ผ่าตัดคลอด VS คลอดปกติ

2 นาทีในการอ่าน
ผ่าตัดคลอด VS คลอดปกติ

แชร์

หลาย ๆ คำถามที่หญิงตั้งครรภ์มีความสงสัยตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ก็คือ วิธีการคลอด ว่าจะคลอดวิธีไหนดี ระหว่างการคลอดปกติ (Normal Labor) หรือผ่าตัดคลอด (Cesarean Section) โดยคำตอบที่ได้จะแตกต่างกันไปตามความเชื่อและประสบการณ์ของแพทย์แต่ละท่าน


คลอดปกติ (NORMAL LABOR)

การคลอดปกติท่าศีรษะ แพทย์จะทำคลอดศีรษะและตัวเด็กโดยอาศัยแรงแบ่งจากแม่เป็นหลัก ปัจจุบันมีการให้ยาแก้ปวดทางไขสันหลังร่วมด้วย เรียกว่า Painless Labor


หัตถการช่วยคลอด (OPERATIVE VAGINAL DELIVERY)

  • การใช้เครื่องดูด (Vacuum)
  • การใช้คีมดึง (Forceps)
  • การคลอดท่าก้น (Breech Assisting or Breech Extraction)

 

ผ่าตัดคลอด (CESAREAN SECTION)

การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้คลอดปกติเองก่อน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งเสริมให้เกิดการคลอดเองตามธรรมชาติก่อน  เพราะเชื่อว่าเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว และกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว โอกาสของการคลอดได้เองสูงถึงร้อยละ 80 – 90 และได้กำหนดอัตราการผ่าตัดคลอดไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 15 ซึ่งยึดเป็นหลักปฏิบัติ 

ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป หญิงตั้งครรภ์ต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ต้องการฤกษ์วันคลอดแน่นอน ประกอบกับอยากคลอดชนิดที่ไม่ต้องมีอาการเจ็บปวดมาก จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์การผ่าตัดคลอดในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เช่น ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกามีอัตราการผ่าตัดคลอดร้อยละ 32 ขณะที่ประเทศจีนมีอัตราการผ่าตัดคลอดสูงถึงร้อยละ  46 ในประเทศไทยอัตราการผ่าตัดคลอดจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 34 

 

ข้อบ่งชี้การผ่าคลอด

โดยปกติการผ่าตัดควรมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือของแต่ละโรงพยาบาล เช่น

  • มีภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกและอุ้งเชิงกราน (Cephalopelvic Disproportion: CPD) ทำให้เด็กไม่สามารถลอดผ่านเชิงกรานแม่ออกมาได้
  • มีความผิดปกติของรก เช่น รกเกาะต่ำขวางทางออกของทารก (Placenta Previa) หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) ทำให้มีการตกเลือดก่อนคลอด
  • มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องทำให้คลอดโดยเร็ว เช่น สายสะดือย้อย (Umbilical Cord Prolapsed)
  • ทารกอยู่ในภาวะวิกฤติ เสียงหัวใจลูกเต้นช้าผิดปกติ (Fetal Distress) ภาวะความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง หรือมีการแตกของมดลูก (Uterine Rupture)
  • มีการคลอดที่เนิ่นนาน (Prolong of Labor) หรือประสบความล้มเหลวจากการชักนำคลอด (Failure Induction)
  • ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง (Transverse Lie) ท่าก้น (Breech Presentation) หรือครรภ์แฝด
  • มารดาเคยผ่าตัดคลอดมาก่อน (Previous Uterine Scare) ซึ่งเสี่ยงต่อการแตกของมดลูกหากมีการคลอดเองเกิดขึ้น
  • การติดเชื้อของมารดา เช่น มารดาเป็นโรคเริมที่อวัยวะเพศขณะเข้าสู่ระยะคลอด ซึ่งสามารถติดต่อสู่ลูกน้อยผ่านการคลอดทางช่องคลอด

ในโรงพยาบาลที่ค่อนข้างมีแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจะไม่ผ่าตัดให้ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดดังกล่าว แต่ก็มีอีกหลาย ๆ โรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดคลอดได้ตามความต้องการของหญิงตั้งครรภ์ ในกรณีถ้าเลือกได้จึงค่อยมาพิจารณาข้อดีข้อเสียของการคลอดปกติและผ่าตัดคลอด ส่วนหัตถการการช่วยคลอด เช่น การใช้คีมหรือเครื่องดูดจะใช้ช่วยคลอดในกรณีที่แรงเบ่งของแม่ไม่ดี มีการคลอดระยะที่สองเนิ่นนาน เมื่อพิจารณาแล้วว่าสามารถคลอดได้ทางช่องคลอด


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์