ลดเค็มลดเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง
2 นาทีในการอ่าน
แชร์
การกินเค็มส่งผลเสียต่อไต ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มความเสี่ยงโรคไตเรื้อรังและเร่งให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคไตเสื่อมเรื้อรังและลดเค็มตั้งแต่วันนี้ จึงไม่เพียงช่วยดูแลให้ไตแข็งแรง ยังช่วยให้ไตไม่เสื่อมก่อนวัยจนต้องเสียไตไป
รู้จักโรคไตเรื้อรัง
ไตเรื้อรังเป็นภาวะที่การทำงานของไตค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไตจะค่อย ๆ มีขนาดเล็กลง ค่าอัตราการกรองของไตผิดปกติมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หากไม่รีบรักษาอาจไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องรักษาโดยการทดแทนไตเท่านั้น
กลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพราะค่าการกรองไตลดลง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ที่มีไตข้างเดียวตั้งแต่กำเนิด
สังเกตอาการบอกไตเรื้อรัง
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- ปัสสาวะเป็นฟองและต้องราดน้ำมากกว่า 2 – 3 ครั้ง
- หน้าและหนังตาบวม ขาบวมกดแล้วบุ๋ม จากการคั่งของเกลือและน้ำและมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ซีด
- คันตามตัว
- เบื่ออาหาร
- ความดันเลือดสูง
ประเภทไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตามระดับอัตราการกรองของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) ซึ่งคือปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที (มล./นาที/1.73 ตร.ม.)
ระยะโรคไตเรื้อรัง |
อัตราการกรองไต |
การแปลผล |
ระยะที่ 1 |
> 90 |
มีภาวะไตผิดปกติ อัตราการกรองยังปกติ |
ระยะที่ 2 |
60 – 90 |
มีภาวะไตผิดปกติ อัตราการกรองยังปกติ |
ระยะที่ 3 |
30 – 59 |
อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก |
ระยะที่ 4 |
15 – 29 |
อัตราการกรองลดลงมาก |
ระยะที่ 5 |
< 15 |
ไตวายระยะสุดท้าย |
ตรวจวินิจฉัยไตเรื้อรัง
แพทย์จะพิจารณาจากการตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นหลัก โดยจะพิจารณาอัตราการกรองของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate, eGFR) และการบาดเจ็บของไต เช่น โปรตีนรั่วในปัสสาวะเกิน 3 เดือน ถุงน้ำที่ไต เป็นต้น
รักษาไตเรื้อรัง
หลักการรักษาโรคไตเรื้อรัง คือการประคับประคองและป้องกันการชะลอไตไม่ให้เสื่อมเพิ่มขึ้น โดยไตจะไม่สามารถกลับไปดีกว่าเดิมได้ แต่สามารถดูแลให้ไม่เสื่อมมากกว่าเดิมหรือถดถอยลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ลดเค็มชะลอไตเสื่อม
การลดเค็มเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง เพราะเกลือทำให้มีการสะสมของน้ำในร่างกายเยอะขึ้น ส่งผลให้เกิดการคั่งและบวม ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขจัดออก แรงดันในหน่วยไตสูงขึ้นจนพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ดังนั้นการลดเค็มจึงเป็นการช่วยไตไม่ให้ทำงานหนัก เมื่อร่างกายไม่บวม แรงดันในหน่วยไตปกติ ไม่เกิดโปรตีนรั่ว สามารถช่วยชะลอไตเสื่อมได้
เทคนิคลดโซเดียม
- ไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2 กรัมต่อวัน
- ระวังอาหารที่ไม่เค็ม แต่มีโซเดียม เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรส ผงชูรส อาหารหมักดอง ขนมปังที่ใส่ผงฟู ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น
- ทำอาหารเองได้ย่อมดีที่สุด เพราะควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารได้ โดยเฉพาะการเลือกเครื่องปรุงที่โซเดียมต่ำและใส่ให้น้อยลง
- เลี่ยงอาหารเสริมที่มีปริมาณโซเดียมสูง ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนรับประทาน
เพราะไตเสื่อมเรื้อรังอาจรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตการป้องกันความเสื่อมและดูแลไตให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจโดยเฉพาะการลดเค็มช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนักและในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงควรตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางเป็นประจำทุกปีหากพบความผิดปกติจะได้รีบรักษาโดยเร็วที่สุด
สอบถามเพิ่มเติมที่
แชร์