แพ้ขนสัตว์ต้องจัดการให้อยู่หมัด

2 นาทีในการอ่าน
แพ้ขนสัตว์ต้องจัดการให้อยู่หมัด

แชร์

สำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง การแพ้ขนสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะขนแมว ขนสุนัข ขนกระต่ายและขนหนู สัตว์เลี้ยงยอดนิยมพบได้บ่อยในคนที่เลี้ยง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ทั้งที่ความจริงแล้วภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากขนสัตว์ส่งผลกระทบกับร่างกายได้มากกว่าที่คิด ควรรีบรักษาก่อนร่างกายทรุดโทรมเกิดเป็นโรคที่รุนแรงมากขึ้น

ภูมิแพ้ขนสัตว์

ภูมิแพ้ขนสัตว์เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากโปรตีนสารก่อภูมิแพ้เมื่อมีการสัมผัสสัตว์เลี้ยงโดยสารก่อภูมิแพ้มักมาจากขนน้ำลายรังแคสะเก็ดผิวหนังรวมถึงมูลสัตว์เมื่อคนที่แพ้สารเหล่านี้สัมผัสทางอากาศหรือผิวหนังก็ทำให้เกิดอาการแพ้อาจเป็นๆหายๆสามารถพบได้ในสัตว์มีขนทุกชนิดหรือการเข้าใกล้คนเลี้ยงสัตว์ก็กระตุ้นอาการแพ้ได้ที่พบบ่อยที่สุดคือในแมวและสุนัข 

สารก่อภูมิแพ้ที่พบในแมวคือโปรตีน Fel d1 ในสุนัขคือโปรตีน Can f1, Can f2 มักลอยในอากาศนาน หายใจเข้าปอดง่าย สารก่อภูมิแพ้จากทั้งรังแคและน้ำลายจะเหนียวติดกับพื้น เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า แม้จะไม่สัมผัสสัตว์เลี้ยงโดยตรง แต่หากพื้นที่นั้นเคยมีแมวหรือสุนัขก็มีโอกาสที่จะมีสารก่อภูมิแพ้


อาการแพ้ขนสัตว์

  • จาม
  • คัดจมูก
  • ไอ
  • มีน้ำมูก
  • เสมหะในลำคอ
  • หอบ
  • แน่นหน้าอก
  • ผื่นคัน ตุ่ม กลาก
  • คันตา น้ำตาไหล ตาบวมช้ำ

แพ้ขนสัตว์ต้องจัดการให้อยู่หมัด

แพ้แค่ไหนต้องพบแพทย์

หากมีอาการแพ้นานเกิน 2 สัปดาห์ หรืออาการรุนแรงอย่างหายใจไม่ออก หายใจเสียงดัง นอนไม่หลับ มีผื่นขึ้นแล้วไม่หาย แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของภูมิแพ้โดยการสะกิดที่ผิวหนังหรือเจาะเลือด และทำการรักษาทันที


รักษาภูมิแพ้ขนสัตว์

  • การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด
  • ใช้ยารักษาตามชนิดของโรคที่เกิดจากภูมิแพ้สัตว์ ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น โรคเยื่อบุจมูกหรือตาอักเสบ หอบหืด ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นลมพิษบวม
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อชะล้างสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคืองที่ติดในโพรงจมูก
  • ฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ในกรณีที่หลีกเลี่ยงสัตว์ไม่ได้ และ/หรือ ใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

วิธีการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์

  • แบ่งพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงเป็นสัดส่วน หากอยู่ร่วมกันในบ้านควรกำหนดโซนให้ชัดเจน มีบ้านสัตว์หรือคอกกั้นจะยิ่งดี แนะนำให้อยู่คนละชั้นและไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน 
  • อาบน้ำสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของสารก่อภูมิแพ้ในขนสัตว์เลี้ยง โดยปกติไม่เกิน 1 สัปดาห์สารก่อภูมิแพ้จะผลิตขึ้นมาใหม่ 
  • ทำความสะอาดบ้านเสมอ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ พื้น เพราะสะเก็ดรังแคสัตว์และฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ควรจัดห้องให้โปร่งโล่ง เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท 
  • หลีกเลี่ยงการใช้พรมและเฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยผ้า หากหลีกเลี่ยงการปูพรมไม่ได้ควรดูดฝุ่นทุกวันและใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่นสำหรับหมอนและฟูก
  • เครื่องฟอกอากาศช่วยได้ จึงควรเลือกรุ่นที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA คุณภาพสูงเพื่อดักจับสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี
  • เปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือหลังจากที่มีการสัมผัสสัตว์ เพื่อลดการส่งต่อสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์เมื่อเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง


การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอาการแพ้สัตว์เลี้ยงไม่ควรละเลยหากสงสัยควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจและปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธีจะได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงแสนรักได้อย่างมีความสุข


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด
ชั้น 3 อาคาร A โรงพยาบาลกรุงเทพ
วันจันทร์-พฤหัส และอาทิตย์ เวลา 8.00-17.00 น.
วันศุกร์-เสาร์  เวลา 8.00-16.00 น.

แชร์