สตรีสตรองได้ทุกช่วงวัยกับโรคที่ไม่ควรมองข้าม

5 นาทีในการอ่าน
สตรีสตรองได้ทุกช่วงวัยกับโรคที่ไม่ควรมองข้าม

แชร์

การวางรากฐานการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน ไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีในระยะยาว แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีในการป้องกันก่อนเกิดโรค เพราะฉะนั้นจึงควรใส่ใจวางแผนการดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัย

 

การดูแลสุขภาพกายคุณผู้หญิง

การดูแลสุขภาพกายของคุณผู้หญิงสามารถแบ่งออกตามวัยได้ดังต่อไปนี้

  1. วัยเด็กวัยก่อนเจริญพันธุ์ (วัยก่อนมีประจำเดือน) 
    การดูแลสุขภาพในวัยนี้เป็นการวางรากฐานทางสุขภาพที่ดีในระยะยาว ถ้าเริ่มต้นดีย่อมมีแนวโน้มว่าในวัยต่าง ๆ จะดีตามไปด้วย ซึ่งในช่วงวัยนี้จะอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกกิจกรรมที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. วัยเจริญพันธุ์ (วัยเริ่มมีประจำเดือน)
    เมื่อเริ่มมีประจำเดือนแสดงถึงการเป็นผู้หญิงเต็มตัว รังไข่ทำงานได้เต็มที่ ในช่วงวัยนี้จะมีระยะเวลานานคือตั้งแต่อายุ 15 – 50 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น
    • วัยเจริญพันธุ์ช่วงแรก (อายุ 20 – 30 ปี) 
      ผู้หญิงจะมีความกระฉับกระเฉง ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เป็นช่วงวัยที่ระบบการเผาผลาญทำงานได้ดี ออกกำลังกายได้เต็มที่ แนะนำให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลี่ยงไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้โกรทฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ช่วยคงความอ่อนเยาว์และชะลอวัยหลั่งออกมาอย่างเต็มที่ในเวลากลางคืน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เหมาะกับการมีบุตร เพราะสามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้รวดเร็ว แต่ในบางคนที่มีปัญหาปวดประจำเดือนแนะนำให้พบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และสำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วแนะนำให้ตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
    • วัยเจริญพันธุ์ช่วงหลัง (อายุ 30 ปีขึ้นไป)
      ในช่วงนี้ผู้หญิงจะเริ่มมีริ้วรอยบนใบหน้า ระบบการเผาผลาญเริ่มทำงานลดลง จึงควรระมัดระวังการรับประทานอาหาร ลดอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด เพราะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอย่างไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายแบบพอดีไม่หนักจนเกินไปเพื่อป้องกันข้อเสื่อม ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
  3. วัยก่อนหมดประจำเดือนวัยทอง (อายุ 40 ปีขึ้นไป)
    ผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนจนถึงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนจะเริ่มพบกับความเสื่อมของร่างกาย หากดูแลตัวเองดีตั้งแต่เด็กย่อมช่วยชะลอความเสื่อมได้ ในวัยนี้ต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เสริมแคลเซียมให้มากขึ้นเพราะกระดูกจะเริ่มบางลงจนเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ที่สำคัญควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง ได้แก่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดเริ่มแห้ง หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ หากผิดปกติควรรีบพบสูตินรีแพทย์ทันที 

การดูแลสุขภาพใจคุณผู้หญิง

สุขภาพใจที่ดีสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเพราะหากเครียดมากเกินไปหรือจิตใจไม่ดีย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายยิ่งในปัจจุบันที่ผู้หญิงมีหลายบทบาทในชีวิตการดูแลสุขภาพใจจึงสำคัญโดยมีเทคนิคง่าย ๆ คือ

  1. คิดบวก มองโลกในแง่ดี ช่วยให้จัดการทุกอุปสรรคและปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  2. เลิกเปรียบเทียบ เพราะทุกคนมีชีวิตแตกต่างกัน ความสุขในชีวิตของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน จึงไม่ควรเปรียบเทียบกับใคร มีสติและใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม 
  3. สื่อสารให้ชัดเจน ในยุคนี้การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่ากับคนในบ้านหรือนอกบ้าน โดยเฉพาะการสื่อสารภายในครอบครัวสำคัญมาก ควรพูดคุยกันอย่างระมัดระวัง อย่ามองข้าม อย่าคิดแทน เปิดใจคุยเพื่อให้เข้าใจกัน
  4. มีเพื่อนที่ดีพร้อมรับฟัง ปัญหาบางเรื่องที่ไม่สามารถระบายกับคนในครอบครัวได้ การมีเพื่อนที่ดี ไว้ใจได้ ไม่นำความลับไปบอกต่อ และพร้อมรับฟังเสมอ ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้
  5. พักผ่อนด้วยงานอดิเรกที่ชอบ ในหนึ่งวันควรแบ่งเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าตลอดทั้งวัน แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและไม่ผิดกฎหมาย 

