เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โรคหรือไม่ใช่โรค

5 นาทีในการอ่าน
เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โรคหรือไม่ใช่โรค

แชร์

อาการหอบเหนื่อยและเจ็บหน้าอกเป็นอาการที่พบบ่อยอาการหนึ่ง ซึ่งทุกคนคงเคยมีอาการนี้มาก่อน เช่น หลังออกกำลังกาย แต่อาการเหนื่อยแบบนั้นถือว่าเป็นอาการเหนื่อยตามปกติ แม้ว่าบางคนอาจมีอาการเหนื่อยมากในขณะที่บางคนอาจเหนื่อยน้อยกว่าเมื่อออกกำลังในขนาดเดียวกันก็ตาม


อาการเหนื่อย

คนปกติต้องหายใจ เมื่อหายใจเข้าร่างกายจะนำออกซิเจนซึ่งมีอยู่ในอากาศไปให้ร่างกายใช้และเมื่อหายใจออกเพื่อนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียที่สร้างขึ้นในร่างกายออกไป การหายใจควบคุมโดยศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง ซึ่งควบคุมให้ปริมาณการหายใจเป็นสัดส่วนกับความต้องการของออกซิเจนในร่างกาย โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับรู้ (Involuntary Breathing) เมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ศูนย์ควบคุมการหายใจก็จะกระตุ้นให้หายใจเพิ่มขึ้นตาม เมื่อต้องการออกซิเจนน้อยลง ศูนย์ควบคุมการหายใจจะสั่งให้หายใจน้อยลง โดยไม่รู้สึกตัวว่าหายใจมากหรือหายใจน้อย แต่ตัวเองสามารถควบคุมการหายใจได้เช่นกัน เช่น ถ้าต้องการจะกลั้นหยุดหายใจหรือจะหายใจเร็วก็สามารถทำได้ (Voluntary Breathing) การหายใจต้องใช้พลังงานโดยมีกล้ามเนื้อช่วยการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อที่ยึดซี่โครงของทรวงอกและกระบังลมหดตัว ทำให้ทรวงอกเคลื่อนไหวเป็นตัวสำคัญ


อาการเหนื่อยง่าย 

อาการเหนื่อยง่าย หมายถึง เมื่อเราออกกำลังแล้วเหนื่อย ในขณะที่คนปกติอื่น ๆ ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันทำได้สบายโดยไม่มีอาการอะไร ดังนั้นพูดง่าย ๆ คือ คนอื่น ๆ เขาทำได้สบาย ไม่เหนื่อย แต่เราทำบ้างกลับมีอาการเหนื่อย


สาเหตุการเหนื่อยและหายใจไม่อิ่ม

สาเหตุของอาการเหนื่อยอาจเป็นจากโรคหรือไม่ใช่จากโรคก็ได้และแบ่งเป็นเหนื่อยปัจจุบัน คือ เพิ่งเป็นมา 2 – 3 วัน หรือเป็นเรื้อรัง คือ เป็นมานานแล้ว

สาเหตุจากโรค

สาเหตุของโรคที่สำคัญ คือ โรคปอดและโรคหัวใจ

  • โรคปอด เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด สถิติจากศูนย์ควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกา ปี 2543 ชาวอเมริกันประมาณ 30 ล้านคนหรือ 11.03% ของประชากร ป่วยเป็นโรคปอดเรื้อรัง ในขณะเดียวกันมีชาวอเมริกัน 22 ล้านคน หรือ 8.09% ป่วยเป็นโรคหัวใจ สำหรับในประเทศไทย ในปี 2545 สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเข้ามารับการตรวจจากแพทย์ปีละ 24.4 ล้านราย และระบบไหลเวียนของเลือด 7.2 ล้านราย อัตราการตายของคนไทยจากโรคปอด ซึ่งรวมถึงปอดบวมและวัณโรค ด้วยอัตรา 31.9 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นโรคหัวใจจะมีอัตราตาย 27.7 จากประชากร 100,000 คน สำหรับโรคปอดในผู้ป่วยที่อายุน้อยและหนุ่มสาวมักเป็นโรคหอบหืด ส่วนคนอายุมากมักจะเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง การตรวจเอกซเรย์ปอดและตรวจสมรรถภาพปอดจะตรวจพบผู้ป่วยได้เกือบทั้งหมด แต่บางครั้งแพทย์อาจต้องการการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนและเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

  • โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ โรคนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 25 ปีมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ 0.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย อายุ 35 – 44 ปีมีโอกาสเป็น 14.7 รายต่อประชากร 100,000 ราย อายุ 75 – 84 ปี มีโอกาสเป็น 1252.2 รายต่อประชากร 100,000 ราย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 44 ปี ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง โดยเฉพาะมีเอกซเรย์หัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปกติแล้วอาจพูดได้เลยว่า โอกาสที่อาการเหนื่อยง่ายจะเป็นจากโรคหัวใจนั้นน้อยมาก แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจก็มีความจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ผู้ชำนาญการทางโรคหัวใจตรวจหาสาเหตุที่แน่นอนและรักษาอย่างต่อเนื่อง

  • โรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการเหนื่อยอย่างปัจจุบัน

    • จากอุบัติเหตุเกิดบาดเจ็บที่ทรวงอก เพราะอาจมีอันตรายถึงปอดและหัวใจ โรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการเหนื่อยเรื้อรัง

    • โรคสมองและประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Disease) เช่น หลอดเลือดเลี้ยงสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ (Muscular Atrophy or Dystrophy) และ Myasthenia Gravis เป็นต้น
      โรคทางสมองส่วนใหญ่การตรวจร่างกายก็พอจะบอกได้ว่าเป็นโรคทางสมองหรือไม่ แต่จะเป็นชนิดไหนนั้นต้องมีการตรวจและรักษาต่อ โดยแพทย์ผู้ชำนาญทางสมอง 

    • จมูกอักเสบเรื้อรัง

    • โรคคัดจมูกหรือที่รู้จักกันในนามโรคแพ้อากาศพบบ่อยในบ้านเรา โรคทำให้มีจมูกอักเสบและบวม รูจมูกตีบตัน บางคราวอาจเกิดจากดั้งจมูกคดจากอุบัติเหตุ ทำให้หายใจลำบากเวลานอนหรือเวลาออกกำลังต้องอ้าปากหายใจ เพราะหายใจได้ง่ายกว่า แพทย์ผู้ชำนาญโรคหู คอ จมูกจะให้การดูแลโรคนี้ได้อย่างดี การตรวจหาสาเหตุอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่มที่ไม่ได้เกิดจากโรค ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยง่ายโดยเฉพาะผู้ป่วยอายุน้อยมักเกิดจากการที่ไม่ค่อยได้ออกกำลัง พักผ่อนไม่พอ หรือหลับไม่สนิท โดยเฉพาะมีเรื่องเครียด กังวลไม่ว่าจะเป็นจากการงานหรือเรื่องภายในครอบครัว อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายได้ ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม รู้สึกอากาศไม่เข้าไปในปอด หายใจลึก ๆ 3 – 4 ครั้งแล้วจะสบาย หรือชอบถอนหายใจ บางครั้งผู้ป่วยมีปัญหา แต่คิดว่าไม่มีอะไรเพราะแก้ไขได้ แต่จริง ๆ แล้วจิตใต้สำนึกยังคงเก็บปัญหาไวอยู่ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสบายขึ้นจากการได้รับยาคลายเครียดอ่อน ๆ โดยเฉพาะเวลานอน แต่มีผู้ป่วยบางรายที่อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์ บางครั้งจะมีอาการอื่น เช่น ใจสั่น กรดในท้องมาก ท้องเดินบ่อย มึนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือตกใจง่ายร่วมด้วย
    • โรคโลหิตจาง 

    • โรคคอพอกเป็นพิษ ต่อมไทรอยด์ทำงานเกินขนาด (Thyrotoxicosis or Hyperthyroidism)

    • ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism)

