญาณเตือนตาแห้ง

  • ระคายเคืองตา ไม่สบายตา
  • แสบตา ตาล้าง่าย
  • ตาแดง มีขี้ตาเมือก ๆ ได้
  • ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาอาจไหลมาก เพราะเคืองตา
  • ตามัว มองไม่ชัด ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
  • ลืมตายาก รู้สึกฝืด ๆ ในตา (ในตอนเช้า)

หากมีอาการเหล่านี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาโดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้นอกจากบ่งบอกว่าเป็นโรคตาแห้งแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า โรคตาแห้งอาจเป็นภาวะที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมที่ละเลยไม่ดูแลสุขภาพตาก็ได้เช่นกัน


ตัวการตาแห้ง

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดตาแห้ง ได้แก่

  1. การสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ  (Aqueous Tear Deficiency) ในกลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่
    • กลุ่มโรค Sjogren’s Syndrome อาจเกิดจากกลุ่มโรคข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือไม่พบสาเหตุ(Primary Sjogren’s Syndrome)
    • กลุ่มที่ไม่ใช่ Sjogren’s Syndrome เช่น ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ แพ้ยารุนแรง การอักเสบจนท่อน้ำตาจากต่อมน้ำตาตัน หรือการที่มีกระจกตาอักเสบ มีการรับรู้ผิดปกติ การใส่คอนแทคเลนส์นาน ๆ ทำให้การกระตุ้นน้ำตาตามธรรมชาติผิดไปจากเดิม โดยโรคเหล่านี้ส่งผลให้ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติจึงผลิตน้ำตาน้อยและตาแห้ง 
    • ฮอร์โมนต่าง ที่เปลี่ยนแปลง มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกายผลิตน้ำได้น้อยลง รวมทั้งสารคัดหลั่งต่าง ๆ 
    • การใช้ยาบางประเภทที่ส่งผลให้ตาแห้ง เพราะมีส่วนผสมของสารกันเสีย ถ้าใช้หลายชนิดอาจทำให้ตาแห้งได้มากขึ้น เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต ยาคลายเครียดบางชนิด ฯลฯ 
  2. การที่น้ำตาระเหยเร็วหรือมีคุณสมบัติผิดปกติ (Evaporative Dry Eyes) ได้แก่
    • กลุ่มต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติหรืออุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction) เปลือกตาอักเสบ เมื่อชั้นไขมันเกิดความผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยเร็ว 
    • กลุ่มที่มีความผิดปกติของเปลือกตา เช่น การปิดตาไม่สนิท การกะพริบตาน้อยผิดปกติ ฯลฯ
    • ภาวะหลังจากโดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาจนอาจเกิดแผลเป็น ทำให้การสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตามีปัญหา
    • การใช้สายตามากเกินไป พบมากในวัยทำงาน จากการใช้งานคอมพิวเตอร์และสวมคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นตัวการดูดน้ำออกจากลูกตา ทำให้ตาแห้ง เมื่อรวมกับพฤติกรรมชอบจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา ทำให้กระตุ้นน้ำตาออกมาน้อยและระเหยเร็ว

ตาแห้ง โรคชวนกวนใจ


รักษาตามสาเหตุ

การรักษาตาแห้งจักษุแพทย์จะพิจารณาที่สาเหตุเป็นหลักซึ่งบางครั้งอาจมาจากหลายปัจจัยได้แก่

  • ถ้าเกิดจากโรคหรือยาหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ผลิตน้ำตาน้อย เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้อ ต้องรักษาและคุมโรคต้นเหตุ เมื่อโรคที่เป็นต้นเหตุดีขึ้นหรือหาย ปรับหรือกำจัดปัจจัยที่ทำให้การผลิตน้ำตาลดลงได้ หรือลดการใช้ยาต่าง ๆ ที่ทำให้มีการสร้างน้ำตาน้อยลง อาการตาแห้งจะดีขึ้นตามลำดับ 
  • ในกรณีที่เกิดจากน้ำตาระเหยเร็วก็ต้องรักษาเปลือกตาให้หายอักเสบ เริ่มด้วยการประคบอุ่น ทำความสะอาดเปลือกตา เพื่อลดการอุดตันของต่อมไขมันเปลือกตา 
  • ปรับพฤติกรรมในการใช้งาน ปรับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป่าผมไม่ให้ใกล้ตา หลีกเลี่ยงการใช้พัดลม หรืออยู่ในห้องแอร์นาน ๆ หากจำเป็นต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรจัดโต๊ะและเครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการใช้แว่นตาที่เหมาะสม และพักสายตาเป็นระยะ

