5 โรคช่องท้องรักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

7 นาทีในการอ่าน
5 โรคช่องท้องรักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

แชร์

โรคในช่องท้องหลายโรคมักเริ่มจากอาการปวดท้องที่เหมือนจะธรรมดา แต่เมื่อรุนแรงอาจส่งผลให้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ก้าวไปไกลอย่างการผ่าตัดผ่านกล้องแบบไม่ต้องเปิดหน้าท้องผ่าเช่นสมัยก่อน หากถึงมือแพทย์เร็วย่อมช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง 

 

5 โรคช่องท้องดังต่อไปนี้รักษาได้ด้วยการส่องกล้อง 3 มิติ

 

1) ไส้ติ่งแตก

‘ไส้ติ่งอักเสบจะปวดท้องน้อยด้านขวา’ แต่หากคนไข้ไส้ติ่งแตกไปถึงมือหมอแล้ว วินิจฉัยโรคช้าจนมีภาวะแทรกซ้อน เป็นเพราะไส้ติ่งไม่ได้ปวดในตำแหน่งเดียวกันทุกคน ไส้ติ่งบางคนมุดไปอยู่ข้างหลังลำไส้ใหญ่ บางทีอยู่ใต้ตับ บางคนปวดท้องน้อยตรงกลาง ๆ บางคนต้องตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถึงจะเจอ

ปัจจุบันการตัดไส้ติ่งด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องเป็นที่นิยม เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็กกว่าด้ามปากกาลูกลื่นบางยี่ห้อ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหลังผ่าตัด เสียเลือดน้อย หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ต่ำ แต่หากเกิดไส้ติ่งแตก ไส้ติ่งแตกใหม่ ๆ ยังใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องได้ ถ้าผู้ป่วยปวดท้องน้อยด้านขวาด้านเดียว ไม่ปวดด้านซ้าย แต่ถ้าเกิดปวดทั้งท้องน้อยแล้วให้สงสัยว่ามีการรั่วหรือความสกปรกกระจายไปทั่ว แพทย์มักจะเลือกเปิดหน้าท้องผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีข้อจำกัดตรงที่จะล้างลำไส้ด้วยน้ำเกลือได้ไม่ดีเท่าการเปิดหน้าท้องผ่าตัดเพราะพื้นที่ทำงานจำกัด บางคนไส้ติ่งอักเสบแล้วไม่รู้ ทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ และที่เจอบ่อยคือทานยาฆ่าเชื้อเอง ไม่แนะนำ เพราะจะทำให้อาการดีขึ้นชั่วคราว ข้อเสียคือบางคนกลับมาด้วยอาการของโรคที่รุนแรงกว่าเดิม อาจกลายเป็นหนองจนยาบรรเทาอาการไม่อยู่ ก็จะมาหาหมอ ดังนั้นการปวดท้องต่อเนื่องยาวนานไม่แนะนำให้ทานยาแก้ปวดเอง

 

ไส้ติ่งแตก, นิ่วในถุงน้ำดี, ตับ, ตับอ่อน, ไส้เลื่อน, ผ่ากระเพาะ, โรคช่องท้อง, ปวดช่องท้อง, ผ่า 3 มิติ, ผ่าส่องกล้อง, ผ่าตัดส่องกล้อง, ส่องกล้อง

 

2) นิ่วในถุงน้ำดี

ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีอาการไม่มาก เริ่มจากแค่จุก ๆ แน่น ๆ หลังทานอาหาร 30 นาที เนื่องจากเป็นช่วงที่ถุงน้ำดีบีบตัวปล่อยน้ำดี แต่มีนิ่วอยู่จึงบีบตัวไม่ถนัด ใครที่มีอาการดังกล่าวประจำ ควรตรวจว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ กรณีพบนิ่วในถุงน้ำดีไม่ว่าขนาดไหน แพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการจะดูอาการเป็นหลัก ถ้ามีอาการเมื่อไรร่างกายเตือนแล้วว่าทิ้งไว้จะมีปัญหาควรผ่าออก ในรายที่ละเลยปล่อยให้ถุงน้ำดีอักเสบนาน ๆ หรืออักเสบรุนแรง ร่างกายจะพยายามช่วยเหลือตนเอง โดยดึงอวัยวะรอบ ๆ มาหุ้มถุงน้ำดีไว้ไม่ให้แตกหรือสร้างพังผืดหุ้ม ปัญหาคือถ้าท่อน้ำดีหลักถูกดึงมาติดด้วยกัน การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะไปโดนท่อน้ำดีหลัก 

