ทำความรู้จักฮีโมโกลบินเอ วัน ซี

2 นาทีในการอ่าน
ทำความรู้จักฮีโมโกลบินเอ วัน ซี

แชร์

สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำว่า “ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม” หรือทางการแพทย์ใช้คำว่า ฮีโมโกลบินเอ วัน ซี กันพอสมควร แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ยินคำนี้ หรือเคยได้ยิน แต่ยังไม่เข้าใจวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฮีโมโกลบินเอ วัน ซี หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า เอ วัน ซี” A1C กัน


อะไรคือน้ำตาลเฉลี่ยสะสม

น้ำตาลเฉลี่ยสะสม เป็นค่าของน้ำตาลในเลือดที่จับกับโปรตีนในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สะสมมาตลอด 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา แปลว่าถ้าเราได้รับอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ก็จะมีน้ำตาลบางส่วนที่เหลือในเลือดไปจับกับเม็ดเลือดแดง โดยสะสมทุก ๆ วัน จนมีปริมาณฮีโมโกลบินเอ วัน ซีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


ทำไมเป็นเบาหวานต้องตรวจฮีโมโกลบินเอ วัน ซี

โดยส่วนใหญ่แล้วคนเป็นเบาหวานมักคุ้นเคยกับการอดอาหาร 6 – 8 ชั่วโมงเพื่อไปตรวจเลือดก่อนพบหมอตามนัด ซึ่งค่าน้ำตาลที่ได้จะบอกได้ว่า 1 – 2 วันที่ผ่านมา คุณทานอาหารที่มีน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายคนมักงดของโปรด ไม่ว่าจะเป็น ขนมหรือน้ำหวาน 2 – 3 วันก่อนเจาะเลือด เพราะหวังว่าผลน้ำตาลที่ได้จะเป็นที่พอใจตามเกณฑ์ที่หมอบอกไว้ (80 – 130 มิลลิกรัม / เดซิลิตร)

ดังนั้นการตรวจหาเอ วัน ซีจึงเป็นตัวช่วยในการประเมินความสามารถในการควบคุมเบาหวานในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ชัดเจนกว่า เพราะบอกถึงผลการควบคุมระดับน้ำตาลในช่วง 2  – 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่ 1 – 2 วันก่อนการตรวจ


ควรตรวจฮีโมโกลบินเอ วัน ซีบ่อยแค่ไหน

ผู้ที่เป็นเบาหวานควรตรวจน้ำตาลสะสมหรือเอ วัน ซี ทุก 2 – 3 เดือน ตามอายุของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูว่าช่วง 2 – 3 เดือนที่ไม่ได้มาพบแพทย์ คุณมีการควบคุมเบาหวานได้ดีแค่ไหน ซึ่งตัวเลขเป้าหมายที่บอกว่าการควบคุมเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คือ เอ วัน ซี น้อยกว่า 7% แต่ถ้าสามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจลดการตรวจลงเหลือแค่ปีละ 2 ครั้ง


สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเอ วัน ซีคือ คุณสามารถตรวจเอ วัน ซีเวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องอดอาหาร และถึงแม้ผู้ป่วยเบาหวานบางคนอยากให้ผลน้ำตาลดีเวลามาหาหมอ โดยการอดของหวานก่อนมาเจาะเลือด 2 – 3 วัน ก็ไม่ได้ทำให้ค่าเอ วัน ซีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าต้องการให้น้ำตาลในเลือดและเอ วัน ซีอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจะต้องดูแลตนเองและควบคุมเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาจากการควบคุมน้ำตาลไม่ได้


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ
ชั้น 2 อาคาร โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์ – ศุกร์ 7.00 - 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ 7.00 – 16.00 น.

แชร์