เอเอฟซีจับมือสมาคมฟุตบอลไทยจัดอบรมจับโกงอายุด้วยเครื่อง MRI

3 นาทีในการอ่าน
เอเอฟซีจับมือสมาคมฟุตบอลไทยจัดอบรมจับโกงอายุด้วยเครื่อง MRI

แชร์

คณะ กรรมการฝ่ายแพทย์ของเอเอฟซี ร่วมกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดการฝึกอบรมการอ่านผลเอ็มอาร์ไอ กระดูกข้อมือให้แก่รังสีแพทย์จากกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเชียตะวันออก จำนวน 16 ราย และรังสีแพทย์ของประเทศไทยจำนวน 6 ราย เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทักษะในการอ่านผลเอ็มอาร์ไอ เพื่อประโยชน์ของแต่ละประเทศในการนำไปใช้ในการป้องกันหรือตรวจจับการโกงอายุ สำหรับนักฟุตบอลรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 57 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ศ.นพ.รุ่งธรรม ลัดพลี ชั้น 8 อาคาร BGH รพ. กรุงเทพ ทางด้าน เอเอฟซี หรือสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย นำโดย เกอจาราน ซิงค์ ประธานฝ่ายแพทย์ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย พร้อมทั้ง น.อ. (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ คณะกรรมการฝ่ายแพทย์แห่งเอเชีย และประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้มีการจับมือจัดอบรมสัมมนา เรื่อง เอ็มอาร์ไอ การตรวจจับการโก่งอายุในนักกีฬาด้วยคลื่นแม่เหล็กขึ้นโดยมี สุนทร มีสุวรรณ ประธานพัฒนาฟุตบอลเยาวชนรุ่นอายุ 12-14 ปี, “บิ๊กเปี๊ยก” ดร.องอาจ ก่อสินค้า ปธ.บ.ไทยพรีเมียร์ลีก เข้าร่วม โดยมีแพทย์จาก อาเซียน, เอเชียตะวันออก และประเทศไทย เข้าร่วมรับการอบรมทั้งหมด 22 ราย

ปัจจุบันสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกมการแข่งขันฟุตบอลแพร่หลายไปทั่วโลกแต่มี หลายครั้งที่ระหว่างการแข่งขันมีการสงสัยเรื่องของอายุของนักฟุตบอลว่าตรง ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่เพราะเหตุดังกล่าวจึงทำให้บางประเทศอาศัยช่องทางนี้ ส่งผู้เล่นที่มีอายุเกินลงทำการแข่งขัน เพื่อให้ได้เปรียบทางด้านสรีรวิทยาของร่างกาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรม ต่อการแข่งขันปัจจุบันจึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่าง เครื่อง เอ็มอาร์ไอ หรือ เครื่องมือที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เข้ามาช่วยตรวจสอบอายุของผู้แข่งขัน

ด้าน น.อ. (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ออกมากล่าวถึงการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า ทาง เอเอฟซี หรือ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีทั้งหญิงและชายเพื่อคัดเลือกทีมไปแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่น 17 ปีซึ่งในอดีตหลักฐานที่จำเป็นใช้ในการยืนยันอายุของนักฟุตบอลอาจใช้เพียง หนังสือเดินทางหรือ พาสปอร์ต ของแต่ละบุคคลเท่านั้น โดยดูจาก วัน เดือน ปี เกิด ต่อมามีการดูสูติบัตรเพิ่มขึ้น ขอใบรับรองจากโรงเรียนที่นักบอลคนนั้นกำลังศึกษา ซึ่งสิ่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักฐานที่มนุษย์ทำขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงและเบี่ยงเบน ข้อมูลออกไปจากข้อเท็จจริง รวมทั้งพบว่ามีหลายประเทศในทวีปเอเชีย และแอฟริกา การไปแจ้งเกิดหรือการมีใบสูติบัตรอย่างเป็นทางการยังไม่เป็นข้อบังคับตาม กฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม”

ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ยังกล่าวต่ออีกว่า ต่อ มามีการใช้ตรวจโดยการเอกซเรย์ธรรมดาที่กระดูกข้อมือ ซึ่งนักฟุตบอลจะต้องได้รับรังสีเอกซเรย์โดยไม่จำเป็นประกอบกับองค์การ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ออกกฎเพื่อคุ้มครองบุคคลปกติ เช่นนักฟุตบอล ซึ่งไม่ใช่คนไข้ว่าไม่ควรที่จะได้รับแสงเอกซเรย์เพราะไม่ใช่การรักษาโรค และปัจจุบันมีข้อยุติทางกฎหมายแล้วว่าไม่อนุญาตให้ใช้วิธีนี้ ในการตรวจจับการโกงอายุ นักกีฬาอีกต่อไป การศึกษาวิจัยพบว่า การปิดศูนย์ของการเจริญเติบโตของกระดูดข้อมือนี้จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยคนอายุ 18 ปี 4 เดือน ดังนั้นหากตรวจพบว่าศูนย์การเจริญเติบโตของกระดูดข้อมือปิดในนักฟุตบอลรุ่น อายุต่ำกว่า 17 ปี ก็คงสรุปได้ว่าผู้นั้นอายุเกิด 17 ปี แน่นอน ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทางฟีฟ่า ได้นำการใช้เครื่อง เอ็มอาร์ไอ เครื่องมือที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทนการใช้เอกซเรย์”

โดยทาง คณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของเอเอฟซี ร่วมกับสมาคมฟุตบบอลแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลกรุงเทพ จัดการฝึกอบรมการอ่านผลเอ็มอาร์ไอ กระดูกข้อมือให้แก้รังสีแพทย์จากกลุ่มประเทศอาเซียน และเอเชียตะวันออกจำนวน 16 ราย และรังสีแพทย์ของประเทศไทยจำนวน 6 ราย เพื่อเพิ่มพูดความรู้ทักษะในการอ่านผลเอ็มอาร์ไอ เพื่อประโยชน์ของแต่ละประเทศในการนำไปใช้ในการป้องกันหรือตรวจจับการโกงอายุ สำหรับนักฟุตบอลรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีต่อไป  สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้มีการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทย ก่อนหน้าหน้านี้จัดขึ้นที่ประเทศจอร์แดน และศรีลังกา

ที่มา : สยามกีฬา


สอบถามเพิ่มเติมที่
สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แชร์