สงกรานต์ 7 วัน ระวังอันตรายถึงชีวิต

4 นาทีในการอ่าน
สงกรานต์ 7 วัน ระวังอันตรายถึงชีวิต

แชร์

“7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์” “Trauma Day” คงไม่มีใครอยากให้เกิด “อุบัติเหตุ” ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต หรือความพิการ

ผู้บาดเจ็บที่พบในที่เกิดเหตุอาจผ่านการกระทบกระแทกและมีการบาดเจ็บภายในที่เราไม่เห็น การช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุเพื่อนำส่งโรงพยาบาลต้องระวังป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่อุ้ม ดึง ยก และเคลื่อนตัวผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะในรายที่กระดูกหัก ข้อเคลื่อน การเข้าช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อาจทำให้กระดูกเคลื่อนไปกดเบียดอวัยวะสำคัญที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ เส้นประสาท ไขสันหลัง หลอดเลือดได้

หากพบเจอผู้บาดเจ็บควรโทร.1669 หรือสายด่วน 1724 ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บีดีเอ็มเอส BDMS Medevac Center พร้อมให้การช่วยเหลือเพื่อแจ้งเหตุ และให้การช่วยเหลือตามคำแนะนำ ผู้บาดเจ็บที่อาการหนักหรือขยับตัวเองไม่ได้ควรรอให้ทีมที่ผ่านการฝึกและมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาให้การช่วยเหลือในลำดับถัดไป

“แต่ละนาทีที่ผ่านไป สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บคือช่วงเวลาระหว่างความเป็นความตาย สิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่จะลดโอกาสความสูญเสียในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ได้คือ การดูแลรักษาที่เหมาะสม ทันท่วงที”


ตัวอย่างระบบการปฏิบัติต่อผู้ป่วย ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บีดีเอ็มเอส BDMS Medevac Center ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล (Prehospital Care) ซึ่งเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และระหว่างนำส่งโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างรวดเร็วเพื่อมารับการรักษาต่อเนื่อง ตลอดจนถึงการรักษาในโรงพยาบาลโดยทีมแพทย์อุบัติเหตุการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ ทั้งหมดนี้ ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรเฉพาะทางได้รับการฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติจนชำนาญ สามารถตัดสินใจให้การรักษาที่เหมาะสมได้ทันที

 

ดูแลผู้บาดเจ็บอย่างเป็นขั้นตอน

การดูแลรักษาทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากสถาบัน Joint Commission International (JCI) เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ช่วง 7 วันอันตรายนี้ในส่วนของศูนย์อุบัติเหตุจัดเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาลฉุกเฉิน และบริการสนับสนุน ได้แก่ แผนกฉุกเฉิน, ห้องผ่าตัด, ธนาคารเลือด, ห้องไอซียู รวมทั้งทีมรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีทีมศัลยแพทย์อุบัติเหตุ ศัลยแพทย์เฉพาะทางให้การดูแลผู้บาดเจ็บ


การดูแลผู้บาดเจ็บก่อนนำส่งสถานพยาบาลและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บมีขั้นตอนสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ “แก้ไขภาวะฉุกเฉินที่อาจทำให้เสียชีวิตโดยเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และ “ป้องกันการบาดเจ็บซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อลดความพิการ”

ผู้บาดเจ็บทุกรายต้องได้รับการตรวจประเมินทุกส่วนในร่างกาย เพื่อตรวจหาการบาดเจ็บและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีลำดับการดูแลดังนี้

  1. สำรวจหาภาวะฉุกเฉินที่ทำให้เสียชีวิต เช่น เสียเลือดมาก หายใจลำบาก ขาดออกซิเจน เมื่อตรวจพบต้องเร่งแก้ไขในทันที
  2. ตรวจร่างกายให้ครบทุกส่วน เพื่อสำรวจหาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ขั้นตอนนี้จะทำเมื่อผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะที่คุกคามชีวิต
  3. เมื่อตรวจพบการบาดเจ็บที่สำคัญ ต้องมีทีมแพทย์สหสาขาผู้ชำนาญมาร่วมวางแผนการรักษาตั้งแต่ต้นเพื่อลดการรอคอยและการตรวจค้นที่ซ้ำซ้อน สามารถเริ่มผ่าตัดรักษา หรือให้การดูแลที่จำเพาะต่อการบาดเจ็บได้ทันที โดยเฉพาะการบาดเจ็บในระบบสำคัญของร่างกาย เช่น สมองและระบบประสาท หัวใจ หลอดเลือดใหญ่ ปอด ทางเดินหายใจกระดูกและข้อ

 

“การรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เกิดความพิการ หรือเสียชีวิต อีกขั้นตอนสำคัญคือ การวางแผนการรักษาร่วมกันของทีมแพทย์อุบัติเหตุและศัลยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศัลยกรรมสมองและระบบประสาท, ศัลยกรรมกระดูก, ศัลยกรรมตกแต่ง, ศัลยกรรมกระดูกใบหน้าและกระบอกตา, วิสัญญีแพทย์ และทีมแพทย์เวชบำบัดวิกฤติที่ให้การดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างต่อเนื่อง ทีมแพทย์ต้องร่วมกันวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย”


" "


ป้องกันการบาดเจ็บ
 

  • ร่างกายผู้ขับขี่ต้องพร้อม 

          – พักผ่อนเพียงพอ

          – ไม่อดนอน

          – ไม่ขับรถต่อเนื่องหลายชั่วโมง ไม่เกิน 4 ชั่วโมงต้องพัก 

          – “ง่วงไม่ขับ” ง่วงแล้วพัก หรือมีคนช่วยขับ ยิ่งรถใช้ความเร็วแม้เพียงชั่ววูบที่หลับไปก็อาจเกิดอุบัติเหตุรถชนได้

          – “ดื่มไม่ขับ” การรณรงค์เตือนว่า “เมาไม่ขับ” ทำได้ยาก…เพราะเมื่อดื่มแล้วส่วนมากจะบอกเลยว่า “ไม่เมา”

 

  • สภาพรถต้องพร้อม 

          – ระบบเบรกต้องพร้อมใช้งาน 

          – ขับขี่ด้วยความเร็วเหมาะสม

          – ขับให้ช้าลงจะลดความรุนแรงเมื่อเกิดเหตุ

          – ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการหยุดรถก่อนขับผ่านทางแยก ไม่ขับฝ่าไฟแดง

 

  • ป้องกันตนเองทุกครั้ง  

         – ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย

         – ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารในรถยนต์และรถโดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย

 

  • ปลอดภัยไว้ก่อน 

          เตรียมใจคิดไว้เสมอว่า “เดินทางไกล ต้องค่อย ๆ ไปด้วยกัน” มีน้ำใจให้ทางไม่เร่งรีบ “ไปแค่ใกล้ ๆ เราก็ไม่ประมาท” คนอื่นอาจพลาดมาชน เราต้องป้องกันตัวเอง

 

  • ศึกษาเส้นทางเพื่อให้รู้จุดเสี่ยง 

    – ศึกษาเส้นทางเพื่อให้รู้จุดเสี่ยง เช่น ทางโค้งหักศอก ทางโค้งลาดชัน ทางแคบ ทางชำรุด
    – วางแผนการเดินทางและการพักให้ดี
    – หลีกเลี่ยงสถานการณ์ “เหนื่อย ง่วง หิว หงุดหงิด ผิดเวลา”

 

เบอร์โทรสายด่วนที่ควรรู้ สายด่วน 1669 พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายสถานพยาบาลและหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนให้บริการการส่งต่อผู้บาดเจ็บผู้ป่วยฉุกเฉินและ สายด่วน 1724 ศูนย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บีดีเอ็มเอส BDMS Medevac Center

 

“ปลอดภัยไว้ก่อน” ศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลกรุงเทพ ไม่อยากให้คุณและคนที่คุณรักเป็นส่วนหนึ่งของสถิติในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป


สอบถามเพิ่มเติมที่

แชร์