    • การพิการของกระดูกทรวงอกจำกัดการเคลื่อนไหวของทรวงอก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น ออกแรงมากขึ้น

    • กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับ (Gastroesophageal Reflux) และท้องอืด

    • โรคไตเรื้อรัง

    • โรคตับในระยะรุนแรง


สาเหตุไม่ใช่จากโรค

  • ออกกำลังกายน้อยมาก ไม่ค่อยได้ออกกำลัง (Physically Unfit)

  • กำลังฟื้นตัวจากไข้

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ 

  • เครียด กังวล ท้อใจ (เหนื่อยใจ)

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาหาด้วยอาการเหนื่อยง่ายมักไม่ได้เกิดจากโรค แต่มีโรคจำนวนมากที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หากไม่รักษาหรือรักษาช้าไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือต้องพิการมีอาการเหนื่อยไปตลอดชีวิต


ความรุนแรงของอาการเหนื่อย

แพทย์มักถามถึงความรุนแรงของอาการเหนื่อยว่ามีมากน้อยเพียงใดโดยดูความสามารถในการออกกำลังเพื่อประเมินดูสมรรถภาพผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค ที่ใช้กันทั่วไปแบบง่าย ๆ คือ ใช้ Word Scale (Modified Medical Research Council Scale) โดยแบ่งเป็น Grade 0 ถึง 4

  • Grade 0 ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ยกเว้นไปออกกำลังอย่างหนัก

  • Grade 1 มีอาการเหนื่อยเมื่อเดินเร็ว ๆ บนทางราบหรือเดินขึ้นเขา

  • Grade 2 ต้องเดินบนทางราบได้ช้ากว่าคนปกติที่มีอายุขนาดเดียวกันเพื่อหลีกเลี่ยงเกิดอาการหอบเหนื่อยหรือต้องหยุดพักเพื่อหายใจเมื่อเดินบนทางราบได้ระยะหนึ่ง 

  • Grade 3 ต้องหยุดพักหายใจเพราะเหนื่อย เมื่อเดินได้ประมาณ 100 หลา หรือในราว 2 – 3 นาที 

  • Grade 4 มีอาการเหนื่อยเมื่อต้องออกจากบ้านหรือเหนื่อยเมื่อสวมหรือถอดเสื้อผ้าออกเอง หรืออาจใช้การแบ่งของสมาคมโรคหัวใจของนครนิวยอร์ก (New York Heart Association Functional Classification) ที่แบ่งออกได้ ดังนี้
    – Class I ออกกำลัง (Physical Activity) ได้ไม่จำกัดเหมือนคนปกติ
    – Class II จำกัดการออกกำลังเพียงเล็กน้อย ไม่เหนื่อย สบายดีไม่มีอาการถ้าอยู่เฉย ๆ แต่ออกกำลังตามธรรมดามีอาการเหนื่อยบ้าง 
    – Class III ต้องจำกัดการออกกำลังอย่างมาก ไม่เหนื่อย สบายดีไม่มีอาการถ้าอยู่เฉย ๆ ออกกำลังเล็กน้อยก็เหนื่อย
    – Class IV ไม่สามารถออกกำลังได้โดยไม่เหนื่อย แม้แต่อยู่เฉย ๆ ก็อาจจะเหนื่อย อาการจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อออกกำลังเพิ่มขึ้น

หน่วยกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพหลายแห่งจะใช้การแบ่งที่ละเอียดกว่าในการประเมินอาการและติดตามผลการรักษาผู้ป่วย เช่น ใช้ Rating Scale for Dyspnea (Modified Borg Scale) เป็นต้น


ตรวจหาสาเหตุอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่มที่เกิดจากโรค

การซักประวัติ ตรวจร่างกายที่ได้มาตรฐาน ตรวจเลือด ตรวจหน้าที่ตับ ไต ต่อมไทรอยด์ เอกซเรย์ทรวงอก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจสมรรถภาพปอด จะบอกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายหรือเกิดอาการได้เกือบหมด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคปอด และระบบทางเดินหายใจ
ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการทุกวัน 8.00-16.00 น.

แชร์