ผู้ป่วยเบาหวานกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

2 นาทีในการอ่าน
ผู้ป่วยเบาหวานกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

แชร์

หนึ่งในโรคที่มักจะมาพร้อมหน้าหนาวคือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันได้จากการไอ จาม และการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่

 

ไข้หวัดใหญ่

อาการไข้หวัดใหญ่ที่มักพบคือ
  • มีไข้สูง
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน

การรักษาไข้หวัดใหญ่หลัก ๆ คือ รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีหรือมีอาการไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นภายใน 5 วัน และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน แต่หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาจทำให้อาการของโรครุนแรงและต้องใช้การรักษาที่ซับซ้อน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานก็เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่มีความเสี่ยงดังกล่าว เนื่องจากมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ


ผู้ป่วยเบาหวานกับไข้หวัดใหญ่

จากหลักฐานทางวิชาการพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดโรคไข้หวัดใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน

สมาคมโรคเบาหวานของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association Guideline 2016) แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกรายได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย 

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด Quadrivalent (4 สายพันธุ์) ซึ่งครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธ์ B ทั้ง 2 ตระกูล คือ Victoria และ Yamagata จากข้อมูลการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด Quadrivalent ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2001 – 2008 พบว่า ช่วยลดอัตราการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตได้

จากการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลจากทุกสาเหตุ และอัตราการเข้าโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันได้ทั้งอัตราการเข้าโรงพยาบาลจากทุกสาเหตุ อัตราการเข้าโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ และอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

ดังนั้นสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นฤดูกาล


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แชร์