ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ภัยเงียบต้องระวัง

3 นาทีในการอ่าน
ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ภัยเงียบต้องระวัง

แชร์

ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังกระเพาะอาหารใกล้กับลำไส้เล็กส่วนต้น มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งหนึ่งในโรคเกี่ยวกับตับอ่อนที่เปรียบเสมือนภัยเงียบรอวันแสดงอาการ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรักษาโดยเร็วที่สุดและดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรค

 

รู้จักตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) คือ ภาวะที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน โดยเป็นการอักเสบที่บริเวณเซลล์ของตับอ่อน เกิดขึ้นจากการที่น้ำย่อยในตับอ่อนไหลผ่านท่อของตับอ่อนไม่ได้ ทำให้น้ำย่อยย่อยเนื้อเยื่อตับอ่อนแทนจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยจะเป็นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ปกติอาการจะดีขึ้นหลังเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ 

 

อาการบอกโรค

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • ปวดบริเวณกลางหน้าท้องรุนแรงและเฉียบพลัน
  • ปวดนานตั้งแต่ 10 นาทีจนถึงชั่วโมง 
  • ปวดร้าวลงไปบริเวณกลางหลัง
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
  • มีไข้ ทั้งไข้สูงและต่ำ
  • กดแล้วเจ็บท้อง แต่ท้องไม่แข็ง
  • หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ตัวการของโรค

สาเหตุหลักของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันนาน ส่วนใหญ่ดื่มมากกว่า 50 กรัมต่อวัน ไม่น้อยกว่า 5 ปี พบมากถึง 25 – 35%
  • นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) พบมากถึง 40 – 70% มักเกิดจากนิ่วที่หลุดออกมาจากถุงน้ำดีและมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร 
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ยาชนิดต่าง ๆ เนื้องอกตับอ่อน โรคตับอ่อนที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด 

 

ประเภทตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ตับอ่อนอักเสบบวมน้ำ (Interstitial Edematous Pancreatitis) พบมากในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเนื้อตับอ่อนจะบวม มีการสะสมของสารน้ำรอบตับอ่อน 
  2. ตับอ่อนอักเสบที่มีเนื้อตาย (Necrotizing Pancreatitis) พบได้ประมาณ 5 – 10% โดยมีเนื้อตายของตับอ่อนจากการที่เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอและมีเนื้อตายรอบตับอ่อน ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกัน แต่อาจเกิดลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้แต่ค่อนข้างน้อย 

 

ความรุนแรงของโรค

โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สามารถแบ่งตามความรุนแรงของโรคได้ดังนี้

  1. ตับอ่อนอักเสบเล็กน้อย (Mild Acute Pancreatitis) ในกลุ่มนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication)
  2. ตับอ่อนอักเสบรุนแรงปานกลาง (Moderately Severe Acute Pancreatitis) หมายถึง การมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication) ที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ที่มีอาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง
  3. ตับอ่อนอักเสบรุนแรงมาก (Severe Acute Pancreatitis) หมายถึง การมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication) ที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ที่มีอาการมากกว่า 48 ชั่วโมง

 

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันสามารถทำได้โดย 

  • ซักประวัติ
  • ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของตับ ตรวจระดับน้ำตาล ตรวจระดับแคลเซียม ตรวจไตรกลีเซอไรด์
  • เจาะเลือดตรวจหาเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) และไลเปส (Lipase) โดยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจะพบเอนไซม์อะไมเลสที่มีค่าสูงขึ้นภายใน 6 – 12 ชั่วโมง ส่วนค่าของไลเปสในเลือดจะสูงขึ้นตั้งแต่วันแรกของการอักเสบ
  • การอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) 
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) 
  • การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)

 

การรักษาตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมักมีความรุนแรงเล็กน้อยจึงมักหายได้หลังการรักษากับแพทย์เฉพาะทางภายใน 1 – 2 สัปดาห์ มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในระดับที่รุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสม 

โดยการรักษามีหลายวิธี ได้แก่

  • การให้ยาแก้ปวดแบบที่ไม่ใช่มอร์ฟีน
  • การใส่สายยางเข้าเส้นเลือดดำเพื่อประเมินน้ำในร่างกาย
  • ลดการทำงานของตับอ่อน ด้วยการงดน้ำ งดอาหาร ดูดน้ำย่อยกระเพาะอาหารออก การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (ถ้ามีความรุนแรงเล็กน้อยอาจให้ทานอาหารทางปากได้บ้างเมื่ออาการปวดท้องทุเลาลง)
  • การป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด 
  • การผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงนํ้าดี มีเพียงส่วนน้อย ซึ่งมาจากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี  
  • การผ่าตัดตับอ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ เช่น มีเนื้อตายหรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องทำการใส่ท่อระบายบริเวณที่มีปัญหาและถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อตายของบริเวณตับอ่อนออก (Pancreatic Necrosectomy)

 

ป้องกันได้แค่ใส่ใจตับอ่อน

การป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทำได้โดยการดูแลตับอ่อนให้แข็งแรง ได้แก่
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • หากมีนิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์