อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก
6 นาทีในการอ่าน
แชร์
จากสถิติคาดว่าปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) พบว่าประชากรผู้สูงอายุไทยมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากถึงร้อยละ 5 ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้อาจกลายเป็นภาระกับคนใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้าน คือ กระดูกสะโพกแตกหักและอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ปฐมพยาบาลเมื่อผู้สูงอายุล้ม
ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหัก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง สาเหตุของอุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ การหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65 – 75 ปี อันตรายที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ได้แก่ ศีรษะ อก ท้อง หลัง สะโพก แขน ขา ประกอบกับผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัว มวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกจะหักง่าย และรุนแรงกว่า
การปฐมพยาบาลเมื่อผู้สูงอายุล้ม ได้แก่
- ประเมินการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะช็อก บาดเจ็บที่สมอง และไขสันหลัง
- ประเมินการบาดเจ็บที่พบบ่อย เช่น สะโพกหัก
- ป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในขณะอุ้ม ยก เคลื่อนย้ายเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
- ทีมรถฉุกเฉินประเมินอาการและดูแลเบื้องต้นแล้วประสานงานมาที่แพทย์ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมการดูแลตามแนวทางการรักษาผู้บาดเจ็บขั้นสูง (Advanced Trauma Life Support)
ผู้สูงอายุที่มีการบาดเจ็บหลายระบบต้องมีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศัลยแพทย์อุบัติเหตุ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ฯลฯ ร่วมกันดูแลรักษา ในภาวะเร่งด่วนจะมีการประกันเวลาการตรวจรักษา และเตรียมผ่าตัดเพื่อผลการรักษาที่ดี
บาดเจ็บที่ศีรษะพบแพทย์ให้เร็ว
ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Traumatic Brain Injury) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น ผู้สูงวัยมักหกล้มง่ายเนื่องจากระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี มักเดินช้า ตามองไม่ชัด การได้ยินเสียงและความจำไม่ดี รวมทั้งมีอาการเวียนศีรษะจึงพลัดตกหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้บางรายรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin (Coumadin), Clopidogrel (Plavix) ซึ่งทำให้เลือดออกไม่หยุดเมื่อเกิดบาดเจ็บ มีความเสี่ยงให้เกิดสมองกระเทือนหรือสมองช้ำ มีเลือดคั่งในกะโหลกศีรษะได้
ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์โดยเร็ว การสังเกตอาการในโรงพยาบาลตามข้อบ่งชี้ อาทิ ระดับความรู้สึกตัว มีแขนขาอ่อนแรง ตาพร่า ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีความจำหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป ฯลฯ หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI ดังนั้นทีมแพทย์ระบบประสาทจะตรวจเช็กทุก 1 – 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ หากผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดสมองเพื่อระบายเลือดที่กดเนื้อสมองออก ในบางรายที่มีภาวะสมองบวมหรือช้ำ ไม่เป็นก้อนเลือดชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดสายวัดแรงดันในกะโหลกศีรษะ เพื่อเฝ้าดูการความเปลี่ยนแปลงของแรงดันในกะโหลกศีรษะ
ดังนั้นลูกหลานจึงควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยสังเกตความผิดปกติดังต่อไปนี้
- การมองเห็น
- การเดิน การทรงตัว กลไกควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ทำให้สมดุลการทรงตัวบกพร่อง
- การรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมวัน เวลา สถานที่ บุคคล เป็นต้น
- การรับรู้ ตัดสินใจ ตอบสนองช้าลง
- ประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัยทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน
อย่างไรก็ตามในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ และสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติ หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น หากมีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัวให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
ลื่นล้มกระดูกหักเสี่ยงชีวิต
หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานในการใช้ชีวิต คือ กระดูกหัก ซึ่งกระดูกหักในผู้สูงอายุนั้นมีภัยเงียบที่เป็นสาเหตุหลักของกระดูกหัก คือ โรคกระดูกพรุน เพราะไม่พบอาการใด ๆ มาพบอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหักขึ้น โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักมีการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ร้ายแรงที่สุดก็คือ 20% ของผู้สูงอายุหกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก อาจมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี ดังนั้นผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย
อาการที่สงสัยว่ามีกระดูกสะโพกหักหลังจากหกล้ม ได้แก่
- ปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก
- ลุกเดินไม่ได้
- ลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้
หากญาติพบผู้ป่วยหกล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหักให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทรเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปตรวจโดยเร็ว
การรักษาผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกหักจากการพลัดตกหรือหกล้มนั้นให้ความสำคัญกับกระดูกสะโพกเป็นหลัก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาหรือผ่าตัดภายใน 24 – 48 ชม. ด้วยระบบการรักษาแบบ Co – Management โดยให้ผู้ชำนาญการสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) ร่วมดูแล ประกอบไปด้วย แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เภสัชกรคลินิก นักโภชนากร และพยาบาล จะเข้าร่วมประเมินผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับในทุก ๆ ด้านอย่างเป็นองค์รวม เพื่อร่วมวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้ในสภาพเดิมในเวลาอันสั้น
โดยแพทย์จะใช้การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักแบบแผลเล็ก ด้วยเทคนิคการรักษากระดูกหักแบบรถไฟใต้ดิน (Minimally Invasive Osteosynthesis, MIPO) ช่วยให้ผู้ป่วยปวดน้อยลง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด และลดการเสียเลือด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว แผลมีขนาดเล็กสวยงาม นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ คนไข้จะเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว เจ็บปวดน้อยหลังผ่าตัด กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้โดยไม่ต้องห่วงหากต้องลงน้ำหนักที่ข้อสะโพก
ฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง
การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้น การกายภาพ และฟื้นฟูร่างกายโดยทีมสหสาขาเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว ลดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเข้ารักษาซ้ำ (Re – Admission) ที่โรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านระบบประสาทและสมอง ผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการตระหนักรู้ในการป้องกันการหกล้ม และมีความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ แพทย์จะทำการตรวจประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม ให้การรักษาด้วยโปรแกรมฝึกความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
โดยแนวทางป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ อาทิ
- ฝึกเดินให้ถูกต้อง
- สวมรองเท้าที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกำลังของกล้ามเนื้อ
- ฝึกการทรงตัว
- ทดสอบด้วยเครื่อง Balance Master เพื่อตรวจความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน
- ทดสอบการเซ ความสมดุล จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย
นอกจากนี้ยังมี Aquatic Treadmill เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่งในน้ำ ช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัว ผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัดข้อกระดูกสันหลัง สะโพกเสื่อม กระดูกหัก ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและกล้ามเนื้อ ซึ่งปรับระดับน้ำได้ หรือการใช้เครื่อง Alter – G Treadmill ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง อุปกรณ์คล้ายถุงลมช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้ได้สูงสุดถึง 80% ของน้ำหนักตัว เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการลงน้ำหนัก เช่น หลังผ่าตัดใหม่ ๆ บริเวณขา หัวเข่า ข้อเท้าหรือเท้า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก นักกีฬาหรือผู้ป่วยที่ต้องการให้ร่างกายแข็งแรงจำเป็นต้องมีการออกกำลัง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า การปรับพฤติกรรมส่วนตัว เช่น ค่อย ๆ ลุกยืนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกในท่ายืน หรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรสร้างเสริมภาวะโภชนาการที่ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เมื่อต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
ดูแลคุณภาพชีวิตให้ดีอีกครั้ง
การฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองและกระดูกสะโพกหักเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง หลังผ่าตัดอาจจะยังมีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน การเดินการทรงตัวก็ยังไม่มั่นคง ต้องการการฟื้นฟูต่อเนื่อง เพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งการกลับไปดูแลต่อที่บ้านในระยะแรกจะต้องการคนดูแลใกล้ชิด การทำกายภาพต่อเนื่อง รวมถึงการปรับสถานที่สภาพแวดล้อมที่บ้าน เช่น ควรมีวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ไม่วางของระเกะระกะ ควรมีแสงสว่างเพียงพอโดยเฉพาะตรงราวบันได ติดตั้งหลอดไฟบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อย ๆ โดยปุ่มสวิตซ์อยู่ใกล้มือเอื้อม มีอุปกรณ์เครื่องเรือนบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็น และต้องแข็งแรงมั่นคงอยู่สูงจากพื้นมองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อย ๆ เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไป ทางเดินและบันไดควรมีราวจับตลอดและขั้นบันไดสม่ำเสมอ พื้นห้องสม่ำเสมอและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู ไม่ควรมีสิ่งของเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้า สายไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้บริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดมีความสำคัญ ควรได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบำบัด ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ครอบคลุมถึงสุขภาพร่างกาย จิตใจแบบองค์รวม เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือมีส่วนร่วมในสังคมได้ดีขึ้น
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์