วัยเด็กวัยทำงานเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตาไม่รู้ตัว

4 นาทีในการอ่าน
วัยเด็กวัยทำงานเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตาไม่รู้ตัว

แชร์

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย หลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งพบได้มากน้อยต่างกันขึ้นกับชนิดของโรคเบาหวาน โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ปัจจุบันพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กมากขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในเด็ก ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย มักจะนั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์แทนการวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬา

เบาหวานกับดวงตา

เบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งสาเหตุมาจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองอย่างเหมาะสมต่ออินซูลินที่ร่างกายผลิต ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงดวงตา โดยที่เกือบทุกส่วนของดวงตา ได้แก่ กล้ามเนื้อตา เลนส์ตา ขั้วประสาทตา เส้นประสาทตา และจอตาสามารถได้รับผลกระทบจากเบาหวานทั้งสิ้น


เบาหวานกับตาบอด

เบาหวานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดที่ป้องกันได้ (Preventable Blindness) ในคนวัยทำงานช่วงอายุระหว่าง 20 – 74 ปีในประเทศพัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติถึง 25 เท่า ซึ่งภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น 


เบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย โดยมี 2 ภาวะหลักที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง ซึ่ง 2 ภาวะนี้อาจเกิดร่วมกันหรือไม่ก็ได้ ได้แก่

  1. จุดภาพชัดบวมน้ำ (Macular Edema) เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วของสารน้ำและโปรตีนจากหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็นส่วนกลาง ทำให้จุดภาพชัดหนาตัวและบวมขึ้นรบกวนการมองเห็นส่วนกลางและอาจเห็นภาพบิดเบี้ยว
  2. เบาหวานขึ้นตาระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่จอตาถูกทำลายจากเบาหวานจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้จอตาขาดเลือดและออกซิเจนกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal detachment) ตามมา และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ 

วัยเด็กวัยทำงานเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตาไม่รู้ตัว

หลอดเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา

หลอดเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา (Neovascularization of the Iris) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาที่จอตามีการขาดเลือดและออกซิเจนอย่างรุนแรง หลอดเลือดงอกใหม่บริเวณม่านตาสามารถอุดกั้นการระบายน้ำออกจากตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เรียกภาวะนี้ว่า ต้อหินชนิดมีเส้นเลือดงอกใหม่ (Neovascular Glaucoma) ซึ่งเป็นต้อหินชนิดรุนแรงทำให้เกิดการปวดตามากจากความดันตาที่ขึ้นสูงและรักษายาก มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวเหมือนกับต้อหินชนิดอื่น ๆ จำเป็นต้องรักษาเบาหวานขึ้นตาร่วมด้วย


ต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) เป็นสาเหตุของการมองเห็นที่ลดลง พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน โดยระยะเวลาในการเป็นเบาหวานและการควบคุมระดับน้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกเร็วขึ้นกว่าคนปกติ ในระยะเริ่มต้นอาจแก้ไขสายตาด้วยการใส่แว่น การผ่าตัดรักษาต้อกระจกจะทำเมื่อการมองเห็นแย่ลงหรือต้อกระจกบดบังการตรวจจอตาและรักษาเบาหวานขึ้นตา


ความผิดปกติของกระจกตาจากเบาหวาน

ความผิดปกติของกระจกตาจากเบาหวาน (Diabetic Keratopathy) ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ง่ายจากการสูญเสียการรับความรู้สึกบริเวณกระจกตา ในกรณีที่เบาหวานที่ระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน ผิวกระจกที่ถลอกหรือหลุดลอกจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือจากการใส่คอนแทคเลนส์อาจจะหายยากกว่าปกติและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้มากขึ้น 


กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Paresis of Extraocular Muscle) อาจทำให้เกิดอาการเห็นภาพซ้อน (Double Vision) อย่างฉับพลัน เนื่องจากเบาหวานทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กที่มาเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, หรือ 6 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการกลอกตาแต่ละมัด โดยส่วนใหญ่ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากเบาหวาน การพยากรณ์โรคค่อนข้างดี มักจะดีขึ้นหลังมีอาการประมาณ 3 เดือน และมักหายกลับมาเป็นปกติได้ การรักษาหากเกิดภาพซ้อนอาจช่วยได้ด้วยแว่นปริซึม หากนานเกิน 6 – 12 เดือนยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา


ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาจากเบาหวาน

  • คุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
  • สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นและควรไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน หากพบว่าการมองเห็นเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าการมองเห็นยังคงเป็นปกติก็ตาม


ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียดและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตาผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว ควรมีญาติไปด้วยเพื่อความปลอดภัย หากไม่พบความผิดปกติควรตรวจตาและขยายม่านตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง กรณีที่พบเบาหวานขึ้นตาอาจต้องเข้ารับการรักษาหรือการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์