ต้อกระจกอย่านิ่งนอนใจ รีบรักษาก่อนต้อสุก

6 นาทีในการอ่าน
ต้อกระจกอย่านิ่งนอนใจ รีบรักษาก่อนต้อสุก

แชร์

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้สูงวัยที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นมีโอกาสเกิดภาวะตาบอดและสายตาเลือนรางสูงขึ้น ซึ่งต้อกระจกเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะสายตาเลือนรางและตาบอดในระดับประเทศและระดับโลก โดยพบภาวะตาบอดจากต้อกระจกทั่วโลกถึงร้อยละ 47.8 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า มีผู้ป่วยเกือบ 18 ล้านคนทั่วโลกมีภาวะตาบอดทั้ง 2 ข้างจากต้อกระจก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มาพบจักษุแพทย์เมื่อต้อสุกมากแล้ว และมีผู้ป่วยบางส่วนที่เข้าใจผิดเพราะได้ข้อมูลมาอย่างไม่ถูกต้องว่าต้องรอให้ต้อสุกก่อนจึงจะผ่าตัดได้ ทำให้อันตรายต่อดวงตาและยากต่อการรักษา ทั้งที่ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด


รู้จักต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) คือ ภาวะเลนส์ตา (Lens) ขุ่นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรตีนในเลนส์ตา โดยปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใส ทำหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกบนจอประสาทตา เมื่อเลนส์ตาขุ่นจะส่งผลกระทบต่อการรวมแสง ทำให้แสงผ่านไปถึงจอประสาทตาลดลง ทำให้เห็นภาพมัวลง


สาเหตุต้อกระจก

สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อายุที่มากขึ้น โดยการเสื่อมตามธรรมชาติของเลนส์ตาเริ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี โดยพบว่าประมาณร้อยละ 20 ของคนที่อายุเกิน 40 ปี มีเลนส์ตาขุ่น และมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่ออายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมักจะเป็นต้อกระจกไม่มากก็น้อย โดยอาจยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการมองเห็นจนกระทั่งหลายปีหลังจากนั้น

แม้ว่าต้อกระจกมักพบในคนสูงอายุ แต่สามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัยจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • อุบัติเหตุหรือการได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา
  • พันธุกรรมหรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มักพบในเด็ก โดยเป็นมาตั้งแต่กำเนิด
  • ผลแทรกซ้อนจากโรคทางกายอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ขาดสารอาหาร โรคอ้วน ฯลฯ
  • การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ฯลฯ
  • การฉายแสงรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ ฯลฯ
  • เคยเป็นโรคตาบางชนิด เช่น การอักเสบหรือติดเชื้อในตา หรือเคยได้รับการผ่าตัดวุ้นตาหรือจอประสาทตามาก่อน
  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือแสงแดดมาก ๆ เป็นเวลานาน
  • การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

ระยะและอาการต้อกระจก

ในความเป็นจริงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ต้อกระจกจะแย่ลงเร็วหรือช้าแค่ไหน แต่โดยทั่วไปต้อกระจกที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามวัยมักค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ส่วนต้อกระจกจากสาเหตุอื่น ๆ อาจจะแย่ลงเร็วกว่าและมีผลกระทบต่อการมองเห็นมากกว่า ในแต่ละระยะของโรคต้อกระจกอาจมีแนวทางในการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการและผลกระทบต่อการมองเห็นหรือต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 

ระยะเริ่มต้น (Early Stage)

ต้อกระจกในระยะเริ่มต้นมักมีอาการเพียงเล็กน้อยและค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นต้อกระจก อาการในระยะเริ่มต้นอาจมีดังนี้

  • ตามัว
  • เห็นภาพซ้อนในตาข้างใดข้างหนึ่ง
  • เห็นแสงฟุ้งหรือเงารอบดวงไฟ
  • มองเห็นแย่ลงในที่มืด
  • แพ้แสงมากขึ้น
  • เห็นสีสันมืดครึ้มลงหรือเห็นภาพเป็นสีเหลือง
  • แยกแยะความแตกต่างของสีหรือระดับความสว่างของแสงยากขึ้น
  • เปลี่ยนแปลงค่าแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์บ่อย หรือบางคนอาจมีสายตาสั้นมากขึ้นจากต้อกระจก ทำให้อ่านหนังสือในระยะใกล้ได้โดยไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ

ระยะท้าย (Late or Advanced Stage)

หากต้อกระจกพัฒนามากขึ้น อาการจะมากขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยอาจมีอาการดังนี้

  • ตามัวมากขึ้นหรือคล้ายมีฝ้าหมอกบัง โดยเฉพาะในเวลากลางวันหรือแสงแดดจ้า 
  • ตามองแทบไม่เห็นในที่มืด
  • อ่านหนังสือลำบากมากขึ้น
  • เห็นจุดสีขาวกลางตาดำ
  • สูญเสียการมองเห็น

ต้อกระจกอย่านิ่งนอนใจ รีบรักษาก่อนต้อสุก

วินิจฉัยต้อกระจก

เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่อาจสงสัยว่าน่าจะเป็นต้อกระจกควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะตรวจตาทั่วไป วัดระดับการมองเห็น วัดค่าสายตา วัดความดันตา ขยายรูม่านตาเพื่อประเมินลักษณะของต้อกระจกและตรวจจอประสาทตาโดยละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาการมองเห็นเกิดจากต้อกระจกเพียงอย่างเดียวหรือมีโรคทางตาอื่น ๆ ร่วมด้วย บางรายอาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่อง Optical Coherence Tomography (OCT) การตรวจลานสายตา เป็นต้น 

ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและครบถ้วนจะเป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาต่อไปอย่างเหมาะสมขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ยังสามารถพยากรณ์โรคและประเมินผลการมองเห็นหลังการรักษาได้


รักษาต้อกระจก

ในระยะเริ่มต้นการแก้ไขด้วยแว่นสายตาหรือการปรับแสงสว่างอาจช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ตามต้อกระจกจะพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผลกระทบต่อการมองเห็นและการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาที่กำลังสูงขึ้นบ่อยขึ้น ในปัจจุบันยังไม่มียากินหรือยาหยอดใดที่สามารถรักษาให้ต้อกระจกลดลงหรือหายได้ ดังนั้นการรักษาต้อกระจกคือการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดในระยะเริ่มต้นก่อนต้อสุกจะทำได้ง่ายกว่า โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า การฟื้นตัวเร็วกว่า  หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติหรือโรคอื่น ๆ บริเวณจอประสาทตา เส้นประสาทตา หรือสมองส่วนที่ควบคุมการมองเห็น และไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด การมองเห็นมักจะดีขึ้นในเวลาไม่นานหลังการผ่าตัด ทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน


ข้อบ่งชี้ผ่าตัดต้อกระจก 

  • ต้อกระจกเป็นมากจนมีปัญหาด้านการมองเห็นและรบกวนชีวิตประจำวัน
  • ต้อกระจกเป็นมากจนอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน 
  • ต้อกระจกบดบังหรือเป็นอุปสรรคต่อการตรวจหรือรักษาโรคของจอประสาทตา เช่น กรณีผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องตรวจจอประสาทตาเพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างสม่ำเสมอ 

ไม่ผ่าตัดต้อกระจกได้หรือไม่

หากปล่อยไว้ไม่รักษา ต้อกระจกจะพัฒนามากขึ้นจนกลายเป็นต้อสุกเต็มที่ (Mature Cataract) จากเลนส์ตาที่เคยใสจะกลายเป็นสีขาวขุ่นทั้งหมด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา ได้แก่

  • การมองเห็นแย่ลง มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดความไม่มั่นใจหรือไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับรถ การพลัดตกหกล้ม หรืออาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • เลนส์ตาแข็งมาก ทำให้ผ่าตัดยาก ต้องผ่าตัดแผลใหญ่ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดมากขึ้น เช่น ถุงหุ้มเลนส์ตาฉีกขาด เอ็นยึดถุงหุ้มเลนส์ตาหย่อนหรือขาด เลนส์ตาหลุดตกลงไปในช่องลูกตาด้านหลัง จะต้องผ่าตัดแก้ไขวุ้นตาและจอประสาทตา ซึ่งซับซ้อนและใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น การฟื้นตัวช้าลง ผลการมองเห็นอาจไม่ดีเท่าที่ควร
  • เลนส์ตาอาจบวมจนปิดกั้นทางระบายน้ำออกจากตา ทำให้เกิดต้อหินเฉียบพลัน หรือโปรตีนรั่วจากเลนส์ตา ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงในตา ปวดตา และตาบอดได้

