ผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง หมดกังวลรักษาได้

5 นาทีในการอ่าน
ผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง หมดกังวลรักษาได้

แชร์

ความผิดปกติของต่อมลูกหมากนั้น พบได้บ่อยใน 3 โรคที่ชายไทยเป็นมาก อันดับ 1 คือ โรคต่อมลูกหมากโต พบมากถึง 80% รองลงมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คิดเป็น 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบในสัดส่วนอยู่ที่ 2%

เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นสิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะในเพศชายที่พบว่าเมื่อใดที่ระดับแอนโดรพอส (Andropause) ในร่างกายเปลี่ยนไปจะส่งผลต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ไม่ต่างจากผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งในช่วงเวลานี้นอกจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่แสดงออกอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นกับระบบทางเดินปัสสาวะนั้น ยังเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไปจนถึงโรคที่ส่งผลกระทบต่อต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น  


รู้จักโรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต หรือ BPH (Benign Prostate Hyperplasia) โรคนี้พบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งพบได้มากขึ้นในชายสูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป ในช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ซึ่งปกติเพศชายเมื่ออายุ 20 ปี จะมีขนาดประมาณ 20 กรัม แต่จะค่อย ๆ โตขั้นตามอายุ ดังนั้นเพศชายสองคนอายุมากกว่า 60 ปี คนหนึ่งมีขนาดต่อมลูกหมาก 30 กรัม อาจจะมีอาการมากกว่าอีกคนหนึ่งที่มีขนาดต่อมลูกหมาก 50 กรัมก็ได้ ปัจจุบันนี้เราเรียกผู้ป่วยที่มีอาการต่อมลูกหมากโต แต่ว่าขนาดต่อมไม่โตมากแบบนี้ว่า อาการทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หรือ LUTS (Lower Urinary Tract Symptoms) ไม่เรียกว่า โรคต่อมลูกหมากโต (บีพีเอช Benign Prostate Hyperplasia, BPH) อย่างไรก็ตามอาการแทบจะเหมือนกันหมด

photo


อาการโรคต่อมลูกหมากโต

ปกติตามอายุที่เริ่มมากขึ้น 45 – 50 ปีขึ้นไป เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็จะบีบท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดการระคายเคือง ปัสสาวะขัด ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไป แต่อาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก ในบางรายปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วง ๆ มีปัสสาวะหยดเมื่อใกล้จะสุด หรือปัสสาวะเสร็จแล้ว แต่ยังรู้สึกปัสสาวะไม่สุด ในขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการเตือนใด ๆ เลย แต่กลับพบมีอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน และมีอาการปวดปัสสาวะรุนแรงมากก็เป็นได้

photo


ตรวจวินิจฉัยต่อมลูกหมากโต

แพทย์ในปัจจุบันจะใช้วิธีการซักประวัติเพื่อตรวจสอบอาการและหาสาเหตุในเบื้องต้นประกอบกับผลตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ และขนาดของต่อมลูกหมากที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์เพื่อเพิ่มความชัดเจน ในทางปฏิบัติของการตรวจร่างกายนั้นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นและถือว่าเป็นการตรวจขั้นพื้นฐานคือ การตรวจคลำต่อมลูกหมากผ่านทางท่อทวารหนัก “ดีอาร์อี” (Digital Rectal Examination) เพื่อดูลักษณะผิดปกติและความแน่นของเนื้อต่อมลูกหมาก วัดขนาดคร่าว ๆ ที่ประมาณเป็นมิลลิลิตรหรือน้ำหนักเป็นกรัม ลักษณะผิวเรียบหรือมีก้อนขรุขระ ความยืดหยุ่นหรือแข็งมาก ตลอดจนความรู้สึกเจ็บมากกว่าความรู้สึกอึดอัดหรือเจ็บ จากการที่ถูกคลำผ่านท่อทวารหนัก 

photo


รักษาโรคต่อมลูกหมากโต

แบ่งได้เป็น 2 วิธีคือ

  1. การรักษาด้วยยาที่ช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก เรียกว่า ยาต้านระบบประสาทอัลฟ่า ยาที่ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีผลต่อขนาดของต่อมลูกหมาก เรียกว่า กลุ่มยาต้านฮอร์โมนดีเอชที และกลุ่มยาที่สกัดสมุนไพรร่วมด้วย เรียกว่า ซอว์พาลเมตโต (Saw Palmetto) โดยแพทย์จะให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก

  2. ในกรณีที่อาการรุนแรงกินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ปัสสาวะไม่ออกจนต้องใส่สายสวน อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อขูดต่อมลูกหมากออก ด้วยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ 


ผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ 

การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะเป็นการเข้าไปตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่แพทย์นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ในรายที่มีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อน โดยใช้วิธีสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ ซึ่งตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้ได้