จากตัวเลขที่โรงพยาบาลกรุงเทพเคยเก็บสถิติปี 2561 ของผู้เข้ารับการผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงน้ำดี พบว่า 93% ของคนไข้สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้สำเร็จแม้ในรายที่มีการอักเสบเฉียบพลัน และอัตราการบาดเจ็บที่ท่อน้ำดีหลักและการติดเชื้อหลังผ่าตัดในรายที่ไม่มีการอักเสบเฉียบพลันนั้นเป็น 0% แน่นอนว่าศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านผ่าตัดผ่านกล้องเป็นกุญแจสำคัญ แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วย ในห้องผ่าตัดจะมีศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง 2 ท่านช่วยกันเป็นทีม แพทย์ท่านหนึ่งจะโฟกัสส่วนที่กำลังผ่าตัด ส่วนรอบ ๆ จะมีแพทย์อีกท่านคอยตรวจสอบ ทำให้งานประณีตขึ้น ซึ่งระบบนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลกรุงเทพสำหรับผู้ป่วยทุกราย และเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องที่โรงพยาบาลกรุงเทพมีทั้ง เทคโนโลยี 4K Ultra High Definition แต่ก่อนความคมชัดระดับ Full HD ปัจจุบันมีเหนือกว่านั้น คมชัดขนาดขึ้นจอ 55 นิ้วให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะภายในชัดเจนขณะผ่าตัด 

ส่วนเทคโนโลยีที่ 2 คือ 3D ปัจจุบันนำมาใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic Surgery) คือตรงปลายกล้องผ่าตัดจะมี 2 เลนส์ เหมือนเรามี 2 ตา ทำให้เห็นระยะความลึกของอวัยวะที่กำลังจะผ่าตัดแบบ 3 มิติ (3D) ศัลยแพทย์จะใส่แว่น 3 มิติมองขณะทำการผ่าตัด ความคมชัดของภาพที่เห็นระดับ Full HD แต่ยังไม่คมชัดเหนือระดับ Full HD เช่นกล้อง 4K ที่ใช้อยู่ เพราะยังไม่สามารถลดขนาดเลนส์ 4K สองเลนส์เข้าไปในกล้องขนาด 1 เซนติเมตรได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่กล้องมีความคมชัดสูง ทำให้ลดผลข้างเคียงที่จะเกิดกับการผ่าตัดในกรณีที่อวัยวะอยู่ชิดกันมาก ๆ อย่างการตัดถุงน้ำดีออกที่ต้องค่อย ๆ เลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตัวตับและอวัยวะข้างเคียง ระยะห่างแค่มิลลิเมตรเดียว การใช้ความร้อนหรือจี้ไฟฟ้าตัดถ้าเราพลาดเลยไปก็อาจไปโดนตัวตับ เลือดก็จะออกมา ถ้าพลาดชิดถุงน้ำดี ซึ่งบางสัก 2 – 3 มิลลิเมตรก็อาจทะลุเข้าถุงน้ำดี มีโอกาสติดเชื้อจากถุงน้ำดีแตก การใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้อง 3 มิติ หรือจะใช้ 4K ช่วยในการผ่าตัดได้ดี

 

3) ตับและตับอ่อน

การรักษาตับและตับอ่อนที่อักเสบด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง มักจะทำในกรณีที่พบเนื้องอก มะเร็ง ซีสต์ หรือมีนิ่วไปอุดท่อตับอ่อน 

  • ตับอ่อนอักเสบ
    ในกรณีที่ตับอ่อนอักเสบ เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีพลัดไปอุดท่อตับอ่อน แพทย์จะใส่กล้องผ่าตัดเข้าทางปากเหมือนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพราะลำไส้ส่วนต้นจะมีรูที่ท่อตับอ่อน เมื่อเอากล้องเข้าไปแล้วคล้องนิ่วในท่อออก แต่ไม่สามารถเข้าทางนี้เพื่อไปเอานิ่วในถุงน้ำดีได้ จึงต้องเจาะหน้าท้องเป็นรูเล็ก ๆ เพราะท่อน้ำดีคดเคี้ยวและบริเวณคอท่อที่ต่อกับถุงจะแคบราว 2 มิลลิเมตร และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ไม่นิยมสลายนิ่วในถุงน้ำดี เพราะเศษนิ่วอาจพลัดไปอุดท่อถุงน้ำดี ซึ่งอันตรายหนักกว่าเดิม
  • ตับหรือตับอ่อนเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง
    ในกรณีที่ตับหรือตับอ่อนเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยให้มองเห็นเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่อยู่ในตับได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดเสียเลือดน้อย ลดโอกาสบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เทียบกับสมัยก่อนที่ผ่าทางหน้าท้องแผลจะยาวเกือบฟุต 

