ระวัง 3 อาการพบบ่อยบอกโรคภายในคุณผู้หญิง

3 นาทีในการอ่าน
ระวัง 3 อาการพบบ่อยบอกโรคภายในคุณผู้หญิง

แชร์

ร่างกายของผู้หญิงมีความซับซ้อน โดยเฉพาะระบบภายในของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ไม่คาดคิดขึ้น บางครั้งมีอาการเตือน แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณใด ๆ การรู้เท่าทันอาการผิดปกติที่บอกโรคภายในคุณผู้หญิงที่พบได้บ่อยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยเพื่อจะได้รู้ระวังและหมั่นตรวจเช็กสุขภาพภายในอยู่เสมอ 

1) เลือดออกผิดปกติ

อาการเลือดออกผิดปกติ (Abnormal Uterine Bleeding, Vagina Bleeding) ได้แก่ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งกลุ่มโรคที่ต้องแยกแยะ เช่น การหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก (Hyperplasia) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium Cancer) ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจเพิ่มด้วยการทำอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด (Ultrasound Transvaginal) และทำการเก็บชิ้นเนื้อโพรงมดลูกเพื่อส่งตรวจ (Endometrium Biopsy)  

นอกจากนี้อาการเลือดออกผิดปกติอื่นๆเช่นเลือดออกที่ไม่ใช่รอบเดือน (มาสั้นกว่า 21 วัน), เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์, ประจำเดือนมามากจนโลหิตจางก็ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งมดลูกหรือการหนาตัวผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก (Hyperplasia) หรือแม้แต่ในกลุ่มเนื้องอกมดลูกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย เช่น เนื้องอกมดลูก (Myoma), โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis), ติ่งเนื้อโพรงมดลูก (Endometrium Polyp) ฯลฯ


2) ก้อนในช่องท้อง

ก้อนในช่องท้องที่พบในผู้หญิง เช่น ก้อนที่รังไข่ (Ovarian Tumor), อาการท้องอืด มีน้ำในท้อง (Ascites), อาการท้องอืด (Dyspepsia) อาจเป็นอาการของมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง หากตรวจพบได้เร็ว ซึ่งมักพบได้เร็วหากตรวจอัลตราซาวนด์, ตรวจ CT SCAN, ตรวจ MRI, ตรวจ PET CT เป็นต้น และสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือเคมีบำบัด ช่วยเพิ่มโอกาสทางการรักษาให้มีโอกาสหายขาดได้

นอกจากนี้ก้อนในช่องท้องอื่น ๆ ที่พบ เช่น เนื้องอกมดลูก (Myoma or Fibroid) ควรได้รับการดูแลโดยเร็ว สำหรับเนื้องอกมะเร็งนั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเสมอไป การผ่าตัดจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อบ่งชี้หลัก คือ เนื้องอกโตเร็ว (Sign of Malignancy) เนื้องอกไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย  เนื้องอกทำให้ประจำเดือนมามากจนโลหิตจาง เป็นต้น


ระวัง 3 อาการพบบ่อยบอกโรคภายในคุณผู้หญิง

3) มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดเดียวในโลกที่มีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีธรรมชาติการเป็นมะเร็งที่ยาวนาน จากเซลล์ปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี ก่อนจะกลายเป็นมะเร็ง โดยสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นเกิดจากไวรัส HPV เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) หรือปัจจุบันมีการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) ที่ตรวจหาเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูงแบบเจาะลึกลงไปในระดับดีเอ็นเอ ช่วยให้พบความผิดปกติได้โดยเร็ว ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทันท่วงที

ในผู้ป่วยที่ผลการตรวจวินิจฉัยพบมะเร็งปากมดลูกที่ผิดปกติอาจต้องมีการส่องกล้องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) และตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Biopsy) ช่วยค้นหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก (Pre – cancerous lesion : CIN) ซึ่งใช้เวลาตรวจเพียงไม่นานเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป เช่น การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP) หรือการจี้เย็น (Cryotherapy) เพื่อจัดการในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) และผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง หรือหากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุครบ 35 ปีควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ท้องอืด อาหารไม่ค่อยย่อย น้ำหนักลดควรมาพบแพทย์ทันที


โรคภายในคุณผู้หญิงสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคนจึงไม่ควรชะล่าใจและใส่ใจตรวจสุขภาพภายในเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้หากมีอาการผิดปกติต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ มีสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการ ทีมแพทย์สหสาขา และเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมดูแลทุกปัญหาภายในของคุณผู้หญิงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในทุกวัน 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์