ต้อกระจกอย่านิ่งนอนใจ รีบรักษาก่อนต้อสุก

ผ่าตัดต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

  1. การผ่าตัดแผลเล็กด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) เป็นการรักษาต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) หรือคลื่นเสียงความถี่สูงสลายต้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดูดออก โดยการใช้เครื่องมือขนาดเล็กสอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตา จึงทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 20 – 30 นาที สามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัด การมองเห็นมักดีขึ้นเร็ว ระยะพักฟื้นสั้น สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็วขึ้น

    ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถเลือกใช้เลนส์ตาเทียมแบบพับที่สามารถแก้ไขค่าสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ หรือสามารถเลือกเลนส์ตาเทียมที่มีจุดโฟกัสมากกว่า 1 ระยะ เพื่อลดการพึ่งพาแว่นสายตาโดยเฉพาะแว่นอ่านหนังสือได้ ซึ่งนับว่าเป็นการแก้ไขค่าสายตาพร้อมกับการรักษาต้อกระจกได้ในคราวเดียวกัน

    การสลายต้อกระจกสามารถรักษาต้อกระจกในระยะแรก ๆ เท่านั้น หากต้อกระจกสุกเต็มที่หรือแข็งเกินไป อาจไม่สามารถใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้ 

     

  2. การผ่าตัดแผลใหญ่ (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลกว้างประมาณ 10 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์ตาออกมาทั้งชิ้น และใส่เลนส์ตาเทียมชนิดแข็งเข้าไปแทนที่เลนส์ตาธรรมชาติ วิธีนี้เป็นการรักษาแบบเก่า ใช้รักษากรณีต้อกระจกสุกเต็มที่ แผลผ่าตัดค่อนข้างกว้าง ต้องเย็บแผล ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นนานกว่า

    อย่างไรก็ตามก่อนการผ่าตัดแพทย์จะตรวจตาทุกส่วนโดยละเอียด รวมทั้งการวัดและคำนวณกำลังของเลนส์ตาเทียมที่จะใส่ในระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย สอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ความต้องการหรือความคาดหวังของผู้ป่วย แล้วจึงตัดสินใจร่วมกันในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาและชนิดของเลนส์ตาเทียมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการมองเห็นหลังผ่าตัดที่ดีที่สุดตามสภาพทางตาของผู้ป่วย


ผ่าตัดต้อกระจกมีความเสี่ยงหรือไม่

ทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง แต่การผ่าตัดต้อกระจกโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญประกอบกับเครื่องมือที่ทันสมัยในปัจจุบันถือเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราการประสบผลสำเร็จที่สูง ลดภาวะแทรกซ้อน รวดเร็ว แทบจะไม่เจ็บปวด ส่วนมากใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ โอกาสเกิดผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังผ่าตัด ได้แก่ ตาแห้ง กระจกตาบวม ความดันตาสูง เลือดออกภายในลูกตา วุ้นตาเสื่อม จุดรับภาพชัดบวม จอประสาทตาลอก การอักเสบหรือติดเชื้อ เศษเลนส์ตกค้าง ถุงหุ้มเลนส์ฉีกขาด อาจทำให้ใส่เลนส์ตาเทียมไม่ได้ หรือใส่แล้วเลนส์ตาเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดหมายไว้จากการวัดและคำนวณก่อนผ่าตัด ทำให้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมด้วยแว่นสายตาหรือบางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมใหม่

หากมีอาการแล้วสงสัยว่าเป็นต้อกระจกควรเข้ารับการตรวจโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ต้อสุกเพราะยิ่งทิ้งไว้ยิ่งยากต่อการรักษาและรุนแรง ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์