วิธีการและยาที่ใช้ในการรักษา

ยาและวิธีการต่างๆที่ใช้ในการรักษาตาแห้งได้แก่

  1. น้ำตาเทียม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา ซึ่งมี 2 ประเภทหลักคือ 
    • กลุ่มที่มีสารกันเสีย ควรใช้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง อาจแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เหมาะกับอาการตาแห้งไม่รุนแรง สารกันเสียที่ใช้มีหลายประเภท บางประเภทสลายไปเมื่อโดนตาหรือโดนแสง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้บ่อย ๆ กว่า 4 ครั้งต่อวันได้เป็นบางช่วง แต่ถ้าตาแห้งมากต้องใช้บ่อย ๆ ตลอดทุกวัน แพทย์มักแนะนำใช้กลุ่มไม่มีสารกันเสีย
    • กลุ่มที่ไม่มีสารกันเสีย มักเป็นหลอดเล็ก ๆ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือเป็นขวดที่เป็นลักษณะมีระบบวาล์วพิเศษที่ใช้ได้นาน 6 เดือน กลุ่มนี้ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1 – 2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่ตาแห้งรุนแรงมาก แต่คนตาแห้งทั่วไปก็ใช้ได้เช่นกัน
      อย่างไรก็ตามน้ำตาเทียมมีหลายรูปแบบทั้งแบบน้ำใสไม่ทำให้ตามัวนักใช้หยอดกลางวันซึ่งความเข้มข้นมีหลากหลายให้เลือกตามความรุนแรงและแบบเจลที่ใช้ป้ายก่อนนอนหรือกลุ่มขี้ผึ้งที่มีความเหนียวกรณีต้องการคงความชุ่มชื้นนานในตอนกลางคืน
  2. ยากระตุ้นทำให้เกิดน้ำตา (Secretogogue) เช่น Diquafosol เพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำ
  3. ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ฯลฯ
  4. ยาลดการอักเสบของตากลุ่ม Steroids ช่วยลดการอักเสบของผิวตา กรณีมีการอักเสบจากตาแห้ง
  5. ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอด เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอด เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มปริมาณน้ำตา ลดอาการตาแห้ง
  6. การดูแลทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่น (Warm Compression and Lid Hygiene) อาจใช้แชมพูเด็กผสมเจือจาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตา ลดอาการต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน ทำให้ชั้นไขมันของน้ำตาดีขึ้น
  7. Autologus Serum ช่วยรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรง ลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพราะมีสารช่วยเรื่องการฟื้นตัวกลับคืนสู่ปกติของเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น โดยเจาะเลือดของผู้ป่วยไปปั่นและแยกเตรียมเป็น Serum แล้วนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม
  8. การอุดท่อระบายน้ำตา (Punctual Plug) เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตา (Punctum) ลงสู่โพรงจมูก ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery โดยการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา ซึ่งเป็นการอุดบริเวณไหลออกของน้ำตาแบบถาวรในกลุ่มที่เป็นรุนแรงมาก

ปล่อยตาแห้งเสี่ยงตาบอด

โดยทั่วไปตาแห้งมักไม่รุนแรงมาก แต่ในบางกลุ่ม เช่น คนไข้โรคข้อ โรคแพ้ภูมิตนเองชนิดรุนแรง หรือผู้ที่มีอาการแพ้ยา โดนไฟคลอก หรือโดนสารเคมีต่าง ๆ อาจส่งผลให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาทำงานผิดปกติ ตาจึงแห้งมาก คนไข้ตาแห้งบางราย มีอาการน้ำตาไหลเยอะ เพราะเกิดจากผิวตาแห้งและกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองจนอักเสบ น้ำตาจึงไหลมากเพราะเคืองตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก็อาจเกิดแผลที่กระจกตา ถ้าเป็นแผลเรื้อรังอาจทำให้กระจกตาทะลุได้ ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นตาบอด เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยอาการตาแห้งโดยเด็ดขาด


ดูแลป้องกันตาแห้งเบื้องต้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลป้องกันตาแห้งคือ การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้ถูกต้อง 

  • หยุดพักใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุก ๆ 20 นาที โดยอาจหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองไกล ๆ สัก 20 ฟุตจะทำให้สบายตามากขึ้น 
  • งดการใช้คอนแทคเลนส์ต่อเนื่อง ควรมีการหยุดพักโดยใส่แว่นสลับ
  • ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ 
  • เตือนตัวเองให้กะพริบตาให้บ่อย น้ำตาจะได้เคลือบตาอยู่เป็นระยะ ๆ 
  • หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน ลมแรง แนะนำให้สวมแว่นเพื่อกันแดดกันลม
  • กินอาหารให้ครบทุกหมู่และอาหารที่มีโอเมกา 3 (Omega 3 Fatty Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบบรรเทาอาการตาแห้งได้

เพราะตาแห้งเมื่อเป็นแล้วอาจเรื้อรังได้ หากมีอาการรุนแรงลองปรับการใช้งานสายตาแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ 


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์