ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง

5 นาทีในการอ่าน
ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง

แชร์

หากมีอาการแสบตา สายตาล้าง่าย ไม่สบายตา มองภาพชัดบ้างไม่ชัดบ้าง อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังมีปัญหาเรื่องตาแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ทำให้ชั้นน้ำตาไม่คงตัว น้ำตาระเหยง่าย เกิดการระคายเคือง และมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่เปลือกตาได้ ดังนั้นการสังเกตความผิดปกติของดวงตาและรู้เท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

 

รู้จักต่อมไขมันที่เปลือกตา

ต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) คือ ต่อมไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณเปลือกตา โดยปกติบริเวณเปลือกตาบนและเปลือกตาล่างจะมีต่อมไขมันที่เปลือกตาอยู่จำนวน 30 – 40 ต่อม และ 20 – 30 ต่อมตามลำดับ โดยมีรูเปิดของต่อมบริเวณขอบตา มีหน้าที่ผลิตไขมันมาเคลือบที่ผิวดวงตา เป็นชั้นนอกสุดของน้ำตา น้ำตาคนเรามีอยู่ 3 ชั้น คือ ชั้นเมือก (Mucous Layer), ชั้นน้ำ (Aqueous Layer) และชั้นไขมัน (Lipid Layer) ซึ่งชั้นไขมันจะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำตาและรักษาสมดุล น้ำตาที่มีส่วนประกอบปกติ ทำให้ตาของเรามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่ระคายเคืองตา


ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง

ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน

โดยปกติไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อนค่อนข้างใส สามารถไหลออกจากต่อมโดยง่าย ถ้าต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ ไขมันที่สร้างออกมาจะมีลักษณะขุ่นและเหนียวข้น ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณท่อทางออกของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้ไขมันออกจากท่อได้ยากและลดลง ทำให้ชั้นของน้ำตาไม่คงตัว ขาดความเสถียร น้ำตาจะระเหยง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งและส่วนของไขมันที่เหนียวข้นขึ้นนั้นจะแข็งเป็นคราบเกาะแน่นอยู่บริเวณขอบเปลือกตา ทำให้เกิดการระคายเคืองตาและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อทั้งจากแบคทีเรียและการเพิ่มจำนวนไรที่ขนตา

ต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian Gland Dysfunction – MGD) คือ การอุดตันหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ต่อมไขมันที่เปลือกตา เรียกว่า โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ทำให้ไม่สามารถผลิตไขมันมาเคลือบผิวดวงตาได้ ชั้นน้ำตาจะระเหยเร็วกว่าปกติ จนเกิดอาการตาแห้ง นอกจากโรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันจะมีผลทำให้เกิดอาการตาแห้งแล้ว ยังพบว่ามีผลทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่เปลือกตาได้ด้วย เช่น โรคเปลือกตาอักเสบ ติดเชื้อเป็นตากุ้งยิง เป็นต้น 


ปัจจัยเสี่ยงต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันได้มากกว่า
  • การแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา โดยเฉพาะการเขียนอายไลเนอร์ที่ขอบตา ถ้าเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาได้ไม่สะอาดจะทำให้เพิ่มการอุดตันของต่อมไขมันเปลือกตาได้ 
  • การใช้คอนแทคเลนส์ ทำให้ตาแห้งมากขึ้น การกะพริบตาอาจไม่ปกติ
  • การใช้หน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นาน ๆ ทำให้การกะพริบตาน้อยลง ไขมันถูกบีบออกจากต่อมไขมันน้อยลง หลั่งออกมาเคลือบผิวตาน้อยลง
  • โรคทางตา เช่น เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคข้อ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยารักษาสิว ยาจิตเวช ฯลฯ

ตรวจวินิจฉัยบอกโรค

โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์เท่านั้น เนื่องจากอาการของโรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันจะมีอาการใกล้เคียงกันกับโรคตาแห้งจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ตาแดง เคืองตา แสบตา ตามัว 

วิธีง่าย ๆ ที่จักษุแพทย์ใช้ในการตรวจโรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน คือ การกดที่บริเวณเปลือกตาเพื่อดูว่าต่อมไขมันที่เปลือกตาสามารถผลิตไขมันได้ตามปกติหรือไม่ และเนื่องจากไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันที่เปลือกตาจะช่วยให้น้ำตาระเหยจากผิวดวงตาช้าลง ดังนั้นจักษุแพทย์อาจจะตรวจคุณภาพและปริมาณน้ำตาด้วยเพื่อใช้ในการวินิจฉัยร่วมกัน


ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง
รักษาตาแห้งจากต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