สตรีสตรองได้ทุกช่วงวัยกับโรคที่ไม่ควรมองข้าม

อาการเสี่ยงโรคผู้หญิงที่ไม่ควรละเลย

หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรสังเกตและพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจเช็กทันที

  • ปวดท้องน้อย อาการสำคัญอันดับแรกที่ผู้หญิงมาพบสูตินรีแพทย์เพราะทนไม่ไหว ซึ่งจะพิจารณาจากลักษณะอาการปวดท้องน้อยเป็นสำคัญเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย
  • ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ปวดมากขึ้นทุกเดือน กินยาแล้วไม่หายต้องกินเพิ่มหรือฉีดยา ปวดมากจนทรมาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ได้
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ จากเดิมใช้ผ้าอนามัยแค่ 2 – 3 ผืน เป็นใช้ผ้าอนามัยวันละ 7 – 8 ผืน แม้ประจำเดือนจะไม่มีทางมาเท่ากันในแต่ละเดือน แต่หากมามากเกินไปและมาไม่ตรงรอบควรพบสูตินรีแพทย์ทันที
  • ปัสสาวะบ่อย สังเกตได้จากการปัสสาวะตอนกลางคืนเกิน 2 ครั้งอาจบอกโรคบางอย่างได้ เช่น เนื้องอกมดลูกอาจมีก้อนเนื้อไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงมดลูกอย่างกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย

โรคผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

อาการปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่พบบ่อยในคุณผู้หญิง ได้แก่

  • เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Leiomyoma or fibromyoma or fibroid or myoma uteri) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบเติบโตในกล้ามเนื้อมดลูก มีลักษณะค่อนข้างกลม พบได้บ่อยมาก ในผู้หญิง 10 คน พบได้ 6 คน ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนบริเวณมดลูก 
  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก โดยเนื้องอกอาจโตในโพรงมดลูกหรือโตเป็นก้อนนูนออกจากมดลูก ซึ่งการเติบโตจะค่อย ๆ โตไปอย่างช้า ๆ หรืออาจมีขนาดเท่าเดิม อาการที่พบบ่อยคือปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยเพราะถูกกดเบียดจากอวัยวะข้างเคียง สำหรับโอกาสที่เนื้องอกมดลูกจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งมีน้อยมาก คือน้อยกว่า 1% ดังนั้นถ้าไม่มีอาการอะไรเลยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี มาอัลตราซาวนด์เพื่อเช็กว่าโตเร็วไหม ซึ่งโดยปกติเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งจะโตค่อนข้างช้า หากมากกว่านั้นอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก เช่น แทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก หรือเติบโตตามอวัยวะต่าง ส่งผลให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อเหล่านั้นขณะมีประจำเดือน ทำให้บริเวณนั้นมีเลือดคั่งและบวมขึ้น มดลูกมีการบีบตัวมากขึ้น ทำให้ปวดประจำเดือนและมดลูกมีลักษณะอ้วนกลมและโตขึ้น หากเนื้อเยื่อนี้ไปเจริญในรังไข่ก็จะทำให้เกิดช็อกโกแลตซีสต์ขึ้น อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือน หรือเกิดภาวะมีบุตรยากตามมา ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด  ฮอร์โมนบำบัด หรือผ่าตัด
  • ถุงน้ำรังไข่ มี 2 แบบ คือ เกิดจากเยื่อบุผิวของรังไข่ (Ovarian – Cysts) กับเกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังที่มีผม ขน ฟันข้างใน ที่เรียกว่า เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst) หากมีอยู่ในร่างกายอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันจากรังไข่บิดขั้ว เป็น ๆ หาย ๆ จนต้องมาพบสูตินรีแพทย์ ซึ่งอาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำที่พบ จึงต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดกับสูตินรีแพทย์ ส่วนใหญ่ภาวะนี้รักษาโดยการผ่าตัด ที่น่าสนใจคือมีทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง จึงควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


เพราะสุขภาพผู้หญิงควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพและอย่าละเลยการตรวจสุขภาพภายในทุกปีเพื่อเฝ้าระวังและได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกของโรค


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์สุขภาพสตรี
ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แชร์