การรักษาโรคต้อหิน
1 นาทีในการอ่าน

แชร์
การรักษาโรคต้อหินมีอยู่หลายวิธี
1. รักษาโดยใช้ยา
การรักษาโดยใช้ยาเป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด สะดวก มีประสิทธิภาพ แต่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาทุกวันไปตลอดชีวิต ปัจจุบันยาหยอดตามีหลายชนิด ต่างกันที่กลไกการออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และอาการข้างเคียง การใช้ยารักษาต้อหินชนิดกินหรือฉีดนั้นจะใช้ในระยะสั้นเพื่อเตรียมการผ่าตัด เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง
ยาที่ใช้รักษาต้อหินแบ่งเป็น 6 กลุ่มหลัก
-
ยากลุ่ม Beta – Adrenergic Blockers ยากลุ่มนี้โดยเฉพาะยา Timolol เป็นยาที่ใช้กันบ่อยและใช้กันมานานแล้ว โดยหยอดวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น แต่ควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดหรือโรคหัวใจบางชนิด
-
ยากลุ่ม Adrenergic Agonist ยากลุ่มนี้บางตัวมีฤทธิ์ปกป้องสายตาได้ด้วย (Neuroprotection) แต่ควรระวังในผู้ป่วยเด็กเล็ก อาจทำให้อ่อนเพลียและง่วงซึม บางรายอาจมีอาการแพ้ได้
-
ยากลุ่ม Carbonic Anhydrase Inhibitor ยากลุ่มนี้บางตัวสามารถเพิ่มเลือดไปเลี้ยงบริเวณขั้วประสาทตาได้ แต่บางรายอาจมีอาการแสบตา ยากลุ่มนี้สามารถลดความดันตาได้ดี แต่อาจทำให้ชาปลายมือ – เท้า เบื่ออาหาร น้ำหนักลดได้
-
ยากลุ่ม Cholinergic ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้มานาน เพิ่มการไหลออกของน้ำในช่องด้านหน้าลูกตา ทำให้ความดันลด
-
ยากลุ่ม Prostaglandin Derivatives ยากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มใหม่ มีประสิทธิภาพในการลดความดันตาได้ดี หยอดวันละครั้ง มีผลข้างเคียงทางร่างกายน้อยมาก แต่อาจมีอาการตาแดง ผิวหนังรอบดวงตาคล้ำขึ้น ขนตายาวและหนาขึ้น
-
ยากลุ่ม Fixed Combination ยาที่รวมเอายา 2 ชนิดไว้ในขวดเดียวกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการหยอดตา
2. รักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์
การใช้เลเซอร์มักใช้ร่วมกับการใช้ยา การทำเลเซอร์ในต้อหินนั้นทำได้ไม่ยาก ไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน ใช้เวลาทำประมาณ 10 – 15 นาที โดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล
3. รักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องระบายน้ำภายในลูกตา (Aqueous) จากช่องลูกตาส่วนหน้าออกมาสู่ภายนอก เพื่อลดความดันตา การผ่าตัดต้องทำในห้องผ่าตัด ใช้เพียงการฉีดยาชาหรือดมยาสลบสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กใช้วิธีผ่าตัด ในกรณีที่ได้รับการรักษาโดยใช้ยาและเลเซอร์อย่างเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่ปกติได้ หรือรักษาจนความดันตาอยู่ในระดับปกติแต่ยังไม่หายอาจมีการสูญเสียลานสายตาหรือเส้นใยประสาทตาอย่างต่อเนื่อง
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ
จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.
เสาร์ 08.00 - 17.00 น
อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.
แชร์