  1. ปรับพฤติกรรมการใช้งานในกรณีอาการไม่รุนแรง เช่น พักสายตาเป็นระยะ ๆ ตามคำแนะนำ ทุก 20 นาที พัก 20 วินาที โดยมองไกลพักสายตาที่ 20 ฟุต และเตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยขึ้น
  2. หยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา ช่วยให้รู้สึกสบายตายิ่งขึ้น
  3. ดูแลเปลือกตา (Lid Hygiene) เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก มีจุดประสงค์คือการทำให้ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland) มีลักษณะข้นน้อยลง ขับออกมาได้ดีขึ้น ไขมันจะเคลือบที่ผิวดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการระเหยของน้ำตาและลดอาการตาแห้ง มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
    • ประคบอุ่นบนเปลือกตา (Eyelid Warming) ช่วยให้ไขมันที่เหนียวข้นและอุดตันท่อทางออกของต่อมไขมันละลายตัว และขับออกมาจากต่อมได้ดีขึ้น วิธีการคือ ใช้อุปกรณ์ เช่น เจลประคบร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ผ้าห่อไข่ต้ม หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น Blephasteam ซึ่งจะให้ความร้อนคงที่และเหมาะสมตลอดการประคบอุ่น เป็นต้น โดยใช้ความร้อนที่เหมาะสมประมาณ 40 องศาเซลเซียส บริเวณเปลือกตาทั้งสองข้างเป็นเวลา 10 – 15 นาที หากเลือกใช้เจลร้อนหรือผ้าควรระวังไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป กรณีใช้ผ้าถ้าอุณหภูมิเริ่มตกลงต้องชุบน้ำอุ่นใหม่เพื่อให้ความร้อนเหมาะสมตลอดช่วงประคบ
    • การนวดเปลือกตา (Eyelid Massaging) เพื่อกดไขมันที่อุดตันอยู่ภายในต่อมให้ออกมา วิธีการคือ ใช้นิ้วมือดึงหางตาให้เปลือกตาตึงและใช้นิ้วของมืออีกข้างในการนวดเปลือกตา เมื่อจะนวดเปลือกตาบนให้มองลงล่างและใช้นิ้วนวดจากบนลงล่าง หากจะนวดเปลือกตาล่างให้มองขึ้นบนและใช้นิ้วนวดจากล่างขึ้นบน โดยออกแรงกดพอสมควรและเริ่มนวดจากหัวตาไปสู่หางตา เพื่อจะได้นวดต่อมไขมันที่เรียงอยู่บริเวณโคนขนตาได้ตลอดแนวยาวของเปลือกตา 
    • ทำความสะอาดขอบเปลือกตา (Eyelid Cleansing) โดยนำสำลีชนิดก้อนหรือแผ่นชุบด้วยน้ำสะอาดที่ผสมกับยาสระผมสำหรับเด็กอ่อน อัตราส่วน 1:10 หรือแพทย์อาจใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับทำความสะอาดเปลือกตา โดยเช็ดบริเวณขอบเปลือกตาและโคนขนตาให้สะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง หลังการประคบอุ่น

ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง

หากหยอดน้ำตาเทียมร่วมกับดูแลเปลือกตาด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาเพิ่มเติม ซึ่งจักษุแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. หยอดยาหรือป้ายยาปฏิชีวนะกลุ่ม Azythromycin เพื่อลดการอักเสบและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตา เพราะแบคทีเรียมักทำให้ต่อมไขมันที่เปลือกตามีการอักเสบมากขึ้น
  2. รับประทานยากลุ่ม Doxycycline เพื่อช่วยปรับคุณสมบัติของไขมัน ลดการอักเสบบริเวณต่อมไขมันที่เปลือกตาและจะช่วยลดจำนวนแบคทีเรียสะสมได้ด้วย
  3. รับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาทะเลน้ำลึกหรือเมล็ด Flaxseed ซึ่งมีรายงานว่าสามารถช่วยลดอาการตาแห้งจากสาเหตุนี้ได้เช่นกัน
  4. หยอดยากลุ่ม Cyclosporine และ/หรือสเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีที่กระจกตาและเปลือกตามีการอักเสบมากเท่านั้น โดยยากลุ่มสเตียรอยด์จะใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ และต้องระวังผลแทรกซ้อนของยา โดยเฉพาะอาจทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเป็นต้อหินได้ 

ความรุนแรงของโรค

หากต่อมไขมันเปลือกตาอุดตันแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้เหมาะสมและถูกวิธี ความผิดปกติจะรุนแรงมากขึ้นจนทำให้ตัวต่อมที่ผลิตน้ำมันเสียคุณสมบัติและฝ่อไปในที่สุดจนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้อีกต่อไป ส่งผลให้การรักษาภายหลังมีความยุ่งยากมากขึ้น กรณีที่รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการแสบเคืองตา เจ็บเปลือกตา รวมทั้งมีอาการตาแห้งรุนแรงและเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุตาและดวงตาได้ง่าย ถึงแม้ระยะแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ตาม


ปัจจุบันเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน จักษุแพทย์จะแนะนำให้ทำตามวิธีการที่ถูกต้องเพื่อรักษาอาการ ซึ่งสามารถทำเองที่บ้านได้ นอกจากนั้นอาจสั่งให้ประคบอุ่นและนวดต่อมไขมันเปลือกตา ซึ่งศูนย์จักษุ โรงพยาบาล กรุงเทพ พร้อมให้บริการประคบอุ่น นวด และทำความสะอาดเปลือกตาอย่างถูกวิธีเพื่อสุขภาพดวงตาที่แข็งแรง


 


สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ
เปิดให้บริการ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แชร์