ยาแอนติบอดีแบบผสม (COVID-19 Antibody Cocktail) สำหรับรักษาโรค COVID-19

3 นาทีในการอ่าน
ยาแอนติบอดีแบบผสม (COVID-19 Antibody Cocktail) สำหรับรักษาโรค COVID-19

แชร์

ยาแอนติบอดีแบบผสมประกอบไปด้วยยาคาซิริวิแมบและยาอิมดีวิแมบ (Casirivimab และ Imdevimab) ซึ่งเป็นยาใหม่ในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) หรือที่เรียกกันว่าแอนติบอดีค็อกเทล (Antibody Cocktail)” มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรค COVID-19 ในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยมีอาการน้อยถึงปานกลาง ไม่ต้องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูงและเป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่อาการรุนแรง จากการวิจัยทางคลินิกพบว่า การรักษาด้วยยาแอนติบอดีแบบผสมสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดและยับยั้งการติดเชื้อของร่างกาย รวมทั้งลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตโดยต้องได้รับยาตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย ซึ่งยาแอนติบอดีแบบผสมนี้ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 (Emergency Use Authorization หรือ EUA) เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ญี่ปุ่น

 

ยาแอนติบอดีแบบผสม (Antibody Cocktail) ออกฤทธิ์อย่างไร

ยาแอนติบอดีแบบผสมประกอบไปด้วยยาคาซิริวิแมบและยาอิมดีวิแมบ เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีประเภท Immunoglobulin (Ig) ชนิด IgG ที่สกัดจากแอนติบอดีของผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งรักษาหายแล้ว และแอนติบอดีที่สกัดจากหนู ซึ่งถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันคล้ายมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี Recombinant DNA โดยแอนติบอดีนี้ออกฤทธิ์ลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยการขัดขวางไม่ให้โปรตีนหนาม (Spike Protein) ของเชื้อจับกับตัวรับของเซลล์ร่างกาย นำไปสู่การยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกาย


ข้อบ่งชี้ยาแอนติบอดีแบบผสม

ยาแอนติบอดีแบบผสมมีข้อบ่งใช้เพื่อการรักษาโรค COVID-19 ในผู้ป่วยที่มีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อ อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอาการน้อยถึงปานกลาง ไม่ต้องให้ออกซิเจนอัตราสูงเพื่อการรักษา และเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่อาการรุนแรง

โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • โรคอ้วน
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคปอดเรื้อรัง
  • โรคหอบหืด
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2
  • โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างฟอกไต
  • โรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันถูกกดจากผลการประเมินโดยแพทย์ เช่น ผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกหรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ป่วยที่มีโรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะโลหิตจางเหตุเซลล์เม็ดเลือดแดงผิดปกติเป็นรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) หรือ โรคธาลัสซีเมีย
  • ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ประโยชน์ของยาแอนติบอดีแบบผสมในผู้ป่วย COVID-19

จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกในปัจจุบันพบว่า การให้ยาแอนติบอดีแบบผสมในผู้ป่วยอายุ 12 ปี ขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลางและไม่ต้องได้รับออกซิเจนเสริมในการรักษาสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดและยับยั้งการติดเชื้อในร่างกาย อีกทั้งยังลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต โดยต้องได้รับยาตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย นอกจากนี้ยังพบว่ายาแอนติบอดีแบบผสมออกฤทธิ์ต่อเชื้อกลายพันธุ์บางชนิดได้ด้วย


ขนาดยาและวิธีบริหารยาแอนติบอดีแบบผสม

ยาคาซิริวิแมบ 600 มิลลิกรัม และยาอิมดีวิแมบ 600 มิลลิกรัม ผสมกันในสารละลายนํ้าเกลือโซเดียมคลอไรด์ 0.9% โดยบริหารยาด้วยการหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในครั้งเดียว (Single Intravenous Infusion) ระยะเวลาขั้นต่ำที่ใช้ในการหยดยา 20 – 30 นาที ในระหว่างการหยดยาผู้ป่วยต้องได้รับการเฝ้าติดตามอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังจากเสร็จสิ้นการหยดยา ทั้งนี้ขนาดและความถี่ในการบริหารยาขึ้นกับอาการ โรคร่วม และการตอบสนองของผู้ป่วย โดยแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินแนวทางการบริหารยาในผู้ป่วยแต่ละราย


ผลข้างเคียงและข้อควรทราบ

มีการรายงานผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นแต่พบได้น้อย เช่น ภาวะมีไข้ หนาวสั่น  ผื่นลมพิษ อาการคัน อาการปวดท้อง คลื่นไส้ และร้อนวูบวาบ ในขณะบริหารยาหากมีอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงต้องหยุดการให้ยาทันที ทั้งนี้ยาคาซิริวิแมบและยาอิมดีวิแมบไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องได้รับออกซิเจนเสริมอัตราการไหลสูง (High Flow Oxygen Therapy) หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะอาจทำให้ผลลัพธ์การรักษาแย่ลง

 

ที่สำคัญความเหมาะสมและความถี่ในการได้รับยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยประเมินจากอาการและภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย ยาแอนติบอดีแบบผสมเป็นยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลางเพื่อป้องกันไม่ให้โรครุนแรง ซึ่งอาจจะมีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างจำกัด ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับยานี้ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด


เรียบเรียงโดย (ข้อมูล ตุลาคม 2564)

  • นพ.อัศวิน ภูวธนสาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล และฝ่ายเภสัชกรรม รพ.กรุงเทพ สำนักงานใหญ่
  • เอกสารกำกับการขึ้นทะเบียนยาคาซิริวิแมบและยาอิมดีวิแมบ
References:
https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/coronavirus-covid-19-update-fda-authorizes-monoclonal-antibodies-treatment-covid-19

แชร์