Computer Vision Syndrome (CVS) ตาไม่สบายเมื่อติดจอคอม

2 นาทีในการอ่าน
Computer Vision Syndrome (CVS) ตาไม่สบายเมื่อติดจอคอม

แชร์

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน หลายคนที่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดกันเป็นเวลานานอาจมีอาการปวดเมื่อยตา ตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว ซึ่งอาจบ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงกับกลุ่มอาการที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome (CVS) ซึ่งแม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้


รู้จักกับ CVS

Computer Vision Syndrome (CVS) คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการใช้งานและจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการ Computer Vision Syndrome อย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจเป็นร่วมกันจนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน


อาการ CVS

  • ปวดเมื่อยตา
  • ตาแห้ง
  • แสบตา
  • เคืองตา
  • ตาพร่ามัว
  • โฟกัสได้ช้าลง
  • ตาสู้แสงไม่ได้
  • ปวดกระบอกตา
  • ปวดศีรษะ
  • บางครั้งอาจมีอาการปวดหลัง ไหล่ หรือต้นคอร่วมด้วย


ปัจจัยเสี่ยง CVS

นอกจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการนี้ ได้แก่

  • ขณะจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือจ้องจอคอมพิวเตอร์จะมีการกระพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งง่ายขึ้น
  • แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม
  • มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์
  • การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องพยายามโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น
  • ระยะห่างจากหน้าจอ
  • ระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์
  • ท่าทางในการในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม

Computer Visioin Syndrome (CVS) ตาไม่สบายเมื่อติดจอคอม


ป้องกัน
CVS

การป้องกัน Computer Vision Syndrome (CVS) สามารถทำได้โดย

1) ปรับระดับการมองเห็นและปรับท่านั่งการทำงานให้เหมาะสม

  • จุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว
  • แป้นพิมพ์ควรวางอยู่ระดับต่ำกว่าจอ โดยให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะเอื้อมไปข้างหน้า
  • ปรับระดับเก้าอี้ โดยให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น เข่าตั้งฉาก ต้นขาขนานกับพื้น อาจมีที่วางข้อศอกและแขนเพื่อลดอาการล้าที่หัวไหล่ แขน และข้อมือ
  • เอกสารสิ่งพิมพ์หรือหนังสือควรวางอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอ เพื่อไม่ต้องขยับหรือหันศีรษะ และเปลี่ยนการปรับโฟกัสมากเกินไป

2) ปรับแสงสว่างจากภายนอกและจากจอคอมพิวเตอร์

  • ปิดม่านหน้าต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องกระทบจอคอมพิวเตอร์ แสงภายในห้องทำงานที่สว่างเกินไปจะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึกไม่สบายตาได้
  • อาจใช้แผ่นกันแสงสะท้อนติดหน้าจอภาพ
  • ปรับความสว่างของหน้าจอและความแตกต่างของสีระหว่างพื้นจอและตัวอักษรให้มองเห็นได้คมชัดและสบายตาที่สุด

3) พักสายตาระหว่างการทำงาน

  • เมื่อใช้สายตาติดต่อกันนาน 20 นาที ควรละสายตาออกจากจอคอมพิวเตอร์และมองออกไปให้ไกล 20 วินาที
  • ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ควรพักสายตาหรือลุกจากโต๊ะทำงานเพื่อเป็นการผ่อนคลายเป็นเวลาอย่างน้อย 15 – 20 นาที

4) กระพริบตาบ่อยขึ้นหรือหยอดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยลดอาการตาแห้งและช่วยให้สบายตาขึ้น

5) พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์