อย่างไรก็ตามวิธีนี้สามารถทำได้โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น โดยระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาเฉพาะส่วนล่าง จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ และหลังการรักษาประมาณ 3 – 4 วันแรก ผู้ป่วยต้องใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พักและรอให้ปัสสาวะใสเสียก่อนแล้วจึงเอาสายสวนออก หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 – 4 สัปดาห์

    • แบบที่ 1 การรักษาทางศัลยกรรมผ่านทางกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า TURP (Transurethral Resection of the Prostate) เป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าแบบประจุเดี่ยว โมโนโพลาร์ที่ผลข้างเคียงต่ำ เพื่อตัดและหยุดเลือดออกไปได้พร้อมกัน

    • แบบที่ 2 การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ เรียกว่า TURPV (Transurethral Resection – Vaporized of the Prostate) หรือ Plasma Kinetic (PK) เป็นการใช้เครื่องตัดและจี้ด้วยระบบไฟฟ้าประจุคู่ไบโพลาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ส่วนที่ถูกตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าไม่ให้ไหม้เกรียมมากเกินไป มีระบบช่วยระเหิดเนื้อเยื่อไปด้วยคล้ายคลึงกับการใช้แสงเลเซอร์ คือ แวโพไลเซชัน (Vaporization)

photo

ผ่าตัดรักษาด้วยเลเซอร์

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยเทคนิค

  1. การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์กรีนไลท์ PVP (Green Light PVP : Photo – Selective Vaporization of Prostate) ที่เริ่มใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียเลือดน้อยลง เจ็บตัวน้อยลง และพักฟื้นได้อย่างรวดเร็ว PVPเป็นนวัตกรรมใหม่ของเทคนิคการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตที่ใช้หลักการรุกล้ำน้อยที่สุด 

    หลักการ คือ สอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะเหมือนการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์ที่มีพลังงานสูงยิงไปในตำแหน่งที่มีภาวะอุดกั้นในต่อมลูกหมาก โดยแสงเลเซอร์จะไปทำให้เนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะนั้นค่อย ๆ ระเหิดหายไป 

    ข้อดี คือ เสียเลือดน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจร่วมด้วย นับเป็นวิธีการที่นิ่มนวล เจ็บปวดน้อย ระยะพักฟื้นสั้น สามารถกลับไปทำกิจวัตรเบา ๆ ได้ใน 2 – 3 วัน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือดได้

    ระหว่างการผ่าตัด ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะได้รับการวางยาเพื่อบล็อกไขสันหลังโดยวิสัญญีแพทย์ พร้อมจัดเตรียมคนไข้ในท่านอน แพทย์จะใช้สายนำแสงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ โดยจะแสดงภาพออกมายังจอวิดีโอ แพทย์จะกำหนดตำแหน่งสลายต่อมลูกหมากโตด้วยแสงเลเซอร์ที่มีพลังความร้อนอยู่ที่ 120 – 180 วัตต์ โดยจะปล่อยออกมาทางด้านข้าง โดยที่ปลายของสายนำแสงนั้น หากสังเกตจะเห็นฟองอากาศขนาดเล็ก ๆ (Bubbles) ในบริเวณของเนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะจะถูกฉายด้วยเลเซอร์ ทำให้ระเหิดละลายหายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเนื้อเยื่อนุ่ม ๆ สีเหลืองขาว ไม่ต้องเสียเลือด ขณะเดียวกันยังช่วยเปิดช่องทางออกของท่อปัสสาวะได้ดีขึ้น

  2. การผ่าตัดด้วยการใช้แสงเลเซอร์ทูเลียม (Thulium Laser Vaporesection of the Prostate) เป็นการรักษาโดยใช้เลเซอร์อีกวิธีหนึ่ง วิธีนี้ให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเคียงกับ PVP ทุกประการต่างกันแค่ตรงที่การใช้ Thulium Laser สามารถตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้ได้ชิ้นเนื้อเพื่อไว้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยต่อไปในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และเนื่องจากแสง Thulium Laser จะไม่ลงลึกไปทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป จึงสามารถนำมาใช้ในการรักษาภาวะอาการท่อปัสสาวะตีบจากการมีพังผืดได้ด้วย 

    หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้ 1 คืน และจะการถอดสายสวนปัสสาวะในวันรุ่งขึ้น และให้ทดลองปัสสาวะเอง ซึ่งอาการปัสสาวะจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ


ป้องกันต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโตป้องกันได้แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น

  1. ดื่มน้ำเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ โดยเฉพาะก่อนนอน
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์
  4. ปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะและไม่ควรเบ่งเวลาปวด
  5. ถ้าปัสสาวะไม่สุดควรปัสสาวะซ้ำอีกครั้งเพื่อไม่ให้มีปัสสาวะค้าง
  6. หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ
ชั้น 3 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 15.00 น.

แชร์