 

“เทคโนโลยีกล้องผ่าตัด 3 มิติ หรือ 4K ในปัจจุบันเห็นชัดกว่าการเปิดหน้าท้องแบบเก่า เพราะกล้องเข้าไปจ่ออยู่ที่อวัยวะห่างประมาณ 1 เซนติเมตรและกล้องยังมีกำลังขยายสูง สามารถหักมุมชอนไชได้ดี ทำให้มุมที่เมื่อก่อนแพทย์มองไม่เห็นก็เห็นได้ชัดเจน”

 

ไส้ติ่งแตก, นิ่วในถุงน้ำดี, ตับ, ตับอ่อน, ไส้เลื่อน, ผ่ากระเพาะ, โรคช่องท้อง, ปวดช่องท้อง, ผ่า 3 มิติ, ผ่าส่องกล้อง, ผ่าตัดส่องกล้อง, ส่องกล้อง

 

4) ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อนเกิดจากผนังของกล้ามเนื้ออ่อนแอ ทำให้ลำไส้เลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น มักพบบริเวณขาหนีบ สะดือ และช่วงยอดอก (กลุ่มนี้เรียกไส้เลื่อนกะบังลม) หรือบริเวณผนังหน้าท้องที่เคยผ่าตัดมาก่อน จะมีอาการปวดแบบจุก ๆ แน่น ๆ ร่วมกับการสังเกตเห็นก้อนนูน ๆ ในตำแหน่งที่ปวด สำหรับผู้ที่เป็นไส้เลื่อนกะบังลม กระเพาะอาหารจะถูกดันขึ้นไปอยู่ในช่องอก กลุ่มนี้มักจะมีอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากน้ำย่อยเล็ดลอดเข้าไปในหลอดอาหารนานเข้าทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร 

  • ไส้เลื่อนขาหนีบ
    ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ โดยเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากทารกชายขณะยังอยู่ในท้องแม่ อัณฑะจะยังอยู่ในช่องท้อง และค่อย ๆ เลื่อนลงออกมาข้างนอก จากนั้นผนังหน้าท้องจะค่อย ๆ ปิดเองตามวิวัฒนาการ แต่บางคนปิดไม่สมบูรณ์ บางคนปิดสมบูรณ์ แต่ภายหลังมีการซ่อมแซมคอลลาเจนที่ผิดปกติ ทำให้มีลำไส้เลื่อนโผล่ออกมา ไส้เลื่อนสามารถเลื่อนเข้าออกได้ บางครั้งเลื่อนออกมาแล้วหมุนไปมาเกิดค้างติดไม่สามารถดันกลับเข้าช่องท้องได้ เลือดวิ่งไปเลี้ยงลำไส้ไม่ได้ เพราะมีการหักพับ ลำไส้จะบวมขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายลำไส้เน่า ไส้เลื่อนแล้วเกิดลำไส้เน่าได้เช่นกัน 

กรณีเช่นนี้การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยได้ โดยจะมีการนำตาข่ายไปปิดช่องที่เกิดไส้เลื่อน เพื่อเสริมความแข็งแรง ป้องกันการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ ปกติจะมีช่องที่เป็นจุดอ่อนให้เกิดไส้เลื่อนขาหนีบได้ 3 ช่อง คนหนุ่มมักจะเกิดไส้เลื่อนตรงช่องที่มีท่อนำน้ำเชื้อออก เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อช่องตรงกลางมักอ่อนแอก็จะพบไส้เลื่อนออกที่ช่องตรงกลาง ส่วนผู้หญิงพอมีอายุ ไขมันจะน้อยลงมักพบไส้เลื่อนออกอีกช่องข้างเส้นเลือด การผ่าตัดไส้เลื่อนปัจจุบันแพทย์จะปิดแผ่นตาข่ายไว้ด้านหลังช่องที่เกิดปัญหาและคลุมไปยังช่องที่ไม่เป็นปัญหาด้วย ส่วนไส้เลื่อนกะบังลมจะใช้ตาข่ายช่วยปิดเช่นกัน แต่ถ้าช่องที่ก่อปัญหาไม่กว้างก็จะใช้การเย็บปิด

