การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษ

2 นาทีในการอ่าน
การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษ

แชร์

การตรวจช่องจมูกและลำคอด้วยกล้อง (Nasal Endoscope)

การตรวจช่องจมูกและลำคอด้วยกล้อง (Nasal Endoscope) เป็นการตรวจภายในช่องจมูก รวมทั้งลำคอบริเวณหลังโพรงจมูก ด้วยกล้องขนาดเล็ก โดยแพทย์และผู้ป่วยสามารถเห็นภาพจากการตรวจด้วยจอภาพความละเอียดสูงไปพร้อม ๆ กัน ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องจมูก เช่น เลือดกำเดาไหล อาการคัดจมูก หวัดเรื้อรัง รวมทั้งตรวจหาพยาธิสภาพบริเวณหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่พบว่าเป็นมะเร็งบ่อยที่สุดได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


การตรวจกล่องเสียงและหลอดลมส่วนต้นด้วยกล้อง (Fiberoptic Laryngoscope)

การตรวจกล่องเสียงและหลอดลมส่วนต้นด้วยกล้อง (Fiberoptic Laryngoscope) เป็นการตรวจบริเวณกล่องเสียงและลำคอส่วนล่างด้วยกล้องขนาดเล็ก ซึ่งบริเวณดังกล่าวมักเกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หายใจลำบาก สำลักน้ำ และอาหาร เป็นต้น


การตรวจด้วยกล้องขนาดเล็กจะทำให้สามารถให้การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยปราศจากความเจ็บปวดใด ๆ

  • การตรวจช่องหูด้วยกล้อง (Microscope) เป็นการตรวจด้วยกล้องชนิดเดียวกับที่ใช้สำหรับการผ่าตัด ซึ่งมีความคมชัดและมีความละเอียดสูง แสดงภาพเป็นแบบ 3 มิติ ทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอาการหูอื้อ การติดเชื้อในหูชั้นนอกและชั้นกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตรวจการได้ยิน (Audiogram and Tympanogram) เป็นการตรวจเพื่อประเมินสภาวะการได้ยินและตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง หูชั้นใน ในกรณีที่ท่านมีปัญหาหูอื้อ เสียงดังในหู การติดเชื้อในช่องหู อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นสมองของประสาทหู (Auditory Brainstem Response) เป็นการตรวจสัญญาณไฟฟ้าของการได้ยิน จากหูชั้นในไปยังก้านสมอง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประเมินการได้ยินของเด็กเล็ก ที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรื่องการได้ยิน หรือนำมาตรวจวิเคราะห์หาโรคเนื้องอกของประสาทหูได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ในผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน หรือมีภาวะเสียการทรงตัว ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกบริเวณดังกล่าวได้
  • อาการเจ็บคอเรื้อรัง กลืนลำบาก ก้อนในช่องปาก ลำคอ หากเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจไม่ใช่การติดเชื้อธรรมดา แต่อาจเป็นอาการระยะแรกของเนื้องอก เนื้อร้าย การตรวจโดยละเอียด รวมทั้งการตรวจพิเศษต่าง ๆ เช่น การส่องกล้อง การเอกซเรย์พิเศษ จะสามารถบอกพยาธิสภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้
  • เสียงแหบ มีสาเหตุมาจากการที่สายเสียงซึ่งอยู่ในกล่องเสียง ปิดเข้าหากันไม่สนิท ซึ่งอาจเกิดจากกล่องเสียงอักเสบ เนื้องอกบริเวณสายเสียง การตรวจด้วยกล้องขนาดเล็กเพื่อส่องตรวจบริเวณสายเสียง สามารถบอกพยาธิสภาพได้อย่างถูกต้องและปราศจากความเจ็บปวดใด ๆ ดังนั้นหากมีอาการเสียงแหบนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์
  • เสมหะปนเลือด อาจเกิดมาจากการอักเสบ หรือจากเนื้องอก เนื้อร้ายภายในช่องจมูก หลังโพรงจมูก ลำคอ กล่องเสียง รวมทั้งหลอดอาหารส่วนต้น หากมีเสมหะปนเลือดต่อเนื่องกันหลายวัน หรือมีเสมหะปนเลือดบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์หู คอ จมูก
ชั้น 2 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น
วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แชร์