บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

3 นาทีในการอ่าน
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

แชร์

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกคือการบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความร้อน ทั้งความร้อนแห้งคือเปลวไฟ วัสดุร้อน เช่น เตารีด เป็นต้น หรือความร้อนเปียก เช่น น้ำร้อน กาแฟร้อน เป็นต้น สาเหตุอื่นที่ทำให้บาดเจ็บบริเวณผิวหนังได้อีก เช่น สารเคมี กระแสไฟฟ้า และกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งมักเรียกรวม ๆ ว่า บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเป็นบาดแผลที่พบได้บ่อย บาดแผลมีความเจ็บปวดมาก หากบาดแผลลึกและกว้างการรักษาจะใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง และอาจทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีจากรอยแผลเป็นตลอดจนเกิดการพิการได้ หากบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล เพราะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง


ระดับความรุนแรงของบาดแผล

ความรุนแรงของบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก สามารถแบ่งออกได้ตามความลึกของแผลและขนาดของแผล ดังนี้

การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามความลึก ได้แก่

  1.  First Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังกำพร้า บาดแผลเจ็บไม่มาก และมักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น บาดแผลพวกนี้ เช่น บาดแผลจากการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน (Sun Burn)
  2. Superficial Second Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ บาดแผลพวกนี้จะเจ็บมาก บางครั้งพองเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ถ้ารักษาอย่างถูกต้องมักจะหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์มักไม่มีแผลเป็นหลงเหลือ
  3. Deep Second Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนลึก บาดแผลพวกนี้จะเจ็บมากเช่นกัน ดูแยกยากจากบาดแผลประเภทที่ 2 การรักษาใช้เวลานานมากขึ้น บางครั้งมีแผลเป็นเกิดขึ้นได้
  4. Third Degree Burn เป็นบาดแผลเจ็บที่ทำลายผิวหนังทุกชั้นจนหมด บาดแผลพวกนี้จะไม่เจ็บมาก เพราะเส้นประสาทรับความเจ็บปวดจะถูกทำลายไปด้วย บาดแผลจะมีสีค่อนข้างซีด บางครั้งจะมีเนื้อตายแข้ง ๆ คลุมแผลอยู่ การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น จำเป็นต้องเลาะเนื้อตายออก และจะต้องทำการผ่าตัดเอาผิวหนังมาปลูกถ่าย (Skin Grafting) ยกเว้นบาดแผลขนาดเล็กมาก อาจทำแผลจนหายเองได้ แต่มักจะมีแผลเป็นตามมา

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามขนาดของแผล ได้แก่

การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามขนาดของแผลนิยมบอกขนาดของแผลใหญ่ป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวของร่างกาย (Body Surface Area) โดยขนาด 1 ฝ่ามือของผู้ป่วยรวมนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว จะมีขนาดประมาณ 1% ของพื้นที่ผิวร่างกาย หรือแบ่งตาม Rules of Nines (สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่) เช่น แขนแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 9% ของพื้นที่ผิวร่างกาย ขาแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 18% ของพื้นที่ผิวร่างกาย เป็นต้น

บาดแผลขนาดใหญ่หรือบาดแผลลึกจะต้องรับการรักษาที่ซับซ้อนมากกว่าบาดแผลขนาดเล็กหรือบาดแผลตื้น

ผู้ป่วยบาดแผลไฟไหม้รุนแรงอาจต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะทางและอาจต้องใช้เวลารักษาเป็นเดือน


บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
รักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

เมื่อได้รับบาดเจ็บ ในเบื้องต้นควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือหากบาดแผลสกปรกมาก อาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อน จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่ามาก ๆ หากทำได้ให้ใช้น้ำอุณหภูมิห้องไหลผ่านแผลหรือแช่แผลในน้ำอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 5 นาที แต่ไม่ควรเกิน 20 นาที ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัด เพราะอาจทำให้บาดแผลลึกมากขึ้นได้ จากนั้นใช้ผ้าสะอาดปิดแผลและไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาสีฟันหรือครีมอื่นใดชะโลมบนแผล เพราะอาจทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น

แพทย์จะทำความสะอาดแผลอีกครั้งจนแผลสะอาดแล้วประเมินทั้งความลึกและความกว้างของแผล หากมีเนื้อตายก็จะตัดเนื้อตายออก แล้วทำการปิดแผล อาจใช้ครีม (Cream) หรือขี้ผึ้ง (Ointment) ทาแผล หรือใช้วัสดุปิดแผลที่ทันสมัยอื่น ๆ ปิดแผล ถ้าเป็นแผลใหญ่หรือแผลบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น ใบหน้า มือ และฝีเย็บ ผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาภายในโรงพยาบาล

 แผลจะถูกล้างทำความสะอาด ประเมินความลึกและขนาดของแผลตลอดจนตัดเนื้อตายออกเป็นระยะ อาจจะทุกวันหรือทุก 1 – 4 วัน แล้วแต่สภาพของแผล ขณะเดียวกันผู้บาดเจ็บอาจได้รับยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดตามความจำเป็นด้วย แผลที่ไม่ลึกจะหายได้เองภายใน 1 – 3 สัปดาห์ ส่วนแผลลึกมักจะต้องตัดเอาหนังมาปิด (Skin Grafting) ผิวหนังที่นำมาปิดบนแผลนั้นจะต้องเป็นผิวหนังของผู้บาดเจ็บเองจะนำผิวหนังผู้อื่นมาปิดไม่ได้ แต่แพทย์จะตัดผิวหนังของผู้บาดเจ็บเพียงบาง ๆ มาปิดบนแผล ทำให้แผลหายได้ ส่วนบริเวณที่ตัดผิวหนังออกมา (Donor Site) ก็จะหายเองภายในเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

ปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn) มีความก้าวหน้าไปมาก มีวัสดุปิดแผลใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีหลายชนิด การเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้องและการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมานจากบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผลหายเร็วขึ้นและแผลเป็นก็ลดลง ดังนั้นหากมีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์รักษาแผล 
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

แชร์