 

5) โรคอ้วน 

ปัจจุบันเชื่อกันว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome ความผิดปกติของระบบเมแทบอลิก) นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีต่ำ รวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และภาวะดื้อต่ออินซูลินที่จะกลายเป็นเบาหวานในที่สุด โรคอ้วนยังมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผิดปกติส่งผลให้ภาวะไข่ตกแปรปรวนในสตรี ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้มีบุตรยาก ทั้งยังพบว่า การมีซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่สัมพันธ์กับโรคอ้วน คนที่น้ำหนักเกินมาก ๆ ไขมันจะถูกแปลงรูปก่อให้เกิดสารที่ดื้อต่ออินซูลิน เกิดความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนปั่นป่วน และเกิดโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดผิดปกติ มีผลต่อหลอดเลือดที่สมอง ที่หัวใจ ที่ไต ที่ตา หลอดเลือดหลัก ๆ เสื่อมหมด เกิดจากน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปทำลายเส้นเลือด

  • ผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะ
    การผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะเป็นการสร้างข้อจำกัดให้บริโภคน้อยลง ไม่เพียงอัตราลดน้ำหนักสำเร็จจะสูง ยังพบว่า ทำให้โรคที่มากับภัยอ้วนดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง อาการไขมันพอกตับดีขึ้น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดีขึ้น ความดันโลหิตสูงดีขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติดีขึ้น ฯลฯ อีกทั้งถุงน้ำในรังไข่ที่เห็นเหมือนจุดไข่ปลาเกิดจากภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ เมื่อน้ำหนักลดได้ตามเกณฑ์ ซีสต์พวกนี้ส่วนใหญ่จะยุบไปเอง 

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคอ้วนที่เป็นมาตรฐานของการผ่าตัดประเภทนี้มีอยู่ 3 วิธี 

  1. ใช้ซิลิโคนรัดกระเพาะให้เหลือ 30 ซีซี. (ลดน้ำหนักสำเร็จราว 50% แต่มีอัตราที่จะกลับมาอ้วนใหม่ใน 5 ปีสูง) 
  2. ตัดกระเพาะให้มีความจุ 150 ซีซี. รูปทรงเหมือนกล้วยหอม วิธีนี้จะตัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมความหิวออกประมาณ 80% ผ่าตัดแล้วคุณหมอบอกจะไม่ค่อยหิว อัตราลดน้ำหนักสำเร็จ 60 – 70% โรคร่วมต่าง ๆ อย่างเบาหวาน ความดัน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือหอบหืด กรดไหลย้อน โรคไขข้อดีขึ้น
  3. ตัดกระเพาะให้เหลือ 30 ซีซี. และตัดลำไส้ By Pass ให้สั้นลง เพื่อลดการดูดซึมสารอาหาร อัตราการลดน้ำหนักสำเร็จ 70 – 80% และวิธีนี้พบว่าภาวะความดันโลหิตและเบาหวานดีขึ้นกว่าวิธีที่ 2 เพราะในลำไส้มีตัวรับสัญญาณประสาทกลุ่มหนึ่งสัมพันธ์กับน้ำตาล พอตัดออกอาการเบาหวานจะดีขึ้น แต่วิธีนี้ลำไส้จะมีรอยต่อ 2 ตำแหน่ง กระเพาะเป็นอวัยวะที่เลือดมาเลี้ยงดี รั่วซึมยาก แต่ลำไส้ไม่ใช่ โอกาสรั่วซึมและเกิดภาวะแทรกซ้อนจะสูงกว่า ฉะนั้นถ้าไม่มีโรคร่วมกับความอ้วนที่รุนแรง เช่น เป็นเบาหวานอย่างรุนแรงหรือโรคอื่น ๆ แพทย์อาจจะเพียงตัดกระเพาะให้เป็นรูปกล้วย แต่ถ้าผ่าตัดวิธีนี้แล้วยังลดน้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์และโรคร่วมรุนแรง จึงทำ By Pass ลำไส้ในขั้นต่อไป ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องลดขนาดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน น้ำหนักที่ลดลงเป็นผลพลอยได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ โรคแทรกซ้อนที่รุมเร้ามากับความอ้วนดีขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความนับถือตนเองกลับมา

 

“วิธีผ่าตัดผ่านกล้องเป็นที่นิยมและด้วยเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กกว่าด้ามปากกา เทคโนโลยี 3D หรือ 4K ช่วยเพิ่มความคมชัด ทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ”

 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์