ฝังเข็มกับการรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬา

2 นาทีในการอ่าน
ฝังเข็มกับการรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬา

แชร์

นักกีฬาหรือคนที่เล่นกีฬา ตลอดจนคนที่ออกกำลังกายมาก ๆ คงเคยมีประสบการณ์บาดเจ็บกล้ามเนื้อมาบ้าง หลังออกกำลังกายมีอาการปวด ระบม ตึง หรือปวดเมื่อยในกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือทั่ว ๆ ตัวเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุมักจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่หนักมากจนเกินไป หรือเนื่องจากท่าทางและการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้องในการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การยกน้ำหนัก หรืออื่น ๆ


อาการปวดกล้ามเนื้อเหล่านี้ถ้าได้พักร่างกายสามารถซ่อมแซมจนหายเองได้ ถ้าไม่ได้พักก็อาจจะกลายเป็นปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่เรียกว่า Myofascial Pain Syndrome ซึ่งมีการปวดเกิดขึ้นจากการที่มีเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนหด เกร็ง ค้าง ไม่ยอมคลายตัวที่เรียกว่า Trigger Point (TrPs) ซึ่งโรคนี้วิธีการรักษาก็มีหลายวิธี ได้แก่ วิธีทางทำกายภาพบำบัด ใช้ความร้อนลึก เช่น อัลตราซาวนด์ ยืดกล้ามเนื้อ และนวดบำบัด


ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น การบำบัดรักษาด้วยการใช้เข็มคลายจุด Trigger Point ก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดี ซึ่งโดยทั่วไปจะเรียกว่าฝังเข็ม แต่ทว่าการใช้เข็มรักษาปวดกล้ามเนื้อนั้นมี 2 แบบคือ

  1. การแพทย์แผนปัจจุบัน

    • การคลายจุดเจ็บในกล้ามเนื้อด้วยเข็มเปล่า เรียกว่า Dry Needling หรือ การแทงเข็มเปล่า (แห้ง) เป็นการรักษาโรคปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งค้างที่เรียกว่า Myofascial Trigger Point โดยใช้เข็มสะกิดให้เกิดการคลายตัวของ Trigger Point อาการปวดก็จะหายไปได้ 

    • คลายจุดเจ็บในกล้ามเนื้อด้วยการฉีดยาชา เรียกว่า Trigger Point Injection with Lidocaine เป็นการฉีดยาชาเข้าไปใน Trigger Point และใช้เข็มฉีดยาสะกิดให้เกิดการคลายตัวของ Trigger Point อาการปวดก็จะหายไป

  2. การฝังเข็มแบบแพทย์แผนจีน (Acupuncture)

    การฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลของร่างกายตามแนววินิจฉัยโรคของการแพทย์แผนจีน ซึ่งจะปักเข็มลงไปตามจุดฝังเข็มที่อยู่บนเส้นลมปราณ กระตุ้นให้ลมปราณไหลเวียน ร่างกายรักษาตนเอง

    การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง Myofascial Pain Syndrome ด้วยเข็มนั้น มีลักษณะผสมผสานของการฝังเข็มทั้ง 2 รูปแบบโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและให้การรักษาร่วมกับการส่งทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อการรักษาต่อไปจึงจะได้ผลดี


เตรียมตัวรักษาโดยการฝังเข็ม

  1. รับประทานอาหารตามปกติก่อนมาฝังเข็มเสมอ เพราะถ้าท้องว่างมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย

  2. พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย

  3. ควรสวมเสื้อผ้าแบบสบาย ๆ กางเกงหลวม

  4. ขณะรับการฝังเข็ม ถ้าอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที


ผลข้างเคียงในการฝังเข็มที่อาจเกิดขึ้นได้

  1. เป็นลม สาเหตุเกิดจากตื่นเต้น กลัวเข็ม ร่างกายอ่อนเพลีย ท้องว่าง หิวข้าว หรือเกิดจากการกระตุ้นเข็มมากไป

  2. เข็มติด เข็มงอ เข็มหัก สาเหตุเกิดจากมีการขยับตัวเวลาปักขับ ดังนั้นผู้ป่วยต้องพยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด

  3. เลือดออก สาเหตุเกิดจากการปักเข็มถูกเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังหรืออยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้วแต่อาจเกิดได้ ตอนถอนเข็มต้องกดทันทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ออก

  4. ลมขังในโพรงเยื่อหุ้มปอด ข้อแทรกซ้อนนี้ค่อนข้างรุนแรง แก้ไขโดยแพทย์ต้องระมัดระวัง ไม่ปักเข็มในบริเวณที่อาจทะลุเข้าปอดได้ และคนไข้ต้องอยู่นิ่ง ๆ ในขณะทำการฝังเข็ม


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์